ประเทศไหนก้าวหน้าหรือเสื่อมถอยด้านอุตสาหกรรมตาม #SDG9 ดูสถิติได้ในรายงานจาก UNIDO

หลังจากที่นานาประเทศรับ SDGs มาปรับประยุกต์ใช้มาเป็นเวลา 6 ปีแล้ว องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization – UNIDO) ในฐานะหน่วยงานที่ติดตามความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมของ SDGs ได้ตั้งคำถามถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า เรากำลังอยู่บนเส้นทางที่จะพาไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน #SDG9 และที่เกี่ยวข้องภายในปี 2573 แล้วหรือไม่ โดยนำเสนอผ่านข้อมูลสถิติ ตัวชี้วัด รูปแบบการเปลี่ยนแปลงของแต่ละกลุ่มประเทศ และแนวโน้มด้านอุตสาหกรรมในอนาคต ในรายงานล่าสุดที่ชื่อ “Statistical Indicators of Inclusive and Sustainable Industrialization

โดย UNIDO มีหน้าที่ติดตามและจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายย่อยหรือเป้าประสงค์ (targets) ใน #SDG9 ได้แก่ (ดูรายละเอียดเป้าหมายย่อยและตัวชี้วัดภาษาไทย ที่นี่)

  • (9.2) – ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และภายในปี 2573 ให้เพิ่มส่วนแบ่งของอุตสาหกรรมในการจ้างงานและผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ โดยให้เป็นไปตามสภาวะแวดล้อมของประเทศ และให้เพิ่มส่วนแบ่งขึ้นเป็น 2 เท่าในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
  • (9.3) – เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินโดยรวมถึงเครดิตในราคาที่สามารถจ่ายได้ให้แก่อุตสาหกรรมและวิสาหกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา และให้เพิ่มการผนวกกลุ่มเหล่านี้เข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าและตลาด
  • (9.4) – ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิการการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
  • (9.b) – สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมภายในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการให้มีสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่นำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์

ในรายงานยังได้นำเสนอ “SDG9 Industry Index” ที่เป็นการประเมินผลการดำเนินงานตาม 4เป้าหมายย่อยและ 7 ตัวชี้วัดใน SDG9 (9.2.1a, 9.2.1b, 9.2.2, 9.3.1, 9.3.2, 9.4.1, 9.b.1) ของ 131 ประเทศระหว่างห้วงปี 2543 – 2561 เอาไว้ด้วย โดยในปี 2561 5 ประเทศแรกที่ทำผลงานด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดีเยี่ยมในทุกมิติของเกณฑ์ Index นี้ ได้แก่ ไต้หวัน ไอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และเยอรมัน ตามมาด้วยอีก 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ สาธารณรัฐเช็ก ญี่ปุ่น สโลวีเนีย และออสเตรีย

ส่วนประเทศที่อยู่รั้งท้ายสุดของการจัดอันดับตกเป็นของประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในแถบแอฟริกาซับซาฮารา แม้นว่าหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาจะมีพัฒนาการการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี แต่ทว่ามาจากการขยายการค้าขายสินค้าและการรับเงินลงทุนจากต่างชาติ ขณะที่ “การทำให้เป็นอุตสาหกรรม” จำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงจากฐานรากในเชิงโครงสร้าง

ทั้งนี้ ยังมีความแตกต่างกันอยู่ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในเอเชียและในแอฟริกา โดยประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในเอเชียสามารถที่จะเพิ่มส่วนแบ่งของอุตสาหกรรมในการจ้างงานและผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศได้เป็น 2 เท่า (9.2) ส่วนประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในแอฟริกายังคงซบเซา ถึงกระนั้น ผลข้อมูลของประเทศพัฒนาน้อยที่สุดตามที่สรุปดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อจำกัดในการเก็บข้อมูลด้วย

ภาพจาก UNIDO

และแม้ว่าประเทศอุตสาหกรรมจะเป็นแนวหน้าที่ถือส่วนแบ่งหลักในโลก แต่ได้ค่อย ๆ เสื่อมถอยลงในช่วงทศวรรษนี้ โดยมีข้อมูลที่ชี้ว่า จากเดิมในปี 2553 ที่ประเทศอุตสาหกรรมมีส่วนแบ่งคิดเป็น 60.3% ของการผลิตในโลก มาในปี 2563 ส่วนแบ่งนั้นลดลงมาที่ 50.5% โดยอาจเป็นเพราะผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค

นอกจากนี้ เพื่อที่จะให้นานาประเทศมีเครื่องมือตรวจสอบตนเอง และทราบว่าควรจะเร่งลงมือทำในจุดใด รายงานเล่มนี้ยังได้นำเสนอแนวทางการประเมินความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมของประเทศกับ 2 ข้อคำถามพื้นฐานสำคัญให้สำรวจตัวเอง ทิ้งท้ายว่า

  • ภาคอุตสาหกรรมมีพัฒนาการ/ความก้าวหน้ามากน้อยอย่างไร ตั้งแต่ปี 2543
  • ภาคอุตสาหกรรมมีความเป็นไปได้มากน้อยอย่างไร ที่จะสามารถบรรลุเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ภายในปี 2573

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม นวัตกรรมและเทคโนโลยี (9.2) (9.3) (9.4) (9.b)

แหล่งที่มา:
Are we on track to meet the SDG9 industry-related targets by 2030? (UNIDO)
statistical indicators of inclusive and sustainable industrialization (UNIDO)

Last Updated on ตุลาคม 27, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น