SDG Insights | ส่องเพื่อนบ้าน II : สิทธิอากาศสะอาดในอินโดนีเซีย

อ.ดร.ลดาวัลย์ ไข่คำ [1]

เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าบนดอย ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 1 เมษายน ค.ศ. 2021 สันนิษฐานว่ามีสาเหตุมาจากชาวบ้านเข้าไปจุดไฟในป่าไผ่ ไฟที่ลุกโหมดุจทะเลเพลิงส่งผลอย่างมากต่อคุณภาพอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ที่ย่ำแย่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 187 US AQI และวัดค่าความเข้มข้นของ PM2.5 ได้ 125 µg/m3 ที่อำเภอสะเมิง[2] แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมไฟป่าได้เมื่อวันที่ 1 เมษายน แต่รายงานจุดความร้อน (hotspot) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) พบกว่า 264 จุด[3] ค่า PM2.5 สูงที่สุดในวันที่ 3 เมษายนคือ 183 µg/m3 ส่งผลให้จังหวัดข้างเคียงอย่างเชียงรายมีค่า PM2.5 สูง 171 µg/m3 ในวันเดียวกัน[4]

ไฟไหม้ป่าในภาคเหนือเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้ ทว่าสาธารณรัฐอินโดนีเซียก็ต้องต่อสู้กับไฟป่าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี[5] ภูมิประเทศของอินโดนีเซียนั้นเป็นหมู่เกาะมากถึง 15,000 เกาะ ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม หลายภาษา การเมืองในประเทศมีความก้าวหน้าในการเปลี่ยนผ่านมาสู่ประชาธิปไตยอย่างสันติ หลังจากที่ตกอยู่ภายใต้ระบบอำนาจนิยม (Authoritarian regime) ของนายพลซูฮาร์โตมาเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 แต่กระนั้นอินโดนีเซียยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทุจริตฉ้อฉล ปัญหาการเมือง ชนกลุ่มน้อย และความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม[6]

แม้รัฐบาลอินโดนีเซียจะมี SDG Road Map เพื่อการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แต่ไม่มีการกล่าวถึงปัญหามลพิษทางอากาศเลย ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนประจำปี 2020 ที่พบว่าประเทศอินโดนีเซียได้คะแนน SDG Index เพียง 65.3 คะแนน (เป็นอันดับที่ 101 จาก 166 ประเทศ) ไม่ตอบสนองต่อเป้าหมาย 7.3 เรื่องการลดการปล่อยก๊าซ CO2 จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงสำหรับไฟฟ้าและเครื่องทำความร้อน และเป้าหมาย 11.1 เรื่องการลดค่าความเข้มข้นเฉลี่ยต่อปีของ PM2.5 µg/m3 ดังนั้น ปัญหาฝุ่นควันยังคงเป็นความท้าทายสำคัญของประเทศนี้[7]


มลพิษทางอากาศในอินโดนีเซีย

ในปี ค.ศ. 2020 ตันเกอรังใต้ (South Tangerang) จังหวัดบันเติน (Banten) เป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดของอินโดนีเซีย มีดัชนีคุณภาพอากาศเฉลี่ยอยู่ที่ 161 USAQI[8] ขณะที่หลายเมืองในอินโดนีเซียก็เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก่อมลพิษทางอากาศอย่างมหาศาล จากการศึกษาของ Lelieveld et al. (2015) พบว่าในปี ค.ศ. 2010 ประชาชนในกรุงจาการ์ตามากกว่า 10,400 รายเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะ PM2.5 และตัวเลขนี้อาจสูงถึง 16,400 รายในปี ค.ศ. 2025 นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 57.8 ของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษทางอากาศต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลรวมกันถึง 2,852,064,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ[9]

นโยบายการพัฒนาของรัฐบาล

สาเหตุสำคัญของปัญหามลพิษในอินโดนีเซีย คือนโยบายที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเหนือความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต (ค.ศ.1968 – 1998) มีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจขนานใหญ่ โดยเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าหลักในภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ขยายโอกาสทางการศึกษา พัฒนาสาธารณสุข สร้างเครือข่ายสาธารณูปโภคไปทั่วประเทศ เพิ่มการขยายตัวของเมือง ผลที่ตามมาทำให้จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น จำนวนยานยนต์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 7 ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงจากร้อยละ 68 เมื่อปี ค.ศ. 1985 มาเหลือร้อยละ 13 ในปี ค.ศ.1997[10] ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวแบบก้าวกระโดดเป็น 2.42 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1996 จาก 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1968 แต่รัฐบาลชุดนี้ก็มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น จากกรณีการยัดยักยอกเงินรัฐ จนในที่สุดมีการตรวจสอบทรัพย์สินของครอบครัวนายพลซูฮาร์โตที่มีมูลค่ากว่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณร้อยละ 1.3 ของ GDP อินโดนีเซีย[11]

ในปี ค.ศ. 1998 เศรษฐกิจของอินโดนีเซียตกต่ำอย่างหนักเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจปี ค.ศ. 1997 หรือวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” จนต้องขอเข้ารับการช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประชาชนและนักศึกษาต่างรู้สึกอึดอัดกับการปกครองที่เสมือนอยู่ใต้ระบอบเผด็จการจนทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาเลวร้ายลง[12] ประชาชนจึงออกมาเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและขับไล่ประธานาธิบดีซูฮาร์โตให้ลงจากตำแหน่ง จนนำไปสู่เหตุการณ์จลาจล มีการจับกุมประชาชนผู้เห็นต่างจำนวนมากและมีผู้เสียชีวิต จนกระทั่งวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1998 นายพลซูฮาร์โตได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี การเมืองในอินโดนีเซียจึงเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจากอำนาจนิยมมาสู่ประชาธิปไตย การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1999 ได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญแห่งยุคการปฏิรูป (Reformasi) มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ทำให้เกิดการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกในปี ค.ศ. 2004[13]

ผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคซูฮาร์โตเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหามลพิษทางอากาศ และ PM2.5 ในอินโดนีเซียอันเป็นผลมาจากการขยายตัวของเมือง โรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนมาก การขนส่ง การผลิตและการปล่อยก๊าซในครัวเรือน การก่อสร้าง ฝุ่นบนท้องถนน การเผาขยะในที่โล่ง และการสูบบุหรี่ กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการปล่อยฝุ่นละอองขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมากซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนกว่าหลายล้านคน ในปี ค.ศ. 2015 พบว่าโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงจาการ์ตาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่า 2 หมื่นล้านลิตร และมีความต้องการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นทุกปี ข้อมูลจาก CNN Indonesia สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานสถิติอินโดนีเซียที่พบว่าในปี ค.ศ. 2017 มลพิษทางอากาศในกรุงจาการ์ตามาจากการขนส่งและยานพาหนะที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และกรดซัลฟิวริก (Sulfuric) และกรดไนตริก (Nitric acids) ที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมและกิจกรรมของมนุษย์ มีส่วนทำให้คุณภาพอากาศในอินโดนีเซียแย่ลง[14]  

นอกจากนี้ กรุงจาการ์ตา เมืองบันดุง (Bandung) เมืองเดนปาซาร์ (Denpasar) เกาะสุมาตรา กาลิมันตัน และปาปัว ล้วนประสบปัญหาคุณภาพอากาศที่แย่ลงเพราะหมอกควันที่เกิดจากการเผา ไม่ว่าจะเป็น การแผ้วถางและเผาที่ดินเพื่อการเกษตร หมอกควันจากไฟป่า และการเผาขยะในครัวเรือนแบบเปิด[15] การเผาเหล่านี้เป็นที่นิยมของเกษตรกรเพราะเป็นวิธีที่ง่ายและมีต้นทุนต่ำ แต่ก็ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ในปี ค.ศ. 2019 ผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองต้องสูดอากาศที่ “ไม่ปลอดภัย” ตามมาตรฐานคุณภาพอากาศ (150+ USAQI) เป็นระยะยาวนานกว่าเมื่อปี ค.ศ. 2017 ถึง 3 เท่า กระนั้นรัฐบาลอินโดนีเซียก็พยายามแก้ไขปัญหาไฟป่าและไฟไหม้บนที่ดินมาโดยตลอดกว่า 18 ปี แต่ก็ยังไม่สำเร็จ[16]

วงแหวนแห่งไฟ

อินโดนีเซียยังมีปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ที่ก่อให้เกิดฝุ่นจำนวนมหาศาล เพราะประเทศนี้ตั้งอยู่ในเขตวงแหวนแห่งไฟในมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Ring of Fire) ทำให้เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดหลายครั้ง อินโดนีเซียจึงต้องรับมือกับภัยพิบัติและผลกระทบของเถ้าถ่านที่พ่นไปไกลจากภูเขาไฟระเบิด[17] ทำให้มีค่าความเข้มข้นของ PM2.5 สูงมากในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ขณะเดียวกันตัวแปรทางอุตุนิยมวิทยา ฤดูกาล และสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อค่า PM2.5 กรุงจาการ์ตาได้รับอิทธิพลจากมรสุม 2 ลูกคือมรสุมทางตะวันออกเฉียงใต้ (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน) และมรสุมทางตะวันตกเฉียงเหนือ (ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม) นำมาซึ่งฤดูแล้งและฤดูฝน ในฤดูแล้งค่า PM2.5 มักจะสูงกว่าในฤดูฝน แต่ในฤดูฝนจะเกิดปรากฏการณ์ฝนกรดในเมืองหลวง

ภาพที่ 1: วงแหวนแฟ่งไฟ อินโดนีเซีย
(ที่มา: SkyNews, 2018)[18]

ไฟป่าพรุในอินโดนีเซีย

ไฟไหม้ป่าและไฟป่าพรุ (forest and peatland fires) เป็นสาเหตุสำคัญของมลพิษทางอากาศ ไฟป่าในเปกันบารู (Pekanbaru) และปาลังกา รายา (Palangka Raya) ในปี ค.ศ. 2015 ส่งผลให้ค่า PM2.5 โดยเฉลี่ยต่อวันสูงเกินมาตรฐานระดับชาติที่ 65 µg/m³ มีกระทบทางเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 1.9 ของ GDP และกระทบนักเรียนกว่า 5 ล้านคนโดยตรงเพราะโรงเรียนปิด และในปี ค.ศ. 2019 ชาวอินโดนีเซียเกือบ 1 ล้านคนต้องทนทุกข์ทรมานจากปัญหาระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากควันไฟป่า[19] ดังนั้น ปัญหาไฟป่าทำให้สถานการณ์มลพิษทางอากาศในอินโดนีเซียเลวร้ายกว่าประเทศอื่น โดยครั้งที่รุนแรงที่สุดคือไฟป่าเมื่อปี ค.ศ. 1997 ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านเป็นวงกว้าง ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาลาม และภาคใต้ของประเทศไทย[20]

ภาพที่ 2: ไฟป่าในอินโดนีเซีย ปี 2015
(ที่มา: Nila Eslit, 2015)[21]

ในปี ค.ศ. 2020 ค่าความเข้มข้นเฉลี่ยต่อปีของ PM2.5 ในอินโดนีเซียสูงเกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกถึง 4 เท่า ซึ่งส่งผลเสียในด้านสุขภาพโดยตรงต่อประชาชนที่ต้องสูดดมมลพิษระดับนี้เป็นเวลานาน อินโดนีเซียจึงกลายเป็นประเทศอันดับที่ 9 ที่มีค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PM2.5 มากที่สุดในโลก และกรุงจาการ์ตาเป็นเมืองหลวงที่มีมลพิษมากที่สุดโลกอันดับที่ 77 ซึ่งถือว่าเป็นอันดับที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองหลวงอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[22]


รัฐบาลอินโดนีเซียกับมลพิษทางอากาศ

รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศใช้กฎหมายเพื่อควบคุมและลดมลพิษทางอากาศไว้หลายฉบับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 กฎหมายสำคัญสองฉบับคือ กฎหมายควบคุมมลพิษทางอากาศ ค.ศ. 1999 (Air Pollution Control Act of 1999) ที่ว่าด้วยการควบคุมมลพิษทางอากาศ ระบุมาตรฐานคุณภาพอากาศ มาตรฐานการปล่อยมลพิษทางอุตสาหกรรมและยานยนต์ และดัชนีมาตรฐานมลพิษ (Pollutant Standard Index: PSI) และกฎหมายสิ่งแวดล้อม ค.ศ. 2006 (Environment Act of 2006) ส่วนในทางปฏิบัตินั้น มีนโยบายพลังงานแห่งชาติที่ได้กำหนดเป้าหมายเกี่ยวกับพลังงานไว้ภายในปี ค.ศ. 2025 และแผนแม่บทการอนุรักษ์พลังงานแห่งชาติ (National Energy Conservation Master Plan) ซึ่งส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาด[23] นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (Joko Widodo) ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการกับปัญหาหมอกควันที่เกิดจากไฟป่าให้ได้ โดยประกาศ Peatland Conversion Moratorium ปีค.ศ. 2015 และจัดตั้งหน่วยงานฟื้นฟูป่าพรุ (Peatland Restoration) ขึ้นในปี ค.ศ. 2016 ในปีถัดมารัฐบาลได้กำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษสำหรับรถยนต์ประเภทใหม่ (ประเภท M, N และ O) และกำหนดมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศจากพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น การห้ามเผาในพื้นที่สาธารณะ และการเผาทางเกษตรกรรม[24]

แม้รัฐบาลอินโดนีเซียได้พยายามจัดการลดมลพิษทางอากาศให้ได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้น ยังมีข้อจำกัดในการตรวจสอบคุณภาพอากาศ รัฐบาลไม่มีกระบวนการตรวจสอบ การบังคับใช้ และการลงโทษผู้ก่อมลพิษ รัฐบาลพยายามพัฒนาระบบขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transport System: ITS) และระบบควบคุมการจราจร ใช้นโยบายการเสียชีวิตเป็นศูนย์ (zero fatality policy) ผลิตยานยนต์ต้นทุนต่ำและยานพาหนะสีเขียว (Green Vehicle) สนับสนุนโครงการต่างๆ เช่น โครงการขับเคลื่อนเพื่อสิ่งแวดล้อม โครงการ Blue-Sky วันปลอดรถยนต์ (Car-Free Days) และการปฏิรูประบบขนส่งมวลชน เช่น Transjakarta ซึ่งเป็นการขนส่งมวลชนในกรุงจาการ์ตา แต่กลายเป็นว่าประชาชนกลับมีข้อร้องเรียนมากมายเกี่ยวกับรถเมล์ที่เก่าเกิน 30 ปี ไม่สะดวก ไม่ปลอดภัย เพราะรัฐบาลยังไม่แก้กฎหมายภาษีการจัดซื้อรถเมล์ใหม่ที่สูงมากถึงร้อยละ 20[25] การลงทุนในโครงข่ายรถไฟและการใช้พลังงานสะอาดยังไม่เกิดขึ้นจริง รัฐบาลไม่มีแรงจูงใจให้เอกชนยอมลงทุนในการ “เปลี่ยน” ไปใช้เทคโนโลยีที่สะอาด และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่มีการติดฉลากแสดงมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานขั้นต่ำในเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้เอกชนขาดความกระตือรือร้นในการเปลี่ยนกระบวนการผลิต แม้รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามแก้ไขปัญหาไฟป่าและการเผาบนที่ราบมาอย่างยาวนาน แต่ยังเป็นที่สงสัยว่าจะแก้ปัญหาได้จริงๆ หรือไม่ เพราะความล้มเหลวกว่า 18 ปีที่ผ่านมาแสดงให้ประชาชนเห็นถึงความไม่โปร่งใสในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลมาโดยตลอด[26]

การทุจริตคืออุปสรรคใหญ่

ระบบการเมืองในอินโดนีเซียเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน ข้อมูลจากดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index) ประจำปี ค.ศ. 2019 ระบุว่าอินโดนีเซียได้คะแนน 40 จาก 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 85 จาก 180 ประเทศ[27] นักการเมืองมักหาเสียงด้วยการชูนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน แต่เมื่อเข้าสู่การเมืองแล้วก็ทำได้เพียงแค่ “พยายาม” ปราบปรามเท่านั้น เพราะนักการเมืองยังต้องการควบคุมอำนาจบริหารและแสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งทางการเมือง ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐได้รับเงินเดือนค่อนข้างต่ำซึ่งไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี[28]

แม้ว่าประชาชนจะมีสิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง แต่ในทางปฏิบัติประธานาธิบดีอินโดนีเซียจำต้องมองข้ามการคอร์รัปชันเพื่อหวังผลทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลในการผลักดันนโยบายของตน[29] ปัญหานี้จึงฝังตัวในการเมืองอินโดนีเซียทั้งในภาครัฐบาล ภาคเอกชน ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น[30] มีการถ่ายโอนเงินในหมู่ข้าราชการ ตุลาการ และตำรวจลดหลั่นลงไปตามลำดับชั้น และที่ผ่านมากฎหมายของอินโดนีเซียที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมไฟป่าไม่มีประสิทธิภาพ เพราะภาครัฐจะดำเนินคดีกับเอกชนในฐานะที่เป็นเจ้าของที่ดินที่เกิดไฟไหม้ ในขณะที่ภาครัฐในฐานะผู้รับผิดชอบต่อกรณีไฟป่าไม่เคยถูกดำเนินคดีใดๆ[31]

ประชาชนทราบดีว่าคณะกรรมการปราบปรามการทุจริต (Komisi Pemberantasan Korupsi: KPK) และศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของอินโดนีเซียไม่ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะมีการปิดเหมืองที่ทุจริต 721 แห่งในปี ค.ศ. 2017 แต่ก็ยังมีบริษัทกว่า 3,200 แห่งที่ยังคงเปิดทำการโดยไม่มีใบอนุญาต[32] การกระจายอำนาจรัฐที่ไร้การตรวจสอบ ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ช่องโหว่นี้ในการแสวงหาผลประโยชน์จากการรับค่าธรรมเนียมและออกใบอนุญาตที่ทับซ้อนกันได้


“สิทธิอากาศสะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน รวมทั้งมีสิทธิในการอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย สะอาด ถูกสุขอนามัยและยั่งยืน เป็นหน้าที่รัฐบาลในการปกป้องสิทธิเหล่านี้”

มลพิษเป็นปัญหาการเมือง

สิทธิอากาศสะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน รวมทั้งมีสิทธิในการอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย สะอาด ถูกสุขอนามัยและยั่งยืน เป็นหน้าที่รัฐบาลในการปกป้องสิทธิเหล่านี้ พร้อมทำความเข้าใจและสื่อสารถึงความเสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศให้แก่พลเมือง รัฐบาลจะต้องเตือนประชาชนและประชาชนก็มีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน ไม่สับสนหรือเข้าใจผิด[33] อินโดนีเซียเป็นหนึ่งประเทศที่ยอมรับบรรทัดฐานด้านสิทธิทางสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ เราจะพบว่ามีกฎหมาย 2 ฉบับที่รับรองสิทธิอากาศสะอาดในอินโดนีเซีย คือ รัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 1945 และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและจัดการสิ่งแวดล้อมปี ค.ศ. 1999 (Law on Environmental Protection and Managementof 1999)  

แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลอินโดนีเซียกลับเพิกเฉยในการปกป้องสิทธิ ล้มเหลวในการสื่อสารความเสี่ยง และละเลยที่จะเผยแพร่ข้อมูลให้แก่สาธารณชน ประชาชนจึงเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบสภาพอากาศมากขึ้น เช่น ติดตั้งเซ็นเซอร์ต้นทุนต่ำในชุมชนจำนวนมากขึ้นทั่วประเทศ และกระตุ้นให้รัฐบาลยกปัญหามลพิษทางอากาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2019 ภาคประชาชนรวมตัวกันในชื่อ “การเคลื่อนไหวริเริ่มแนวร่วมแห่งอากาศบริสุทธิ์” (Clean Air Coalition Initiative Movement) ยื่นฟ้องประธานาธิบดีโจโก วิโดโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา ชวาตะวันตกและบันเตนในข้อหาละเมิดสิทธิของประชาชน รัฐบาลทำให้ประชาชนต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สกปรก และสูดอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ[34]

Jakarta residents sue Indonesia government over air pollution
ภาพที่ 3: นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในจาการ์ต้า
(ที่มา: Arab News, 2018)[35]

ประชาชนอินโดนีเซียคาดหวังว่าจะชนะคดีนี้เหมือนที่ศาลฝรั่งเศสตัดสินให้รัฐบาลฝรั่งเศสแพ้คดีเพราะล้มเหลวในการควบคุมมลพิษทางอากาศในเมือง ข้อเรียกร้องสำคัญคือต้องการให้รัฐบาลอินโดนีเซียใช้นโยบายที่เข้มงวดมากขึ้น แก้ไขกฎหมายมลพิษทางอากาศที่เก่าเกินไป ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และไม่คำนึงถึงสถานการณ์คุณภาพอากาศที่แย่ลงทุกปี พวกเขายังเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพอากาศและเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ต่อสาธารณชนอย่างน้อยปีละครั้ง ซึ่งขณะนี้คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล[36]

กลายเป็นเรื่องระดับภูมิภาค

ในระดับภูมิภาค ปัญหามลพิษหมอกควันข้ามพรมแดนเกิดขึ้นโดยตลอด ไฟป่าครั้งใหญ่ห้าครั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1982 – 2001 รวมถึงไฟป่าในอินโดนีเซียเมื่อปี ค.ศ. 1997 จนเกิดเป็นความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution: AATHP) ขึ้นในปี ค.ศ. 2003 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ “เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังมลพิษหมอกควันข้ามแดนอันเป็นผลมาจากไฟไหม้ที่ดินและ/หรือไฟป่าซึ่งควรได้รับการบรรเทาโดยอาศัยความพยายามร่วมกันในระดับชาติและความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เข้มข้นขึ้น”[37] แต่ความร่วมมือนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เพราะการรักษาอธิปไตยของชาติ “วิถีอาเซียน” (ASEAN Way) และปัจจัยภายในรัฐยังเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือ ประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยได้ให้สัตยาบันความตกลงตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 แต่ปัญหาหมอกควันไม่ได้บรรเทาลง เพราะอินโดนีเซียยังไม่ได้ให้สัตยาบัน

อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก มีภาคส่วนการปลูกปาล์มน้ำมัน  (Oil palm sector) ขนาดใหญ่กว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่เกษตรกรรม มีมูลค่ากว่าร้อยละ 5 ของ GDP ของประเทศ ส่งผลให้เครือข่ายผู้ปลูกปาล์มน้ำมันกลายเป็นกลุ่มอุปถัมภ์ที่ใหญ่และมีอิทธิพลทางการเมืองเป็นอย่างมาก อินโดนีเซียจึงกลายเป็นประเทศสุดท้ายที่ให้สัตยาบันความตกลงนี้ในปี ค.ศ. 2015 แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนได้ เพราะยังขาดการประสานงาน การดับเพลิง และการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพ


สรุปอุปสรรคที่มากกว่าแค่ฝุ่น

ประเทศไทยได้เรียนรู้จากบทเรียนของประเทศอินโดนีเซีย ทั้งสองต่างต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อินโดนีเซียแม้จะมีกฎหมายสิ่งแวดล้อม ค.ศ. 2006 (Environment Act of 2006) การกำหนดนโยบายพลังงานแห่งชาติ และการให้สัตยาบันในความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน แต่รัฐบาลยังไม่ยกระดับมลพิษทางอากาศให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ ทำให้ไม่มีมาตรการในการจัดการกับ PM2.5 ที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการคอร์รัปชั่นที่ยังคงเป็นความท้าทายของรัฐบาลอินโดนีเซีย จนชาวอินโดนีเซียต้องรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิในอากาศสะอาดของตนเอง
 
มลพิษเป็นปัญหาการเมือง เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 2021 ศาลปกครองเชียงใหม่ตัดสินให้ชาวบ้านอำเภอหางดงชนะคดีที่ฟ้อง “เจ้าหน้าที่รัฐ[ที่]ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย” ในการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่ โดยศาลระบุว่าต้อง “กำหนดให้เขตท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม และขจัดมลพิษ”[38] คำตัดสินนี้ยืนยันว่าสิทธิอากาศสะอาด และสิทธิในการอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย สะอาด ถูกสุขอนามัยและยั่งยืนเป็นของพลเมืองทุกคน

มลพิษทางอากาศไม่อาจถูกพิจารณาในฐานะปัญหาภายในรัฐ (Domestic matters) ได้อีกต่อไป เพราะมันคือปัญหาข้ามแดนข้ามชาติ ต่อให้เราทำอากาศของ “บ้าน” เราให้บริสุทธิ์เพียงใด แต่หากเกิดไฟไหม้ใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน เราคงห้ามหมอกควันไม่ให้ลอยเข้ามาใน “บ้าน” ของเราได้ ดังนั้น การแก้ไขปัญหานี้จึงต้องพิจารณาแบบองค์รวม อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และต้องก้าวข้ามเส้นแบ่งเขตแดนของรัฐ-ชาติไปให้ได้

ติดตามอ่าน ซีรีส์ ส่องเพื่อนบ้าน โดย อ.ดร.ลดาวัลย์ ไข่คำ ย้อนหลัง


[1] อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

[2] กรุงเทพธุรกิจ, “‘ไฟป่า’ เกิดจากอะไร ทำไมถึงเกี่ยวข้องกับ ‘หมอกควัน’ และ ‘PM2.5,’” https://www.bangkokbiznews.com/, 2021, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/929944.

[3] Thairath Online, “เจ้าหน้าที่ทำงานหนัก ไฟไหม้ป่าบนดอยสะเมิง จ.เชียงใหม่ จนเป็นทะเลเพลิง (คลิป),” www.thairath.co.th, March 30, 2021, sec. north, https://www.thairath.co.th/news/local/north/2059891.

[4] AQICN, “Air Quality Historical Data Platform: Chiang Mai,” 2020, https://aqicn.org/data-platform/register/.

[5] WWF, “Fires, Forests and the Future: A Crisis Raging out of Control?” (Switzerland: WWF, August 27, 2020), https://wwf.panda.org/wwf_news/press_releases/?575591/2020-forest-fires-globally-could-be-worse-than-2019-WWF-warns.

[6] Freedom House, “Indonesia” (Freedom House, 2020), https://freedomhouse.org/country/indonesia/freedom-world/2020.

[7] SDGIndex, “Sustainable Development Report 2020” (Cambridge: Cambridge University Press, 2020), https://www.sustainabledevelopment.report.

[8] IQAir, “Indonesia Air Quality Index (AQI) and Air Pollution Information,” 2021, https://www.iqair.com/indonesia.

[9] Sheila Dewi Ayu Kusumaningtyas et al., “The Recent State of Ambient Air Quality in Jakarta,” Aerosol and Air Quality Research 18, no. 9 (2018): 2343–54, https://doi.org/10.4209/aaqr.2017.10.0391; J. Lelieveld et al., “The Contribution of Outdoor Air Pollution Sources to Premature Mortality on a Global Scale,” Nature 525, no. 7569 (September 2015): 367–71, https://doi.org/10.1038/nature15371.

[10] อรไท โสภารัตน์, “การศึกษาเปรียบเทียบการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย สมัยประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) (ค.ศ. 2004-2014) และรัฐบาลเมียนมา สมัยประธานาธิบดี เทียน เซ่ง (Thein Sein) (ค.ศ. 2011-1014),” วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร, April 21, 2017, 145–72, https://doi.org/10.14456/sujthai.2017.15.

[11] BBC News, “อินโดนีเซีย: 20 ปีหลังหมดจอมเผด็จการ ซูฮาร์โต,” BBC News, 2018, https://www.bbc.com/thai/international-44204864.

[12] ศิวัช ศรีโภคางกุล, “กระบวนการสร้างประชาธิปไตยผ่านการปฏิรูปกองทัพและการสร้างความปรองดองใน ประเทศอินโดนีเซีย,” วารสารการบริหารปกครอง 6, no. 1 (June 2, 2017): 61–84.

[13] ทรรศนะ นวลสมศรี, “ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในเมืองยอกยาการ์ตา: ข้อสังเกตต่อบางมิติของยุคสมัยแห่งการปฏิรูปในอินโดนีเซีย,” ารสารสงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 22, no. 1 (January 1, 2016), https://so05.tci-thaijo.org/index.php/psujssh/article/view/65152.

[14] Kusumaningtyas et al., “The Recent State of Ambient Air Quality in Jakarta”; Trinah Wati and Riri Nasution, “Analysis of Climatological Thermal Comfort in DKI Jakarta Using Heat Index (Humidex),” Widyariset4 (May 31, 2018), https://doi.org/10.14203/widyariset.4.1.2018.89-102.

[15] BBC News, “Indonesia Haze: Why Do Forests Keep Burning?,” BBC News, September 16, 2019, sec. Asia, https://www.bbc.com/news/world-asia-34265922; A. F. Lu’ayi and P. Lestari, “Agricultural Air Pollution in Indonesia: A Mini-Review,” IOP Conference Series: Materials Science and Engineering 1098, no. 5 (March 2021): 052065, https://doi.org/10.1088/1757-899X/1098/5/052065.

[16] Herry Purnomo et al., “Fire Economy and Actor Network of Forest and Land Fires in Indonesia,” Forest Policy and Economics 78 (May 1, 2017): 21–31, https://doi.org/10.1016/j.forpol.2017.01.001.

[17] ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ, ระบบการปกครองท้องถิ่นประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน: สาธารณรัฐอินโดนีเซีย(กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2013).

[18] Sky News, “Ring of Fire: Why Indonesia Has so Many Earthquakes,” Sky News, December 23, 2018, https://news.sky.com/story/ring-of-fire-why-indonesia-has-so-many-earthquakes-11514214.

[19] Muhayatun Santoso et al., “Assessment of Urban Air Quality in Indonesia,” Aerosol and Air Quality Research 20 (June 16, 2020), https://doi.org/10.4209/aaqr.2019.09.0451; WWF, “Fires, Forests and the Future: A Crisis Raging out of Control?”

[20] Alex J. Bellamy, “The Changing Face of Humanitarian Intervention,” St Antony’s International Review 11, no. 1 (2015): 15–43; ดามร คำไตรย์, “มลพิษหมอกควันข้ามแดนอาเซียนกับการแก้ไขปัญหาด้วยข้อบังคับระดับท้องถิ่นไทย,” วารสารนิติสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 11, no. 1 (June 20, 2018): 87–109.

[21] Nila Eslit, “Southeast Asian Haze Fires,” Wall Street International, December 25, 2015, https://wsimag.com/economy-and-politics/18767-southeast-asian-haze-fires.

[22] IQAir, “2019 World Air Quality Report,” 2020, https://www.iqair.com/blog/report-over-90-percent-of-global-population-breathes-dangerously-polluted-air.

[23] IEA, “National Master Plan for Energy Conservation – Policies,” IEA, 2020, https://www.iea.org/policies/156-national-master-plan-for-energy-conservation.

[24] EANET, “Policies and Practices Concerning Acid Deposition” (Ministry of Environment and Forestry, 2020), https://www.eanet.asia/wp-content/uploads/2020/04/3-Indonesia_Factsheet_compressed.pdf.

[25] EANET.

[26] Purnomo et al., “Fire Economy and Actor Network of Forest and Land Fires in Indonesia.”

[27] Transparency International, “Indonesia” (Transparency International, 2019), https://www.transparency.org/en/countries/indonesia.

[28] Paige Johnson Tan, “ภาวะปกติใหม่: ยี่สิบปีของระบอบประชาธิปไตยในอินโดนีเซียยุคหลังซูฮาร์โต” (Kyoto Review of Southeast Asia, 2018), https://kyotoreview.org/issue-24/new-normal-indonesian-democracy-after-suharto-thai/.

[29] Nithin Coca, “Indonesia’s Anti-Corruption Fight,” The Diplomat, February 8, 2016, https://thediplomat.com/2016/02/indonesias-anti-corruption-fight/.

[30] ศิริราวดี บุณยะเกียรติ and จิรวัฒน์ แสงทอง, “นักการเมืองและสถานการณ์ทางการเมืองอินโดนีเซียก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2014,” วารสารกึ่งวิชาการ 34, no. 1 (2013): 27–41.

[31] Sudarsono Soedomo and Idung Risdiyanto, “Questioning Law Enforcement against Forest Fire in Indonesia,” IOP Conference Series: Earth and Environmental Science 504, no. 1 (May 1, 2020): 012022, https://doi.org/10.1088/1755-1315/504/1/012022.

[32] Indonesia Investment, “Cleaning Up Indonesia’s Chaotic Mineral & Coal Mining Sector | Indonesia Investments,” Indonesia Investment, March 28, 2017, https://www.indonesia-investments.com/news/todays-headlines/cleaning-up-indonesia-s-chaotic-mineral-coal-mining-sector/item7706.

[33] Juhri Selamet, “Indonesia’s Environment Ministry Fails to Communicate Risk of Air Pollution to Jakartans,” The Conversation, July 20, 2019, http://theconversation.com/indonesias-environment-ministry-fails-to-communicate-risk-of-air-pollution-to-jakartans-120422.

[34] Vela Andapita, “Jakarta Activists to File Civil Lawsuit over Air Pollution,” The Jakarta Post, July 4, 2019, https://www.thejakartapost.com/news/2019/07/04/jakarta-activists-to-file-civil-lawsuit-over-air-pollution.html.

[35] Arab News, “Jakarta Residents Sue Indonesia Government over Air Pollution,” Arab News, July 4, 2019, https://www.arabnews.com/node/1520596/world.

[36] AQI, “Indonesia Air Quality Index (AQI) and Air Pollution Information,” 2020, https://www.iqair.com/indonesia.

[37] Helena Varkkey, “Regional Cooperation, Patronage, and the ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution,” International Environmental Agreements 14 (March 1, 2013), https://doi.org/10.1007/s10784-013-9217-2.

[38] สยามรัฐ, “ด่วน!คดีประวัติศาสตร์ ชาวบ้านเชียงใหม่ชนะคดีฟ้องรัฐละเลยแก้ฝุ่นพิษ,” สยามรัฐ, April 9, 2021, https://siamrath.co.th/n/234230.


เอกสารอ้างอิง

Andapita, Vela. “Jakarta Activists to File Civil Lawsuit over Air Pollution.” The Jakarta Post, July 4, 2019. https://www.thejakartapost.com/news/2019/07/04/jakarta-activists-to-file-civil-lawsuit-over-air-pollution.html.

AQI. “Indonesia Air Quality Index (AQI) and Air Pollution Information,” 2020. https://www.iqair.com/indonesia.

AQICN. “Air Quality Historical Data Platform: Chiang Mai,” 2020. https://aqicn.org/data-platform/register/.

Arab News. “Jakarta Residents Sue Indonesia Government over Air Pollution.” Arab News, July 4, 2019. https://www.arabnews.com/node/1520596/world.

BBC News. “Indonesia Haze: Why Do Forests Keep Burning?” BBC News, September 16, 2019, sec. Asia. https://www.bbc.com/news/world-asia-34265922.

———. “อินโดนีเซีย: 20 ปีหลังหมดจอมเผด็จการ ซูฮาร์โต.” BBC News, 2018. https://www.bbc.com/thai/international-44204864.

Bellamy, Alex J. “The Changing Face of Humanitarian Intervention.” St Antony’s International Review 11, no. 1 (2015): 15–43.

Coca, Nithin. “Indonesia’s Anti-Corruption Fight.” The Diplomat, February 8, 2016. https://thediplomat.com/2016/02/indonesias-anti-corruption-fight/.

EANET. “Policies and Practices Concerning Acid Deposition.” Ministry of Environment and Forestry, 2020. https://www.eanet.asia/wp-content/uploads/2020/04/3-Indonesia_Factsheet_compressed.pdf.

Eslit, Nila. “Southeast Asian Haze Fires.” Wall Street International, December 25, 2015. https://wsimag.com/economy-and-politics/18767-southeast-asian-haze-fires.

Freedom House. “Indonesia.” Freedom House, 2020. https://freedomhouse.org/country/indonesia/freedom-world/2020.

IEA. “National Master Plan for Energy Conservation – Policies.” IEA, 2020. https://www.iea.org/policies/156-national-master-plan-for-energy-conservation.

Indonesia Investment. “Cleaning Up Indonesia’s Chaotic Mineral & Coal Mining Sector | Indonesia Investments.” Indonesia Investment, March 28, 2017. https://www.indonesia-investments.com/news/todays-headlines/cleaning-up-indonesia-s-chaotic-mineral-coal-mining-sector/item7706.

IQAir. “2019 World Air Quality Report,” 2020. https://www.iqair.com/blog/report-over-90-percent-of-global-population-breathes-dangerously-polluted-air.

———. “Indonesia Air Quality Index (AQI) and Air Pollution Information,” 2021. https://www.iqair.com/indonesia.

Kusumaningtyas, Sheila Dewi Ayu, Edvin Aldrian, Trinah Wati, Dwi Atmoko, and Sunaryo Sunaryo. “The Recent State of Ambient Air Quality in Jakarta.” Aerosol and Air Quality Research 18, no. 9 (2018): 2343–54. https://doi.org/10.4209/aaqr.2017.10.0391.

Lelieveld, J., J. S. Evans, M. Fnais, D. Giannadaki, and A. Pozzer. “The Contribution of Outdoor Air Pollution Sources to Premature Mortality on a Global Scale.” Nature525, no. 7569 (September 2015): 367–71. https://doi.org/10.1038/nature15371.

Lu’ayi, A. F., and P. Lestari. “Agricultural Air Pollution in Indonesia: A Mini-Review.” IOP Conference Series: Materials Science and Engineering 1098, no. 5 (March 2021): 052065. https://doi.org/10.1088/1757-899X/1098/5/052065.

Purnomo, Herry, Bayuni Shantiko, Soaduon Sitorus, Harris Gunawan, Ramadhani Achdiawan, Hariadi Kartodihardjo, and Ade Ayu Dewayani. “Fire Economy and Actor Network of Forest and Land Fires in Indonesia.” Forest Policy and Economics78 (May 1, 2017): 21–31. https://doi.org/10.1016/j.forpol.2017.01.001.

Santoso, Muhayatun, Diah Dwiana Lestiani, Syukria Kurniawati, Endah Damastuti, Indah Kusmartini, Djoko Prakoso Dwi Atmodjo, Dyah Kumala Sari, et al. “Assessment of Urban Air Quality in Indonesia.” Aerosol and Air Quality Research20 (June 16, 2020). https://doi.org/10.4209/aaqr.2019.09.0451.

SDGIndex. “Sustainable Development Report 2020.” Cambridge: Cambridge University Press, 2020. https://www.sustainabledevelopment.report.

Selamet, Juhri. “Indonesia’s Environment Ministry Fails to Communicate Risk of Air Pollution to Jakartans.” The Conversation. July 20, 2019. http://theconversation.com/indonesias-environment-ministry-fails-to-communicate-risk-of-air-pollution-to-jakartans-120422.

Sky News. “Ring of Fire: Why Indonesia Has so Many Earthquakes.” Sky News. December 23, 2018. https://news.sky.com/story/ring-of-fire-why-indonesia-has-so-many-earthquakes-11514214.

Soedomo, Sudarsono, and Idung Risdiyanto. “Questioning Law Enforcement against Forest Fire in Indonesia.” IOP Conference Series: Earth and Environmental Science 504, no. 1 (May 1, 2020): 012022. https://doi.org/10.1088/1755-1315/504/1/012022.

Tan, Paige Johnson. “ภาวะปกติใหม่: ยี่สิบปีของระบอบประชาธิปไตยในอินโดนีเซียยุคหลังซูฮาร์โต.” Kyoto Review of Southeast Asia, 2018. https://kyotoreview.org/issue-24/new-normal-indonesian-democracy-after-suharto-thai/.

Thairath Online. “เจ้าหน้าที่ทำงานหนัก ไฟไหม้ป่าบนดอยสะเมิง จ.เชียงใหม่ จนเป็นทะเลเพลิง (คลิป).” www.thairath.co.th, March 30, 2021, sec. north. https://www.thairath.co.th/news/local/north/2059891.

Transparency International. “Indonesia.” Transparency International, 2019. https://www.transparency.org/en/countries/indonesia.

Varkkey, Helena. “Regional Cooperation, Patronage, and the ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution.” International Environmental Agreements 14 (March 1, 2013). https://doi.org/10.1007/s10784-013-9217-2.

Wati, Trinah, and Riri Nasution. “Analysis of Climatological Thermal Comfort in DKI Jakarta Using Heat Index (Humidex).” Widyariset 4 (May 31, 2018). https://doi.org/10.14203/widyariset.4.1.2018.89-102.

WWF. “Fires, Forests and the Future: A Crisis Raging out of Control?” Switzerland: WWF, August 27, 2020. https://wwf.panda.org/wwf_news/press_releases/?575591/2020-forest-fires-globally-could-be-worse-than-2019-WWF-warns.

กรุงเทพธุรกิจ. “‘ไฟป่า’ เกิดจากอะไร ทำไมถึงเกี่ยวข้องกับ ‘หมอกควัน’ และ ‘PM2.5.’” https://www.bangkokbiznews.com/, 2021. https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/929944.

ดามร คำไตรย์. “มลพิษหมอกควันข้ามแดนอาเซียนกับการแก้ไขปัญหาด้วยข้อบังคับระดับท้องถิ่นไทย.” วารสารนิติสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 11, no. 1 (June 20, 2018): 87–109.

ทรรศนะ นวลสมศรี. “ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในเมืองยอกยาการ์ตา: ข้อสังเกตต่อบางมิติของยุคสมัยแห่งการปฏิรูปในอินโดนีเซีย.” ารสารสงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 22, no. 1 (January 1, 2016). https://so05.tci-thaijo.org/index.php/psujssh/article/view/65152.

ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ. ระบบการปกครองท้องถิ่นประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน: สาธารณรัฐอินโดนีเซีย. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2013.

ศิริราวดี บุณยะเกียรติ and จิรวัฒน์ แสงทอง. “นักการเมืองและสถานการณ์ทางการเมืองอินโดนีเซียก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2014.” วารสารกึ่งวิชาการ 34, no. 1 (2013): 27–41.

ศิวัช ศรีโภคางกุล. “กระบวนการสร้างประชาธิปไตยผ่านการปฏิรูปกองทัพและการสร้างความปรองดองใน ประเทศอินโดนีเซีย.” วารสารการบริหารปกครอง 6, no. 1 (June 2, 2017): 61–84.

สยามรัฐ. “ด่วน!คดีประวัติศาสตร์ ชาวบ้านเชียงใหม่ชนะคดีฟ้องรัฐละเลยแก้ฝุ่นพิษ.” สยามรัฐ, April 9, 2021. https://siamrath.co.th/n/234230.

อรไท โสภารัตน์. “การศึกษาเปรียบเทียบการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย สมัยประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) (ค.ศ. 2004-2014) และรัฐบาลเมียนมา สมัยประธานาธิบดี เทียน เซ่ง (Thein Sein) (ค.ศ. 2011-1014).” วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร, April 21, 2017, 145–72. https://doi.org/10.14456/sujthai.2017.15.

Last Updated on พฤษภาคม 8, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น