‘กระบวนการเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับ HIV’ สำหรับคู่รักที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เพื่อสร้างความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง

นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มใช้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี (HIV) แบบสูตรยาหลายขนานร่วมกัน (combined antiretroviral therapy หรือ cART) จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้นประมาณ 6,400 ราย โดยกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย (MSM) พนักงานขายบริการทางเพศ และผู้ใช้สารเสพติดแบบฉีดเข้าเส้น

คู่รักของผู้ป่วยเอชไอวีที่ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีด้วย หรือคู่รักที่มีผลเลือดเป็นลบ เรียกคู่รักกลุ่มนี้ว่า “คู่ที่มีผลเลือดต่าง (serodiscordant couple)” เป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากมีโอกาสสูงที่จะสัมผัสกับเชื้อเอชไอวี โดยกลวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในคู่ที่มีผลเลือดต่าง ได้แก่ การใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอ การรักษาคู่ที่ติดเชื้อตั้งแต่ระยะเริ่มแรกด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีแบบ cART เพื่อกดปริมาณไวรัสในกระแสเลือด (virologic suppression) และการใช้ยา tenofovir/emtricitabine (TDF/FTC) แบบรับประทานทุกวัน ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในผู้ที่มีผลเลือดลบ (pre-exposure prophylaxis หรือ PrEP) นอกจากนี้ การตรวจหาเชื้อเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอสำหรับผู้ที่ไม่ติดเชื้อ การวางแผนการมีบุตรเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก (vertical transmission) และการติดเชื้อผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ (horizontal transmission) การพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคเอชไอวีและการป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงการลดพฤติกรรมเสี่ยง เป็นสิ่งที่แนะนำสำหรับคู่รักฝ่ายที่มีผลเลือดเป็นลบ

แต่ทว่าการป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยข้อมูลความรู้ ทัศนคติ พฤติกรรมเสี่ยง และการปฏิบัติทางเพศที่ปลอดภัยระหว่างคู่รักที่มีผลเลือดต่าง อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยข้อมูลดังกล่าวนั้นมีอยู่อย่างจำกัด การให้ความรู้เกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีและการป้องกันการแพร่เชื้อแก่ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ถือปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในประเทศ แต่ยังไม่มีการศึกษาใดที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงประสิทธิผลของกระบวนการเสริมสร้างความรู้ (educational intervention) ในการพัฒนาองค์ความรู้ และนำความรู้ดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันระหว่างคู่ที่มีผลเลือดต่าง

จากปัญหาข้างต้น จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัย “Educational Interventions Improved Knowledge, Attitude, and Practice to Prevent HIV Infection among HIV-Negative Heterosexual Partners of HIV-Infected Persons” โดย รศ.นพ.ธนา ขอเจริญพร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชนิกา ศรีราช และ กรองทิพย์ จันทร์ลอย โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยวัตถุประสงค์หลักของการศึกษาในครั้งนี้ คือ เพื่อประเมินประสิทธิผลของกระบวนการเสริมสร้างความรู้ (educational intervention) ที่จัดให้แก่คู่รักของผู้ป่วยเอชไอวีที่ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีด้วย เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวี (HIV infection) และการป้องกันการติดเชื้อ (transmission prevention) ส่วนวัตถุประสงค์รอง คือ เพื่อประเมินผลของกระบวนการเสริมสร้างความรู้ต่อทัศนคติในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีระหว่างคู่รักฝ่ายที่มีผลเลือดเป็นลบ

ด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการติดเชื้อเอชไอวี การปรับเปลี่ยนทัศนคติ และการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเอชไอวีและคู่รักที่ไม่ได้ติดเชื้อมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น งานวิจัยนี้จึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ

รศ.นพ.ธนา ขอเจริญพร และคณะ ใช้รูปแบบการวิจัยกึ่งทดลอง (quasi-experimental study) โดยดำเนินการศึกษากับคู่รักเพศตรงข้าม (heterosexual partner) ที่ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวี อายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งมีคู่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่เข้ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ระยะเวลาในการศึกษา 1 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ถึง เดือนกันยายน 2560

ก่อนเริ่มกระบวนการเสริมสร้างความรู้ ผู้เข้าร่วมการวิจัยในครั้งนี้จำเป็นต้องตอบแบบสอบถามเพื่อประเมินความรู้พื้นฐานและทัศนคติ ดังต่อไปนี้

  • ความรู้เกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีและการป้องกันการติดเชื้อ ประกอบด้วยข้อความจำนวน 30 ข้อ ให้ผู้เข้าร่วมวิจัยระบุว่าข้อความดังกล่าว “จริง” “ไม่จริง” หรือ “ไม่ทราบ”
  • ทัศนคติต่อการป้องกันเชื้อเอชไอวี ได้แก่ วิธีการคิดหรือความรู้สึกที่มีต่อการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากคู่รักของผู้เข้าร่วมวิจัย
  • สถานะคู่ครอง ประเมินจากความใกล้ชิดสนิทสนมและความสัมพันธ์ทางเพศ รวมถึงปัญหาที่พบในการใช้ชีวิตคู่
  • การปฏิบัติตนในการป้องกันโรค เป็นการประเมินการกระทำ วิธีการ หรือกลวิธีที่ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีระหว่างคู่รัก

หลังจากตอบแบบสอบถามเรียบร้อยแล้ว ผู้เข้าร่วมวิจัยจะเข้าสู่กระบวนการเสริมสร้างความรู้ (educational intervention) ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวน 53 คน โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • การให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวี ช่องทางการแพร่เชื้อ พฤติกรรมเสี่ยง การป้องกันการติดเชื้อ และการวางแผนการมีบุตร (fertility management) โดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคติดเชื้อ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมวิจัยสามารถซักถามข้อสงสัยเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
  • การสอนการใช้ถุงยางอนามัย โดยใช้หุ่นจำลองอวัยวะเพศชายและตัวอย่างถุงยางอนามัยชนิดต่าง ๆ ซึ่งผู้เข้าร่วมวิจัยจะได้รับความรู้เกี่ยวกับประสิทธิภาพของถุงยางอนามัยในการป้องกันเชื้อเอชไอวี ประเภทของถุงยางอนามัยที่มีจำหน่ายตามท้องตลาด วิธีการใช้และการเก็บรักษาถุงยางอนามัยอย่างเหมาะสม รวมถึงการฝึกปฏิบัติการใส่ถุงยางอนามัยกับหุ่นจำลอง และการให้ข้อมูลสะท้อนผล (feedback) จากการฝึกปฏิบัติดังกล่าว
  • การสนทนากลุ่ม (focus group discussion) สำหรับผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 5-6 คน และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ 1 คน โดยหัวข้อในการสนทนาประกอบด้วย ช่องทางการแพร่เชื้อเอชไอวี พฤติกรรมเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวี การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และการวางแผนการมีบุตร (ถ้ามี) มีการใช้คำถามปลายเปิด และส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมวิจัยทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในประเทศไทยจะมีโปรแกรมให้ความรู้เกี่ยวกับเอชไอวีมากมาย แต่สิ่งที่ทำให้กระบวนการเสริมสร้างความรู้ของการศึกษาในครั้งนี้ แตกต่างจากโปรแกรมอื่น ๆ คือ

  1. กระบวนการเสริมสร้างความรู้นี้มุ่งเน้นและลงรายละเอียดมากกว่าในเรื่องการป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีระหว่างคู่ที่มีผลเลือดต่าง
  2. มีการสร้างปฏิสัมพันธ์แบบตอบโต้ในเวลาเดียวกัน (real-time interaction) ระหว่างผู้เข้าร่วมวิจัยและทีมสหวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ
  3. กระบวนการเสริมสร้างความรู้ ประกอบด้วย การบรรยายเชิงปฏิสัมพันธ์ (interactive lecture) การได้รับประสบการณ์จริงจากการฝึกใช้ถุงยางอนามัย และการสนทนากลุ่ม ทั้งหมดรวมไว้ในกระบวนการเสริมสร้างความรู้เดียว

หลังจากจบกระบวนการเสริมสร้างความรู้ดังกล่าว ผู้ร่วมการวิจัยจะต้องตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความรู้เอชไอวีและทัศนคติต่อการป้องกันอีกครั้ง และมีบริการตรวจหาเชื้อเอชไอวีฟรีสำหรับผู้เข้าร่วมวิจัยที่สนใจ ในขั้นตอนสุดท้าย ผู้ร่วมวิจัยจะได้รับการเชิญชวนเพื่อเข้าร่วมกระบวนการเสริมสร้างความรู้นี้อีกครั้งในปีหน้า โดยกระบวนการเสริมสร้างความรู้ครั้งที่ 2 นี้ดำเนินการเหมือนกับครั้งแรกทุกประการ ตั้งแต่การตอบแบบสอบถาม กิจกรรมเสริมสร้างความรู้ และการตรวจหาเชื้อเอชไอวีฟรี ผู้ร่วมวิจัยจากครั้งแรกที่เข้าร่วมกระบวนการเสริมสร้างความรู้ครั้งที่ 2 มีจำนวน 35 คน

ผลการศึกษาของ รศ.นพ.ธนา ขอเจริญพร และคณะ พบว่า กระบวนการเสริมสร้างความรู้สัมพันธ์กับการพัฒนาระดับความรู้เกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีและการป้องกันการติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้เข้าร่วมวิจัยมีความรู้เกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีและการป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงมีทัศนคติทางบวกมากขึ้นต่อการรักษาคู่รักที่ติดเชื้อเอชไอวี การใช้ยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในผู้ที่มีผลเลือดลบ (PrEP) การใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอ การมีบุตรกับคู่รักที่ติดเชื้ออย่างปลอดภัยด้วยมาตรการป้องกันที่เหมาะสม และการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีเป็นประจำทุก 6 เดือน

ทว่าประเด็นที่ผู้เข้าร่วมวิจัยส่วนใหญ่ขาดความรู้ ได้แก่

  • การร่วมเพศทางปาก (oral sex) เป็นหนึ่งในช่องทางการติดเชื้อเอชไอวี
  • การเข้าถึงวัคซีนเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพ
  • กลวิธีในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในคู่สามีภรรยาที่มีผลเลือดต่างที่ต้องการมีบุตร

โดยความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่ซับซ้อนมาก เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว (in vitro fertilization) เป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับคู่รักที่ต้องการมีบุตร พบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยมีความเข้าใจและตระหนักรู้มากขึ้นหลังจากเข้าร่วมกระบวนการเสริมสร้างความรู้ครั้งที่ 2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กระบวนการเสริมสร้างความรู้ในอนาคตควรมุ่งเน้นและอภิปรายในรายละเอียดอย่างชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ และอาจจำเป็นต้องมีการทำกระบวนการเสริมสร้างความรู้ซ้ำสำหรับประเด็นการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่ซับซ้อน

การศึกษาในครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยได้รับข้อมูลเป็นอย่างดีเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีและการป้องกันการติดเชื้อ ผ่านบทเรียนกระบวนการเสริมสร้างความรู้ ประกอบด้วย การบรรยายเชิงปฏิสัมพันธ์ที่เน้นไปที่การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับคู่รักที่มีผลเลือดต่าง การได้รับประสบการณ์จริงจากการฝึกใช้ถุงยางอนามัย การสนทนากลุ่ม และส่วนใหญ่ยังแสดงพฤติกรรมป้องกันด้วยการตรวจหาเชื้อเอชไอวี หลังจากจบบทเรียนกระบวนการเสริมสร้างความรู้ สิ่งนี้นำไปสู่การยกระดับความรู้และทัศนคติทางบวกต่อการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี

อย่างไรก็ตาม การศึกษาในครั้งนี้มีข้อจำกัดที่ควรพิจารณา ได้แก่

  1. ผู้เข้าร่วมวิจัยอาจมีความลำเอียง (bias) บางอย่างในการตอบคำถามเกี่ยวกับลักษณะ พฤติกรรมเสี่ยง และการปฏิบัติตน เนื่องจากการเก็บข้อมูลใช้แบบสอบถามและการรายงานตนเอง (self-reported data)
  2. กลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมกระบวนการส่งเสริมความรู้ครั้งที่ 2 มีจำนวนน้อย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างหลังกระบวนการส่งเสริมความรู้ครั้งแรกและก่อนได้รับกระบวนการส่งเสริมความรู้ครั้งที่ 2 อาจส่งผลต่อการวิเคราะห์ความแตกต่างของระดับความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี แต่ทว่าข้อจำกัดนี้ก็สะท้อนถึงสถานการณ์ในชีวิตจริง กล่าวคือ การเชิญชวนผู้เข้าร่วมวิจัยให้มาเข้ารับกระบวนการเสริมสร้างความรู้จำนวน 2 ครั้งและห่างกัน 1 ปี เป็นเรื่องยาก

กล่าวโดยสรุป การศึกษากระบวนการเสริมสร้างความรู้ สามารถพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีและการป้องกันการติดเชื้อ ลดพฤติกรรมเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวี ปรับเปลี่ยนทัศนคติและการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงเพิ่มอัตราการตรวจหาเชื้อเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอในกลุ่มคู่รักของผู้ป่วยเอชไอวีที่มีผลเลือดเป็นลบได้ กระบวนการส่งเสริมความรู้นี้ถือว่าสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้และสามารถดำเนินการได้ในสถานที่ที่มีทรัพยากรจำกัด แต่ทว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต โดยการเพิ่มขนาดกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้นและออกแบบการทดลองแบบสุ่มที่มีการควบคุม (randomized controlled design) เพื่อยืนยันผลการศึกษานี้และดำเนินการในสภาพแวดล้อมอื่น ๆ

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรียและโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยและต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.7) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงบริการข้อมูลการให้การศึกษาเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า รวมถึงการวางแผนครอบครัวและการผสานอนามัยเจริญพันธุ์ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ
– (5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนาและแผนปฏิบัติการปักกิ่งและเอกสาร ผลลัพธ์ของการประชุมทบทวนเหล่านั้น

รายการอ้างอิง
Khawcharoenporn, T., Srirach, C., & Chunloy, K. (2020). Educational Interventions Improved Knowledge, Attitude, and Practice to Prevent HIV Infection among HIV-Negative Heterosexual Partners of HIV-Infected Persons. Journal of the International Association of Providers of AIDS Care, 19, 2325958219899532. https://doi.org/10.1177/2325958219899532

ชื่อผู้วิจัย – สังกัด
ธนา ขอเจริญพร1, ชนิกา ศรีราช2, และ กรองทิพย์ จันทร์ลอย2
1 หน่วยโรคติดเชื้อ สาขาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2 HIV/AIDS Care Unit โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Author

  • Kanokphorn Boonlert

    Manager of Knowledge Communications | "The good life is a process, not a state of being. It is a direction not a destination." − Carl R. Rogers

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น