ทักษะการเรียนรู้ สุขภาพจิต และพัฒนาการทางสังคม-ความรู้สึก: ต้นทุนที่เด็กสูญเสียไปจากการปิดโรงเรียนเพื่อรับมือกับโรคระบาด

ตั้งแต่ที่มีการระบาดของโรคขึ้น สังคมมองว่าการปิดโรงเรียนเป็นกลไกหนึ่งที่จะป้องกันการแพร่กระจายของโรค และเริ่มมีการปิดโรงเรียนมาอย่างยาวนานตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2563 หรืออย่างบางประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง หรืออเมริกาใต้ ได้ปิดโรงเรียนมายาวนานจนถึง 200 วันแล้ว ถึงกระนั้น บางประเทศอย่างสวีเดน ที่มองว่าหลักฐานใช้ยืนยันการแพร่ระบาดในโรงเรียนหรือความน่าจะเป็นที่เด็กจะเจ็บป่วยร้ายแรงนั้นไม่หนักแน่นพอ โรงเรียนในสวีเดนจึงยังคงเปิดทำการตามปกติจนถึงตอนนี้

Jaime Saavedra ผู้อำนวยการระดับโลกด้าน Education Global Practice ของธนาคารโลก ซึ่งเป็นผู้เขียนข้อสังเกตเรื่อง ‘ค่าความเสียหายที่มองไม่เห็น’ จากการปิดโรงเรียนอันเป็นมาตรการตอบสนองต่อโรคระบาด ใน World Bank Blogs ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่าโรงเรียนมีความเสี่ยงมากกว่าสภาพแวดล้อมอื่นที่มีความหนาแน่นของประชากรคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงานหรือสถานที่พักผ่อนก็ตาม นอกจากนี้ ก็ได้หยิบยกการสำรวจและการศึกษาที่สนับสนุนว่า เด็กเป็นพาหะนำไวรัสน้อยกว่าผู้ใหญ่ โรงเรียนไม่ใช่ทั้งสถานที่หลักของการแพร่เชื้อหรือเป็นพื้นที่เสี่ยงสำหรับเจ้าหน้าที่ ข้อมูลจาก European Centre for Disease Prevention and Control สรุปว่าความเสี่ยงที่ผู้ใหญ่จะติดเชื้อจากโรงเรียนไม่ได้มากไปกว่าจากที่บ้านหรือในชุมชนเลย อันที่จริงแล้วการปิดโรงเรียนควรเป็น ‘ทางเลือก’ สุดท้ายที่ควรจะทำ ส่วนตัวอย่างการศึกษาในเยอรมันและสหรัฐฯ ก็ได้เผยให้เห็นว่าการเปิดโรงเรียนอีกครั้งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดระลอกแรกและระลอกที่สองนั้น สามารถทำได้ โดยจะต้องมียุทธศาสตร์การลดความเสี่ยงลงที่เหมาะสม

แม้ว่าจะไม่สามารถประเมิน ‘ต้นทุน’ จากการปิดโรงเรียนเป็นมูลค่าทางการเงินได้ แต่การปิดโรงเรียนทั่วโลกก็ได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเด็กและคนวัยหนุ่มสาว จนอาจเปรียบเปรยได้ว่าเป็นการทิ้งระเบิดเพื่อทำลายทรัพยากรมนุษย์ก็คงไม่ผิดนัก และอาจทำให้เกิดวิกฤติการศึกษาอย่างร้ายแรงในรอบ 100 ปี

ต้นทุนที่มีเป็นในแง่ความเสียหายที่เด็กสูญเสียการเรียนรู้ สุขภาพจิต และพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ความรู้สึก โดยแม้ในบางประเทศจะจัดให้มีการเรียนการสอนทางไกล วิธีการเรียนเช่นนี้ก็ยังมากับปัญหาของความเข้มข้นและความเท่าเทียมในการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกับเวลาเรียนซึ่งหน้าตามปกติ ขณะที่แบบจำลองของธนาคารโลกก่อนสิ้นปี 2563 ได้ชี้ข้อมูลตัวชี้วัด ‘ความยากจนทางการเรียนรู้’ (Learning Poverty indicator) ว่า เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุ 10 ปีที่ไม่สามารถอ่านหรือเข้าใจเนื้อหาข้อความธรรมดา จะมีเพิ่มสูงขึ้นจาก 53% เป็น 63% ข้อมูลจากเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และสหราชอาณาจักร เผยว่าแม้จะมีการปิดโรงเรียนเป็นเพียงช่วงสั้น ๆ แต่ก็มีการสูญเสียการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญ การศึกษาในเมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล ชี้ว่า วิธีการเรียนทางไกลนั้นทำให้เด็กเรียนรู้เพียงแค่ 27.5% ของการเรียนในโรงเรียนเท่านั้น เป็นต้น

การเปิดโรงเรียนในทางหนึ่ง เป็นการสร้างโอกาสของความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในครอบครัวที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจสังคมหรือรายได้ที่แตกต่างกัน ในหลายกรณี โรงเรียนยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะทำให้เด็กได้เข้าสังคมและเรียนรู้อย่างมีความหมาย การปิดโรงเรียนไม่เพียงแต่เป็นการปิดพื้นที่เหล่านี้ แต่ยังฉายให้เห็นภาพการเข้าถึงการศึกษาอย่างไม่เท่าเทียมกันโดยมีอุปสรรคอย่างการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและหนังสือ

หากประชาคมโลกมองเห็นตรงกันว่าสุขภาวะที่ดีของเด็กและคนหนุ่มสาวเป็นความสำคัญอันดับต้น ก็ต้องใช้ความมุ่งมั่นทางการเมืองขับเคลื่อนให้เปิดโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย โดยอาจเริ่มจากที่เจ้าหน้าที่และครูต้องเป็นประชากรกลุ่มสำคัญที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างถ้วนหน้าก่อน และจะต้องมีแผนฟื้นฟู ‘ทักษะการเรียนรู้ที่สูญเสียไป’ เป็นแผนรองรับประกอบกันด้วย อาทิ การปรับปฏิทินและคอร์สการเรียนการสอนที่ตอบสนองต่อช่วงเวลาการเรียนรู้ที่ขาดหายไปจากการปิดโรงเรียน มีความยืดหยุ่นตามแต่ละระดับพื้นที่ในการเดินทางมาโรงเรียน ความยืดหยุ่นตามความต้องการของนักเรียน ปรับลดจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียน ไปจนถึงการสร้างหลักประกันว่าเด็กจะยังสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและหนังสือได้จากที่บ้าน และแผนการเปิดโรงเรียนอีกครั้งดังนี้จะต้องเร่งให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดด้วย

‘เพราะการสูญเสียการเรียนรู้ในวัยเด็กและวัยรุ่นเป็นเรื่องยากที่จะฟื้นฟูให้กลับมา และไม่มีใครที่จะอายุ 6 ขวบ 7 ขวบเป็นครั้งที่ 2’ – Jaime Saavedra

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพและเสมอภาค
-(4.1) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนจะสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
-(4.6) สร้างหลักประกันว่าเยาวชนทุกคนและผู้ใหญ่ ทั้งชายและหญิง สามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้ ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
The massive, yet invisible cost of keeping schools closed (World Bank)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น