Director’s Note: 05 สิ่งที่ควรเข้าใจก่อนอ่าน Sustainable Development Report และSDG Index

สวัสดีวันจันทร์ครับ

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์อีกสัปดาห์หนึ่งที่น่าติดตามในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพราะเป็นสัปดาห์ที่จะมีการเปิดตัว Sustainable Development Report 2021 และ SDG Index 2021 ในวันนี้ (14 มิถุนายน) เวลา 19.00 น. เป็นต้นไปตามเวลาประเทศไทย คนที่สนใจต้องอดใจรอไว้ก่อน เพราะเป็นที่นัดหมายกันทั่วโลกว่าจะต้องรอให้เปิดตัวที่ New York แล้วเราจึงยิงเนื้อหาที่เตรียมกันไว้

1) Sustainable Development Report และ SDG Index คืออะไร

Sustainable Development Report และ SDG Index ไม่ใช่รายงานและดัชนีทางการขององค์การสหประชาชาติ แต่เป็นรายงานและดัชนีที่ผลิตโดย Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ซึ่งเป็นเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลกที่ทำงานใกล้ชิดกับองค์การสหประชาชาติ นำโดย Prof. Jeffrey Sachs จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เครือข่ายนี้ก่อตั้งและเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ปัจจุบันมีสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยเข้าร่วมมากกว่า 800 สถาบันทั่วโลกจากประเทศมากกว่า 35 ประเทศ 

SDG Index หรือดัชนี SDG เริ่มมีการจัดทำครั้งแรกในปี 2015 โดยใช้ข้อมูลของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 34 ประเทศ ก่อนจะขยายมาครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา SDG Index นี้ น่าจะเป็นดัชนี SDG หนึ่งเดียวที่กล้าประเมินสถานะของการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่าง ๆ และสถานะโดยรวมระดับโลก พร้อมทั้งสื่อสารในรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าใจ แม้จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดด้านข้อมูลทางสถิติของ SDGs ในปัจจุบันก็ตาม ตัวชี้วัด 80-90 ตัวที่ใช้ใน SDG Index จะมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เป็นตัวชี้วัดทางการที่อยู่ใน 247 ตัวชี้วัด อีกส่วนหนึ่งจะใช้ข้อมูลที่เทียบเคียงและอธิบายสถานการณ์ของ SDG target ได้จากฐานข้อมูลของ UN และ World Bank เสริมด้วยงานวิจัยที่มีการประเมินข้อมูลระดับโลกจากเครือข่าย SDSN เอง

ในมุมของประเทศไทย รัฐบาลมักอ้างถึง SDG Index เสมอ เนื่องจากผลของการจัดอันดับของประเทศไทยใน SDG Index นั้นอยู่ในอันดับดีเอามาก ๆ เป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายปีติดต่อกัน อยู่ในอันดับสูงกว่า มาเลเซียและสิงคโปร์เสียอีกในช่วงสองปีล่าสุด (SDG 2019 & 2020) ซึ่งคะแนนในหลายเป้าหมายและอันดับของประเทศไทยอาจจะขัดกับความรู้สึกทางสังคมและการเมืองในปัจจุบันไม่น้อย ต้องมาติดตามดูว่า ในปี 2021 นี้คะแนนและอันดับของไทยจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ดีที่เขียนมาทั้งหมดไม่ได้บอกว่าเราไม่ควรเชื่อคะแนนหรืออันดับใน SDG Index หรือว่าเราควรจะเชื่อสุดใจเลย ข้อมูลชุดหนึ่ง ๆ ที่ผ่านการกลั่นกรองจากหน่วยงานระดับโลกแล้วย่อมมีมาตรฐานในระดับที่น่าเชื่อถือ และมีประโยชน์ในการทำความเข้าใจสถานการณ์ของประเทศแน่นอน แต่ในขณะเดียวกันเราต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะและข้อจำกัดของดัชนีนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้เข้าใจที่มาที่ไปของคะแนนและลำดับของแต่ละประเทศอย่างรอบด้าน

2) ข้อสังเกต ประการเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ SDG Index 

ประการที่หนึ่ง เนื่องจาก SDG Index เป็นดัชนีระดับโลก ทำให้เกณฑ์ที่ใช้ในการวัดประเมินนั้นต้องเป็นเกณฑ์ที่ใช้ร่วมกันระดับโลกด้วย ดังนั้นจึงทำให้ตัวชี้วัดบางตัวหรือเกณฑ์ที่ใช้ในการเปรียบเทียบบางเกณฑ์มีมาตรฐานที่ต่ำกว่าในบริบทประเทศไทย เช่น เส้นความยากจนที่ใช้ในดัชนีนี้ใช้เส้นความยากจนสากลที่ 1.90 USD ต่อวัน ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับบริบทประเทศไทย เป็นต้น ในทางตรงข้ามก็อาจมีเกณฑ์อื่นในระดับโลกที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยเช่นกัน

ประการที่สอง – คะแนนของแต่ละประเทศมิได้พิจารณาเฉพาะสถานการณ์ในประเทศนั้นเท่านั้น แต่พิจารณา Spill Over Effect หรือผลกระทบที่ประเทศนั้นมีต่อประเทศอื่นด้วย เพราะบางประเทศอาจยั่งยืนภายในแต่ไปทำสิ่งที่ไม่ยั่งยืนในประเทศอื่นก็ได้ SDG Index จึงมีตัวชี้วัดที่สะท้อนSpill Over เหล่านี้ ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะเฉพาะของดัชนี SDG นี้เลยก็ว่าได้ นั่นจึงเหตุให้บางประเทศอาจไม่ได้มีอันดับที่สูงอย่างที่คิด 

ประการที่สาม คะแนนเหล่านี้เป็นคะแนนในภาพรวม ในขณะที่ SDGs เน้นหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สถานการณ์หลายอย่างของไทยที่เป็นประเด็นทางสังคมและการเมืองในปัจจุบัน หลายประเด็นไม่ใช่ประเด็นภาพรวมของประเทศ แต่เป็นประเด็นเฉพาะกลุ่มที่ด้อยโอกาส ถูกเลือกปฏิบัติ หรืออาจเป็นกลุ่มที่อยู่นอกระบบจึงไม่ปรากฏอยู่ในระบบของสถิติทางการ

ดังนั้นข้อด้อยประการสำคัญของ SDG Index คือไม่ได้สะท้อนประเด็นปัญหากับคนบางกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ถูกเลือกปฏิบัติ หรือได้รับผลกระทบไม่พึงประสงค์จากกระบวนการพัฒนาของรัฐ ซึ่งหมายความว่า ตัว Index นี้อาจยังไม่ได้สะท้อนประเด็นเรื่องการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือ Inclusive Development ได้ชัดเจนนัก การที่ดัชนีไม่ได้สะท้อนสถานการณ์เหล่านี้อาจเป็นเหตุให้สถานการณ์ความยั่งยืนของประเทศไทยดูดีกว่ามุมมองที่สังคมมีต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

ประการที่สี่ ข้อจำกัดเชิงสถิติและการคำนวณสถิติ กล่าวคือ ข้อมูลสถิติของแต่ละตัวชี้วัดมีรอบของการเก็บไม่เท่ากัน บางตัวเก็บถี่มาก บางตัว 5 ปีเก็บทีหนึ่ง ดังนั้น สิ่งที่ปรากฏใน SDG Index อาจไม่ใช่ตัวชี้วัดในปีที่ประกาศ แต่เป็นตัวชี้วัดปีล่าสุดเท่าที่มี นอกจากนี้ ไม่ใช่ว่า ประเทศเรามีตัวชี้วัดล่าสุดแล้วจะยื่นส่งให้เขาคำนวณได้ (อันนี้ถามเองแล้วด้วย) เขาต้องนำตัวชี้วัดนั้นไปผ่านกระบวนการทำให้เปรียบเทียบกันได้ในระดับโลกเสียก่อน จึงจะนำมาคิดดัชนี SDGs ได้ ดังนั้นสถานการณ์ที่ปรากฏใน Index อาจไม่ได้สะท้อนภาพปีปัจจุบันทั้งหมด ซึ่งนี่เป็นปัญหาของทุกดัชนีในโลก ข้อจำกัดข้างต้นยิ่งทำให้สถิติที่แสดงใน SDG Index อาจยังไม่สามารถสะท้อนภาพของผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ได้อย่างครอบคลุมและทันการณ์นักแม้ว่าสถิติบางตัวมีการเก็บในปี 2020 และทำให้เห็นผลกระทบของการระบาดแล้วก็ตาม

ประการที่ห้า SDG Index แต่ละปีอาจพอเปรียบเทียบกันได้แต่ไม่สมบูรณ์นัก ทั้งนี้เพราะชุดตัวชี้วัดที่ใช้ใน SDG Index มีการปรับปรุงทีละเล็กละน้อยทุก ๆ ปี โดยในแต่ละปีจะมีการเปลี่ยนตัวชี้วัด หรือเพิ่มตัวชี้วัดเข้ามา และในหลายตัวชี้วัดอาจเป็นตัวชี้วัดที่จำเพาะเจาะจงกลับบางกลุ่มประเทศ โดยเฉพาะประเทศกลุ่ม OECD ที่มีระบบข้อมูลที่ดีกว่า และอาจจะต้องการประเมินที่เข้มงวดกว่า ก็จะมีตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินในSDG Index มากกว่าประเทศทั่วไป

ทิ้งท้าย

เมื่อผ่าน 19.00 น. วันนี้ไป ทุกคนคงได้เห็นสถานะของประเทศไทยใน SDG Index 2021 แล้ว คำถามคือเราควรจะปฏิบัติต่อคะแนนและอันดับของประเทศไทยอย่างไร ? การที่ความพยายามบางประการปรากฏให้เห็นเป็นความก้าวหน้าอยู่บ้างเป็นเรื่องที่ควรยินดี อย่างไรก็ดี การยินดีจนเกินพอดีกับอันดับแต่ไม่ได้ย้อนกลับมาดูในรายละเอียดเลยว่าในรายละเอียดปัญหาอยู่ที่ใด อะไรคือปัญหาเชิงระบบที่เกี่ยวข้อง จะมีกลไกในการขับเคลื่อนต่อไปแบบครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างไร ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา 

แนวทางที่เป็นประโยชน์ที่สุดน่าจะอยู่ที่การนำ SDG Index มาเป็นจุดตั้งต้นของการสนทนาหารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจและนำไปสู่การขับเคลื่อนที่สู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

Last Updated on มิถุนายน 13, 2021

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น