SDG Vocab | 28 – Resilient Infrastructure – โครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) หมายถึง สิ่งปลูกสร้างและระบบพื้นฐานที่รองรับการขยายตัวของชุมชนที่มาพร้อมกับ

  • ระบบสาธารณูปโภค (ด้านน้ำประปา บำบัดน้ำเสีย ไฟฟ้า กำจัดขยะ)
  • ระบบขนส่ง (ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ระบบท่อ) และ
  • ระบบการสื่อสาร (เครือข่ายโทรศัพท์ สัญญาณอินเตอร์เน็ต) เป็นต้น

โดยโครงสร้างพื้นฐานเป็นการสนับสนุนสำคัญของ ‘การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี’ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้น ก็เป็นหนึ่งในการวางรากฐาน (ร่วมกับปัจจัยอื่น ทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรม) ในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม อันหมายรวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การสร้างงาน การลดความยากจน และกระตุ้น/สนับสนุนให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อ ‘การลงทุน’

กล่าวคือ โครงสร้างพื้นฐานจะต้อง ‘มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ยั่งยืน’ (quality, reliable, sustainable infrastructure) เช่นว่าน้ำต้องไหล ไฟต้องไม่ดับ อินเตอร์เน็ตต้องใช้งานได้ เพราะทุกอย่างล้วนเป็นองค์ประกอบของการทำอาหาร ผลิตสินค้า หรือขับเคลื่อนการดำเนินงาน กล่าวคือ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวันในทุกมิติ

อย่างไรก็ดี การที่จะครอบคลุมใจความตาม SDGS โครงสร้างพื้นฐานยังจะต้องมีอีกคุณสมบัติหนึ่ง คือ ‘ความทนทานและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง’ หรือ resilient infrastructure ที่หมายถึง โครงสร้างพื้นฐาน (พลังงาน/ไฟฟ้า, น้ำ/สุขาภิบาล, ขนส่งและคมนาคม, และโทรคมนาคม) ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้ใช้งานในห้วง ‘ระหว่าง’ และ ‘หลัง’ จากเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยรวมถึงความสามารถที่จะลดผลกระทบที่ตามมาจากอุบัติภัย/สาธารณะภัย เพื่อสุขภาวะที่ดีและการดำรงชีวิตของคนได้

ในแง่นี้ โครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงจึงมีมิติของการพร้อมรับและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate action) ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไปจนถึงภัยคุกคามต่อโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ อาทิ cyber attack (OECD, 2018)

ตามรายงานของ World Bank ‘Lifelines: The Resilient Infrastructure Opportunity ได้ให้คำแนะนำในการสร้าง resilient infrastructure เอาไว้ 5 ข้อ ดังนี้

World Bank : Lifelines: The Resilient Infrastructure Opportunity
  1. ทำเรื่อง ‘พื้นฐาน’ ของการบริหารจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีให้เรียบร้อยเสียก่อน สำรวจดูปัจจัยที่จำเป็นจะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น ได้แก่ กฎระเบียบ กฎการจัดซื้อจัดจ้าง ระบบการปฏิบัติการของโครงสร้างพื้นฐาน การซ่อมบำรุง การตอบสนองต่อเหตุ งบประมาณที่เหมาะสมสำหรับการวางแผน การสร้าง การซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐาน
  2. รัฐบาลก่อตั้งสถาบันที่เน้นเรื่อง ‘resilience’ ที่เจาะประเด็นและพิชิตความท้าทายด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองในมุมกว้าง รวมถึงการระบุชี้ตัวระบบและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งยวด (Critical Infrastructure – CI) โดยระบุว่าอะไรที่โครงสร้างพื้นฐานสามารถรับไหว และ ‘ระดับความเสี่ยง’ ใดที่อาจจะไม่สามารถรับไหว ทั้งนี้ จะต้องสร้างหลักประกันให้ทั้งครัวเรือนที่ร่ำรวยและยากจนสามารถเข้าถึงได้
  3. นำประเด็น ‘resilience’ ผนวกรวมเข้ากับนโยบายและแผน มาตรฐาน และกฎระเบียบ รวมถึงใช้กฎระเบียบและแรงจูงใจทางการเงินสนับสนุนผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานต้องเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ resilient และรับผิดชอบเมื่อเกิดการชะงักงัน/การขัดข้อง รวมถึงทำให้มั่นใจว่ากฎระเบียบเกี่ยวกับการวางโครงสร้างพื้นฐานจะสอดคล้องกับแผนการใช้ที่ดิน (ที่มีการประเมินความเสี่ยง)
  4. พัฒนาการกระบวนการตัดสินใจของภาคเอกชน โดยต้องให้สามารถเข้าถึงข้อมูล เครื่องมือ และทักษะที่ดีขึ้น ในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญในการสร้างความทนทานและพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง
  5. ใช้งบประมาณให้ถูกจุด คือ ประเมินดูงบประมาณว่าควรใช้มาก-น้อยไปกับอะไร อาทิ การประเมินความเสี่ยง การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่ระยะแรก การสนับสนุนหน่วยงานที่กำกับดูแล (regulators) และการบำรุง ซ่อมแซม หรือฟื้นฟูภายหลังจากเกิดภัยพิบัติไปแล้ว โดย World Bank ระบุว่าควรใส่ใจตั้งแต่ระยะแรกของการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและประเมินความเสี่ยง ไม่ใช่การใช้งบประมาณจำนวนมากไปฟื้นฟูหลังจากที่เหตุเกิดขึ้นแล้ว

นอกจากนี้ จะต้องเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม มีราคาซื้อหาได้หรือไม่แพง และเมื่อหลอมรวม 4 คุณสมบัติ quality, reliable, sustainable, resilient กับเงื่อนไขความครอบคลุมและเท่าเทียม ก็จะช่วยให้เรา ‘ปลอดภัยขึ้น มั่นคงขึ้น มั่งคั่งขึ้น และไม่มีใครถูกทิ้งใครไว้ข้างหลัง’

อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานยังทำให้เราเห็นความสามารถของประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาด้วย ตัวอย่างในกรณีของอินเตอร์เน็ต มีอาทิ ข้อมูลของ UN ระบุว่า ในปี 2562 มีประชาชนในประเทศพัฒนาแล้วมีอินเตอร์เน็ตใช้ 87% ขณะที่ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดหรือด้อยพัฒนา มีผู้ได้ใช้อินเตอร์เน็ตเพียง 19% เท่านั้น

ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง ปรากฏใน SDG เป้าหมายที่ 9 ‘พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม’ และ ‘#SDG9 – (9.1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ยั่งยืนและมีความทนทาน ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและที่ข้ามเขตแดน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยมุ่งเป้าที่การเข้าถึงได้ในราคาที่สามารถจ่ายได้และเท่าเทียมสำหรับทุกคน’

Goal 9: Build resilientinfrastructure, promote inclusive and sustainable industrialization and foster innovation)

Target 9.1: Develop quality, reliable, sustainable and resilient infrastructure, including regional and trans-border infrastructure, to support economic development and human well-being, with a focus on affordable and equitable access for all


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา :
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 9 (2560)
INDUSTRY, INNOVATION AND INFRASTRUCTURE: WHY IT MATTERS
World Bank Report Illustrates Benefits of Resilient Infrastructure
Resilient infrastructure could return $4.2 trillion – report

Last Updated on มกราคม 3, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น