9 ข้อที่จะช่วยให้ท้องถนนในประเทศยากจนและที่มีรายได้ปานกลางปลอดภัยขึ้น

สภาพถนนที่ย่ำแย่ทำให้ในทุกปีมีประชากรโลกมากถึง 50 ล้านคนได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน และ 1.35 ล้านคนต้องเสียชีวิต เป็นจำนวนที่มากกว่าการเสียชีวิตจากโรคมาลาเรียและโรคเอดส์รวมกัน โดย 93% ของการเสียชีวิตนี้เกิดขึ้นในประเทศยากจนและที่มีรายได้ปานกลางที่ ‘เมือง’ กำลังขยายกว้างตามจำนวนประชากรที่เติบโต ทว่าการเสียชีวิตจากท้องถนนกลับทำให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ต้องสูญเสียเม็ดเงินไปถึง 3-5% ของ GDP

แม้ว่าข้อมูลสถิติที่ผ่านมามักพูดถึงข้อผิดพลาดจาก ‘ผู้ขับขี่’ เป็นหลัก เช่นการขับขี่เร็วเป็นปัจจัยสำคัญ 50% ของอุบัติเหตุทางถนน แต่ก็ยังมีปัจจัยด้าน ‘ระบบ’ และ ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ ที่ต้องพร้อมและปลอดภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุด้วย

ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติในด้านความปลอดภัยทางท้องถนนและประธานสหพันธยานยนต์นานาชาติ (Fédération Internationale de l’Automobile) ร่วมกับ ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติในยุโรป (UNECE) จึงได้แนะนำ ‘9 ข้อที่จะช่วยให้ท้องถนนในประเทศยากจนและที่มีรายได้ปานกลางปลอดภัยขึ้น’ ดังนี้

1. พัฒนาเรื่องการเคลื่อนที่ในเมือง (urban mobility) ที่ยั่งยืน –เมืองต้องเรียนรู้ความต้องการของผู้สัญจรในชุมชนท้องถิ่นและพลเมืองทุกคนครอบคลุมความหลากหลายทางเพศ  เพื่อนำมาออกแบบแผนการเคลื่อนที่ในเมืองและด้วยรูปแบบของการขนส่งได้ยั่งยืนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขนส่งสาธารณะ การขนส่งที่ใช้เครื่องยนต์และที่ไม่ใช่เครื่องยนต์ ให้สามารถใช้งาน ‘ร่วมกัน’ และ ‘เสริมกัน’ ได้บนท้องถนน โดยคำนึงถึงการมีตัวเลือก/ช่องทางของการเคลื่อนที่ที่หลากหลายและความปลอดภัย

2. พัฒนาให้มีการขี่จักรยานและการเดินมากขึ้น – ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้สามารถขี่จักรยานและเดินได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิผล และเป็นวิธีการเคลื่อนที่ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ปัจจุบันมีหลาย ๆ ประเทศที่เดินหน้าลงทุนตามแนวทางนี้ อาทิ แผนแม่บทภาคพื้นยุโรปเพื่อสนับสนุนการปั่นจักรยาน (Plan-European Master Plan for Cycling Promotion) ด้วยเหตุที่ว่าหากสนับสนุนให้มีการขี่จักรยานมากขึ้นหรือให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น (physical activity) ก็จะสามารถช่วยลดการตายก่อนวัยอันควรได้ 30,000 ชีวิต และมีผลทางอ้อมต่อสภาพเศรษฐกิจด้วย

3. ถนนที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องผู้เปราะบางโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง – มากกว่า 50% ของถนนที่มีอยู่นั้นขาดโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นที่อำนวยความสะดวกต่อคนเดินเท้า ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ และผู้ใช้รถ การปรับปรุงถนนที่อันตรายที่สุด 10% ในแต่ละประเทศในระยะ 20 ปี ให้มีทางเดินเท้า ตัวกันถนนเพื่อความปลอดภัย (safety barriers) เลนขี่จักรยาน และไหล่ถนนที่มีการราดพื้นผิว (paved shoulders) จะสามารถช่วยป้องกันการตายได้มากถึง 3.6 ล้านคนและป้องกันการบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางถนน 40 ล้านคนได้ ทั้งนี้ ต้องอยู่บนฐานคิดเรื่องประชาชนเป็นศูนย์กลางของการออกแบบ ให้ผู้ใช้ทุกคนสามารถใช้ถนนร่วมกันได้ด้วย (cohabitation)

4. เสริมขีดความสามารถเพื่อถนนที่ปลอดภัย – อบรมผู้บังคับใช้กฎหมายและให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่ประชาชนเคารพ พร้อมกับสร้างหลักประกันให้สภาพแวดล้อมรอบโรงเรียนมีความปลอดภัย ให้มีทางข้ามถนนที่ปลอดภัย – ลดความเร็ว – และติดตั้งกล้องเพื่อตรวจจับ มีการประเมินกระบวนการออกใบขับขี่สำหรับผู้ขับขี่ประเภทที่ชำนาญแล้วกับผู้ขับขี่มือใหม่

5. ให้มีอุปกรณ์ที่ปลอดภัยสำหรับคนที่เปราะบางมากที่สุด – หมวกนิรภัยสำหรับผู้ขับขี่จักรยานยนต์สามารถลดความเสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนต่อศีรษะอย่างรุนแรงจนเสียชีวิตได้ถึง 60% เบาะนั่งนิรภัยเด็กสามารถลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ 40% ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้ 35% และความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเล็กน้อยได้ 20%

6. พัฒนากระบวนการและการบริการหลังอุบัติเหตุ – เพื่อให้ประชาชนทราบว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วสามารถติดต่อบริการฉุกเฉินเพื่อรับการช่วยเหลือได้ที่ช่องทางใด และการให้บริการความช่วยเหลือฉุกเฉินนั้นจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วด้วย

7. ปรับปรุงข้อมูล – มีการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งรวมถึงข้อมูลเชิงลึกและข้อมูลสถิติ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการความปลอดภัยทางท้องถนนได้ดีขึ้น ให้มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อชี้และติดตามการจราจรที่ติดขัดและสาเหตุที่ทำให้ติดขัด เพื่อให้มีการปรับปรุง ติดตาม และบริหารจัดการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

8. สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้พื้นที่สาธารณะในเมือง – ให้ประชาชนตระหนักถึงการเคลื่อนที่ในเมืองที่ปลอดภัย และการใช้พื้นที่สาธารณะในเมืองเพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย

9. เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายที่ทำงานเรื่อง ‘เมือง’  – เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและข้อมูลเกี่ยวกับการมีท้องถนนที่ปลอดภัยกับผู้ที่ทำงานด้านเมือง

ทั้งนี้ ต้องเป็นการดำเนินการของประเทศที่สอดคล้องกับ UN conventions for road safety ด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
แคมเปญ #Love30 ถนนความเร็วต่ำที่ 30 กม./ชม. ในเขตชุมชน
แผนแม่บทภาคพื้นยุโรปเพื่อสนับสนุนการปั่นจักรยาน
ระบบขนส่งสาธารณะที่ยั่งยืนในเมืองหลวงของกานา ช่วยป้องกันการตายก่อนวัยอันควรได้มากถึง 5,500 คน

ปัจจุบัน มี (ร่าง) ‘Global Plan of Action on Road Safety’ แล้วโดยคาดว่าฉบับสมบูรณ์จะเสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม 2564 นี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามทศวรรษแห่งการลงมือทำเพื่อถนนที่ปลอดภัย ‘Decade of Action for Road Safety 2021 – 2030’ ที่ : https://www.who.int/teams/social-determinants-of-health/safety-and-mobility/decade-of-action-for-road-safety-2021-2030

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.6) ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2563
#SDG11 เมืองและที่อยู่อาศัย
– (11.2) จัดให้มีการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้สำหรับทุกคน พัฒนาความปลอดภัยทางถนนโดยขยายการขนส่งสาธารณะและคำนึงเป็นพิเศษถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้มีความบกพร่องทางร่างกายและผู้สูงอายุภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
https://www.weforum.org/agenda/2021/05/9-ways-cities-can-prevent-road-crash-deaths/

Last Updated on พฤษภาคม 24, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น