‘Fairphone’ สมาร์ทโฟนที่แฟร์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม ถอด-เปลี่ยน-ซ่อมอะไหล่ได้ เพื่อยืดอายุการใช้งาน

บริษัทผู้ผลิตมือถือ ‘Fairphone‘ เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นที่สี่ Fairphone 4 มือถือสายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม มาพร้อมกับการรับประกันการอัปเดตซอฟต์แวร์นานถึง 5 ปี และเคลมว่าเป็น “สมาร์ทโฟนที่ยั่งยืนที่สุดในโลก” ขณะนี้

Fairphone เป็นมือถือสัญชาติเนเธอร์แลนด์นี้ ก่อตั้งโดย Tessa Wernink และ Bas Van Abel ตั้งแต่เมื่อปี 2013 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างสมาร์ตโฟนที่เป็นมิตรกับโลกและคน ลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมจากผลิต และถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานได้ยาวนานหลายปีเพราะสามารถซ่อมแซม อัปเกรด หรือเปลี่ยนชิ้นส่วนของมือถือได้ง่าย ทำให้ยืดอายุการใช้งานก่อนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นี้จะกลายเป็นขยะ จะเห็นได้จากที่ผ่านมาเกือบ 8 ปีเต็ม Fairphone ยังคงมีเพียงแค่สี่รุ่นเท่านั้น

Fairphone 4
ที่มา : Fairphone

“เป้าหมายของเราคือทำให้ฮาร์ดแวร์ของโทรศัพท์ของคุณใช้งานได้นานที่สุด และให้การสนับสนุนเพื่อให้ซอฟต์แวร์ทันสมัยอยู่เสมอ ยิ่งคุณใช้โทรศัพท์ที่มีได้นานเท่าไร ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น”

มือถือที่สามารถถอดประกอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้เองนี้เรียกว่า “Modular Phone” ผู้ใช้สามารถหาซื้อชิ้นส่วนเฉพาะจุดมาเปลี่ยนหากเกิดความเสียหาย หรืออัปเกรดได้เองโดยไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ทั้งเครื่อง ทาง Fairphone ได้วางขายชิ้นส่วนอะไหล่พร้อมกับมือถืออีก 8 ชิ้น ได้แก่ จอแสดงผล แบตเตอรี่ ฝาหลัง พอร์ต USB-C ลำโพง หูฟัง กล้องหลัง และกล้องหน้า ที่อาศัยเพียงไขควงแปดแฉกที่มีติดบ้านก็สามารถเปลี่ยนได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ Fairphone สองรุ่นก่อนหน้านี้ทำสถิติเป็นสมาร์ทโฟนสองรุ่นเท่านั้นได้รับคะแนนเต็ม 10 ด้านความง่ายในการซ่อม (repairability score) จาก iFixit เว็บไซต์แนะนำการซ่อมอุปกรณ์ไอที ในขณะที่ iPhone 12 และ 12 Pro ได้คะแนน 6/10 และ Samsung Galaxy S21 ได้ 4/10 คะแนน มีการคาดการณ์ว่าจะเป็นอีกครั้งที่ Fairphone 4 จะได้คะแนนเต็ม

นอกจากมิติความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้วัสดุรีไซเคิลทั้งหมดแล้ว Fairphone ยังคำนึงถึงมิติทางด้านสังคมในการจัดหาวัตถุดิบสำหรับการผลิต แร่ธาตุที่นำมาใช้เพื่อผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ภายในเครื่องต้องมีที่มาจากแหล่งที่มีมาตรฐานด้านความยั่งยืน เช่น เหมืองทองและโคบอลต์ที่ไม่มีการใช้แรงงานทาส แรงงานเด็ก หรือปราศจากความขัดแย้งในพื้นที่เป็นต้น รวมถึงแรงงานผู้ผลิตจะต้องได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมและมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีด้วย

การเปิดตัวของ Fairphone 4 นี้ ช่วยเสริมแรงขับเคลื่อนมูฟเมนต์ “สิทธิในการซ่อม” หรือ “Rights to Repair” ที่ผู้ใช้จะต้องสามารถซ่อมแซมสินค้าที่ซื้อมาได้โดยง่าย เพื่อลดการเกิดขยะ โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร บริษัทที่จำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องเป่าผมจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าสินค้าเหล่านั้นมีอะไหล่พร้อมให้ซ่อมแซมได้นานถึง 10 ปี แต่กฎหมายนี้ยังคงมีแรงต้านในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อย่างบริษัท Apple ที่โต้แย้งว่าการอนุญาตให้ผู้ใช้ถอดประกอบและซ่อมแซมอุปกรณ์ด้วยตนเองอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้เอง

Fairphone 4 พร้อมให้สั่งซื้อล่วงหน้าแล้วบนเว็บไซต์ และจะเริ่มวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 ตุลาคม 2021 ในราคาเริ่มต้นที่ €579 หรือประมาณ 23,000 บาท ซึ่งนับว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนรุ่นอื่น ๆ ที่วางตลาดในสเปกที่สูงกว่า แต่ก็เป็นราคาของความยั่งยืนที่รับประกันว่าเราจะสามารถใช้มือถือเครื่องนี้ไปได้นานเกินกว่าห้าปี โดยไม่ต้องเผชิญปัญหาซอฟต์แวร์ไม่รองรับหรือเสียหายเพียงเล็กน้อยแต่ซ่อมไม่ได้

สามารถอ่านรายละเอียดผลการดำเนินงานของ Fairphone ได้ใน Fairphone’s Impact 2020

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG12 แผนการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน
- (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563
- (12.5) ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
- (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
- (8.7) ดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยทันที เพื่อขจัดแรงงานที่ถูกบังคับ ยุติความเป็นทาสสมัยใหม่และการค้ามนุษย์ และยับยั้งและกำจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งรวมถึงการเกณฑ์และการใช้ทหารเด็ก และภายในปี 2568 ยุติการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบ
- (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย

ที่มา :
Fairphone’s latest sustainable smartphone comes with a five-year warranty (The Verge)
What is Fairphone, the planet-friendly smartphone? (Mint)
Fairphone Story
อ่านเพิ่มเติม : Fairphone ยืนหนึ่งเรื่องความยั่งยืนของสมาร์ทโฟน

Last Updated on พฤศจิกายน 8, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น