เพียงหนึ่งแผนรณรงค์ให้คนหันมา ‘ปั่นจักรยาน’ ยุโรปจะลดความเสี่ยงด้านสุขภาพและปล่อยก๊าซโลกร้อนให้น้อยลงได้

นโยบายด้านคมนาคมสามารถสนับสนุนการมีสุขภาพดีและรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้ และทำได้ด้วยการสนับสนุนให้คนในเมืองหันมา ‘ปั่นจักรยาน’ ควบคู่กับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและระบบสัญจรทางถนนให้เป็นมิตรและปลอดภัยต่อผู้ขี่จักรยาน โดยเฉพาะที่เอื้อให้ผู้คนเคลื่อนไหวร่างกายกันมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ พร้อมกับลดการใช้เชื้อเพลิง – ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากยานยนต์ ลดมลพิษทางเสียงจากท้องถนนที่การจราจรคับคั่ง และลดมลพิษทางอากาศ ที่ล้วนจะส่งเสริมกันช่วยสร้าง ‘ภูมิคุ้มกัน’ ให้กับผู้อยู่อาศัยและเมือง ขณะเดียวกับที่ปกป้องสิ่งแวดล้อม

เช่นที่โครงการคมนาคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของภาคพื้นยุโรป (Transport, Health and Environment Pan-European Programme – THE PEP) ร่วมกับส่วนงานด้านสิ่งแวดล้อมและการคมนาคมที่ยั่งยืนของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติในยุโรป (UNECE) และองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป จะร่วมจัดการประชุมระดับสูงครั้งที่ 5 ว่าด้วยการคมนาคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม (High-Level Meeting on Transport, Health, and Environment) ในวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2564 โดยมีหมุดหมายหลักเพื่อเดินหน้าผลักดัน ‘แผนแม่บทภาคพื้นยุโรปเพื่อสนับสนุนการปั่นจักรยาน’ (Plan-European Master Plan for Cycling Promotion) ส่งเสริมให้รัฐสมาชิกนำไปลงมืออย่างเป็นรูปธรรม เน้นย้ำการเตรียมพร้อมเชิงพื้นที่ ให้มีระบบ กลไก และ ‘การเคลื่อนที่ในเมือง’ (Urban Mobility) เพื่อสุขภาพที่ดี รักษ์โลก มีความปลอดภัย และยั่งยืนต่อจากนี้ไป

ซึ่งคาดว่าในเนื้อหาสำคัญจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนจากโรคระบาดและผลกระทบที่มีต่อภาคคมนาคม เพื่อนำไปสู่การออกแบบอนาคตของภาคพื้นยุโรปที่ดีกว่าเดิม โดยตามแผนแม่บทดังกล่าว รัฐสมาชิกสามารถเลือกการลงมือทำ อาทิ เริ่มจากการวางแผนเชิงพื้นที่ (spatial planning) ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ปรับปรุงความปลอดภัยทางท้องถนน สนับสนุนให้ประชาชนปั่นจักรยาน สร้างกลไกทางการเงินสนับสนุนการดำเนินการ หรือการจัดการความท้าทายที่มาพร้อมกับภาคคมนาคมในเมือง เช่น มลพิษทางอากาศโดยรอบ เสียงรบกวนจากการจราจร การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การที่ผู้อยู่อาศัยไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เป็นต้น ไปจนถึงประเด็นในเมืองอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้ที่ดินไปเพื่อการเติบโตของเมืองที่อาจทำให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความไม่เสมอภาคทางสังคมและเศรษฐกิจหรือการถูกเบียดขับไม่นับรวมเป็นส่วนหนึ่งของเมือง รวมถึงพฤติกรรมของผู้อาศัยเองที่ไม่สอดคล้องกับความยั่งยืน

นอกจากนี้ ในที่ประชุมจะมีการนำเสนอและหารือเกี่ยวกับความท้าทายและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องจากคู่มือของ UNECE ในชื่อ ‘คู่มือการเคลื่อนที่ในเมืองอย่างยั่งยืนและการวางแผนเชิงพื้นที่: รณรงค์ให้เคลื่อนที่กันมากขึ้น’ (A Handbook on Sustainable Urban Mobility and Spatial Planning: Promoting Active Mobility)

‘การเคลื่อนที่ในเมือง’ (Urban Mobility) – การเคลื่อนไหว-การเคลื่อนที่-การทำกิจกรรมต่าง ๆ ของคนในเมือง การเคลื่อนที่ของยานพาหนะหรือการคมนาคมจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งในเมือง ที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีทางเลือก

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 (3.6) ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 (3.9) ลดจำนวนการตายและป่วยจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดินให้ลดลงอย่างมากภายในปี 2573 (3.d) การลดและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศ
#SDG11 (11.2) การเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้สำหรับทุกคน พัฒนาความปลอดภัยทางถนน (11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคุณภาพอากาศภายในปี 2573
#SDG13 (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบายยุทธศาสตร์และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (17.16) หุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
http://sdg.iisd.org/commentary/guest-articles/moving-forward-to-clean-safe-healthy-and-inclusive-mobility-in-the-pan-european-region/

Last Updated on พฤษภาคม 5, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น