สารเคมี PFAS ในโฟมที่ใช้ดับเพลิงก่อปัญหาปนเปื้อนในน้ำดื่มและน้ำบาดาลระยะยาว

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และหน่วยงานจัดการด้านเคมีของสหภาพยุโรป (European Chemicals Agency – ECHA) เผยข้อมูลว่าผลพวงของการใช้โฟมดับเพลิงซึ่งมีส่วนประกอบของสารเคมี PFAS* หรือ ‘สารเคมี (ที่คงอยู่ในสภาพแวดล้อม) ตลอดกาล’ นั้น ทำให้ปนเปื้อนน้ำดื่มและน้ำบาดาล ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนและความหลากหลายทางชีวภาพได้ในระยะยาว

ซึ่งตั้งแต่ช่วงตุลาคมปี 2563 เป็นต้นมา รัฐบางรัฐในสหรัฐฯ ได้เริ่มแบนการใช้สารเคมี PFAS ในโฟมดับเพลิง ส่วนสหภาพยุโรปเองกำลังอยู่ในช่วงพิจารณาเดินหน้าผลักดันการยกเลิกใช้สารเคมี PFAS ในโฟมดับเพลิงเช่นกัน และเพื่อให้มีข้อบังคับการใช้งานสารเคมี PFAS ต่อไป

การใช้สารเคมี PFAS เป็นประเด็นที่เริ่มมีการถกเถียงกันในที่สาธารณะและเป็นวาระทางการเมืองในเชิงความเป็นอยู่ของชุมชนกับการเผชิญสารปนเปื้อนจากอุตสาหกรรมในบริเวณใกล้เคียงที่มีการใช้สารเคมีดังกล่าว โดยมีบทความ “The man who became DuPont’s worst nightmare” เผยแพร่ในนิตยสาร New York Times เมื่อปี 2559

สำหรับหน่วยงานในสหรัฐฯ อย่างกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีกิจกรรมการฝึกซ้อมดับเพลิงด้วยโฟม หรืออุปกรณ์ที่อาจมีส่วนประกอบเป็นสารเคมี PFAS ในช่วงปี 2561 ก็ได้ดำเนินการตรวจสอบน้ำบาดาลและน้ำดื่มทั้งที่อยู่ในแหล่งจ่ายน้ำหรือระบบกรองน้ำ ในบริเวณฐานทัพภายในสหรัฐฯ อาทิ นิวยอร์ก วิสคอนซิน แคลิฟอร์เนีย เมนโอคลาโฮมา ฟลอริดา และฐานทัพสหรัฐฯ ในประเทศอื่นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมทั้งสิ้นกว่า 5,637 แห่ง พบว่ามีการปนเปื้อนในน้ำมากกว่าที่มาตรฐานกำหนด (แตกต่างกันไปตามแต่ละฐานทัพ)

ตัวอย่างจากกรณีของญี่ปุ่นนั้น ข้อมูลตั้งแต่ 2559 มีที่ระบุว่าการปนเปื้อนของสารเคมี PFAS ในแม่น้ำมาจากที่ใกล้กับฐานทัพสหรัฐฯ จึงได้มีการตรวจเลือดของผู้อยู่อาศัยจนพบว่ามีการปนเปื้อนสารเคมีดังกล่าวในเลือดมากกว่าคนญี่ปุ่นในที่อื่นถึง 4 เท่า

ภาพจาก : California bans PFAS firefighting foams

ทำให้ปัจจุบัน รัฐบางรัฐในสหรัฐฯ ได้หาทางเลือกอื่นเพื่อใช้ในการดับเพลิงและได้ยกเลิกการใช้โฟมดับเพลิงจากสารเคมี PFAS ส่วนการจัดการน้ำ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้สนับสนุนเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการลดผลกระทบ/ความเสี่ยงจากสารเคมี PFAS ในน้ำดื่ม และมีการใช้กระบวนการ CERCLA (Comprehensive Environmental Response, Compensation, and Liability Act) ใน 35 พื้นที่

ขณะที่ฝากยุโรป รายงานจากหน่วยงานจัดการด้านเคมีของสหภาพยุโรป (European Chemicals Agency – ECHA) เผยแพร่เมื่อมิถุนายน 2563 ระบุว่าการใช้สารเคมี PFAS ในโฟมดับเพลิงเป็นประเด็นข้อห่วงกังวลทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อาทิ ในสวีเดนและเนเธอร์แลนด์ โดยมีการปนเปื้อนในน้ำดื่มและน้ำบาดาลสูงกว่าที่มาตรฐานกำหนดเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่ได้มีมาตรการในการจัดการอย่างเพียงพอในตอนนี้

ซึ่งทางสหภาพยุโรปอยู่ในช่วงการประเมินและตรวจสอบความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกการใช้สารเคมี PFAS ในโฟมดับเพลิง โดยผู้ผลิตเคมีภัณฑ์จะต้องยื่นเอกสาร dossier submission ภายในเดือนตุลาคม 2564 เพื่อให้ทาง ECHA ได้พิจารณาอนุมัติความเหมาะสมและความปลอดภัยในการใช้งานต่อไป

*สารเคมี PFAS (per-and polyfluoroalkyl substances) หรือ ‘สารเคมีตลอดกาล’ (forever chemicals) เป็นกลุ่มสารเคมีขนาดใหญ่ที่ใช้แพร่หลายในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม มีความเสถียร ทำให้ค่อย ๆ สะสม-คงอยู่ในสภาพแวดล้อมเป็นเวลานานหลักร้อยปี

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี (3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อน และมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมากภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
https://www.ooskanews.com/story/2021/05/forever-chemicals-firefighting-foam-are-causing-forever-problem

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น