SDG Insights | เสียงจากพื้นที่ภาคใต้: บทสรุปเวทีระดมความต้องการยุทธศาสตร์พัฒนาและการหนุนเสริมโดยกลไกวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.)  ภายใต้โครงการ Area Need 3

โครงการ Area Need ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในหลายมิติ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนแนวคิด SDG Localization ที่มุ่งเน้นการปรับใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ โดยครอบคลุมทั้ง 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง

หนึ่งในกระบวนการสำคัญของ Area Need 3 คือการจัดทำ ‘ดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับจังหวัด’ หรือที่เรียกว่า ‘Provincial SDG Index’ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการวัดและติดตามความก้าวหน้าด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในแต่ละพื้นที่ ผ่านการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ควบคู่กับการวิเคราะห์ช่วงว่างของข้อมูล ผ่านกระบวนการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อนำเสนอข้อมูลความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับภูมิภาคและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับพื้นที่ 

SDG Insights ฉบับนี้พาสำรวจผลดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index) ระดับจังหวัดของภาคใต้ที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลตามตัวชี้วัดในระดับจังหวัดตามประเด็น SDGs พร้อมเจาะลึกภาพรวมของการประชุมเชิงปฏิบัติการ ที่เปิดรับฟังข้อมูลความท้าทายและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่มจากพื้นที่ภาคใต้


01 – ภาพรวมการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคใต้

วันที่ 13 กุมภาพันธ์​ 2568 ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตหาดใหญ่ คณะทำงานระดับภาคใต้ตอนบน ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “นำเสนอข้อมูลความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับภูมิภาคและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับพื้นที่ (ภาคใต้)” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) 

การประชุมข้างต้นมีผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ทั้งสิ้น 58 คน ประกอบด้วย ภาครัฐ 8 คน ภาควิชาการ 38 คน ภาคประชาสังคม 4 คน ภาคเอกชน  1 คน  และประชาชน 7 คน จากภาคส่วนและหน่วยงานที่หลากหลาย เช่น วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ศูนย์การเรียนรู้กสิกรรมไทยบ้านภูลิตา (วิสาหกิจชุมชนกสิกรรมไทยบ้านภูลิตา)  และบริษัท เทคโนโลยี อินสตรูเมนท์ จำกัด


02 – สรุปข้อค้นพบเบื้องต้นจากดัชนีระดับภาค

การประชุมเชิงปฏิบัติการ ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ SDG Move ได้นำเสนอข้อมูลประเด็นความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและข้อค้นพบจากกระบวนการจัดทำ SDG Index ระดับจังหวัด จากการผลการประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าในพื้นที่ภาคใต้มีประเด็นความเสี่ยงร่วมกันที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ทั้งสิ้น 6 เป้าหมาย 7 เป้าหมายย่อย ได้แก่ 

  • SDG 2 ยุติความหิวโหย เฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 2.2 ความชุกของภาวะอ้วน (BMI ≥ 25 กก./ม.2) และ/หรือภาวะอ้วนลงพุง (รอบเอวเกิน ชาย 90 ซม. และ หญิง 80 ซม.) และ 2.3 ร้อยละของประชากรอายุ 15-29 ปี มีภาวะโภชนาการปกติ 
  • SDG 6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล เฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 6.4 สัดส่วนน้ำเสียที่บำบัดได้โดยระบบบำบัดน้ำเสียเทียบกับน้ำเสียทั้งหมด  
  • SDG 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม เฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.4 จำนวนบทความ/งานวิจัยที่เผยแพร่ในฐานข้อมูล Scopus
  • SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน เฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.4 สัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร
  • SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.5 จำนวนโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน Green Hotel
  • SDG 17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.1 ผลการจัดเก็บภาษีอากรรายจังหวัด ต่อ GPP

ด้านภาพรวมดัชนีรายจังหวัด ผศ.ชล เผยว่าจังหวัดที่มีคะแนน SDG Index สูงสุด 5 อันดับแรกของภาคใต้ ได้แก่ อันดับที่ 1 สตูล (62.57 คะแนน) อันดับที่ 2 ชุมพร (60.29 คะแนน) อันดับที่ 3 พังงา (59.69 คะแนน) อันดับที่ 4 ระนอง (59.11 คะแนน) และ อันดับที่ 5 สงขลา (57.78 คะแนน) ส่วนนครศรีธรรมราช รั้งท้ายอันดับที่ 11 ได้คะแนน 48.29 คะแนน

อย่างไรก็ดี ข้อมูลดัชนีที่นำเสนอเป็นข้อมูลขั้นต้นอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งได้จากการวิเคราะห์เอกสารสถิติและข้อมูลระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับแต่ละเป้าหมาย ทั้งนี้ ยังมิได้นำผลจากการประชุมปฏิบัติการมาเปรียบเทียบกับความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะถูกนำมาวิเคราะห์และผนวกเพิ่มเติมในระยะถัดไป เพื่อจัดทำ SDG Index ที่สมบูรณ์และครอบคลุมต่อไป

วิธีการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำดัชนี มี 3 ขั้นตอน ได้แก่
1. การทบทวนวรรณกรรม (literature review): สำรวจรายการตัวชี้วัดในการจัดทำจากหลายแหล่ง ได้แก่ SDG Index รายงานความยั่งยืนระดับกลุ่มจังหวัด รายงานความก้าวคืบหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Profile) และ รายงานสถานะตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ พ.ศ. 2566 จากนั้นจึงหา Proxy Indicator และระบุตัวชี้วัดที่จะใช้ในโครงการและประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. การรวบรวมข้อมูล (data collection): ดึงข้อมูลหรือขอความอนุเคราะห์ข้อมูลระดับจังหวัดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดกฎเกณฑ์ค่าเป้าหมายต่าง ๆ
3. การวิเคราะห์ข้อมูล (data processing and analysis): รวบรวมข้อมูลตัวชี้วัดลงในเทมเพลตการคำนวณ จากนั้นจึง normalization ค่าข้อมูลให้อยู่ในช่วง 0 – 100 และหาค่าเฉลี่ยรายเป้าหมายระดับจังหวัด ระดับภาค พร้อมทั้งระบุประเด็นท้าทายรายจังหวัด


03 – ปัญหาและยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาภาคใต้

อาจารย์นันทินี มาลานนท์ รองผู้อำนวยการ SDG Move ได้นำกระบวนการทบทวนและรับฟังประเด็นความต้องการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับกลไกการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคใต้ โดยพบว่าหลายภาคส่วนเห็นพ้องถึงประเด็นที่ควรได้รับการแก้ไขและพัฒนาอย่างเร่งรัด แบ่งได้ออกเป็น 3  มิติ ได้แก่

  • มิติสังคม
  1. ปัญหายาเสพติดในชุมชน  [SDG3, SDG16]
  2. การจัดการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นระบบ [SDG1, SDG3, SDG10]
  3. ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา เเละไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน [SDG4, SDG8]
  • มิติเศรษฐกิจ
  1. ภาระหนี้สินของครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น [SDG1]
  2. การเข้ามาของแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น [SDG8, SDG10]
  3. ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการขนส่งสินค้าอยู่ในระดับต่ำ [SDG8]
  4. การไม่สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรได้ [SDG2, SDG11]
  • มิติสิ่งแวดล้อม
  1. ขยะของเสียทุกชนิดเพิ่มขึ้น [SDG11, SDG12]
  2. การกัดเซาะชายฝั่ง (สงขลา) มีความรุนแรงมากขึ้น [SDG14]
  3. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติธรรมชาติ [SDG11, SDG13]
  4. ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทางบกและท้องทะเล  [SDG14, SDG15]
  5. การถือครองที่ดินและสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ [SDG1, SDG15, SDG16]

จากประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนข้างต้น ด้าน รศ. ดร.จรรยา ชาญชัยชูจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมกิจการต่างประเทศ และผู้อำนวยการ Center for Sustainable Logistics and Supply Chain มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งในคณะทำงานระดับภาคใต้ ระบุว่าประเด็นปัญหาและความต้องการพัฒนาที่ผู้ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนกันนั้น ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่ถูกกล่าวถึงทุกปีในโครงการ และยังคงเป็นประเด็นปัญหาหลักในพื้นที่ โดยความคิดเห็นเหล่านี้สะท้อนจากประสบการณ์ของนักวิชาการและภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่จริง 

ในทางกลับกันยังขาดเสียงจากภาคเอกชนหรือบริษัทขนาดใหญ่ เพราะถ้าเป็นมิติเศรษฐกิจ อาจได้มุมมองปัญหาที่ไม่เคยถูกสะท้อน เช่น การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่นำไปสู่การพึ่งพาแรงงานต่างด้าว โดยที่ผ่านมา เมื่อกล่าวถึงแรงงานต่างด้าว มักเน้นเพียงผลกระทบด้านการใช้ทรัพยากรสาธารณะ เช่น โรงพยาบาลหรือโรงเรียน ซึ่งเป็นปลายเหตุ ขณะที่หนึ่งในต้นเหตุสำคัญคือความจำเป็นของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ต้องพึ่งแรงงานเหล่านี้

อย่างไรก็ดี ยังมีหลายประเด็นที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไข ทั้งในระดับประเทศและระดับภาคใต้ โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติดที่เป็นปัญหาร่วมระดับชาติ ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมยังเห็นว่ามีประเด็นเฉพาะพื้นที่ที่ควรได้รับความสำคัญ เช่น ปัญหากัดเซาะชายฝั่งและการแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นในแหล่งน้ำซึ่งไม่พบในภาคอื่น รวมถึงประเด็นความเปราะบางทางศาสนา ซึ่งสะท้อนความเฉพาะตัวของภาคใต้และควรถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้เสนอทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับนวัตกรรมส่งเสริมทักษะอาชีพแก่เด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง  การพัฒนาระบบสนับสนุนเพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรรายย่อย การศึกษาผลกระทบของระบบสวัสดิการที่ต้องรองรับแรงงานต่างด้าว การศึกษาฟื้นฟูหญ้าทะเลอย่างเป็นระบบ และการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น เช่น หลักสูตร บจร. (บัณฑิตจิตอาสาเพื่อการพัฒนาระดับพื้นที่) ซึ่งมหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้เป็นหลัก


04 – ปัจจัยความสำเร็จในการประชุมรับฟังความคิดเห็น

เมื่อถามถึงมุมมองต่อความสำเร็จของเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ รศ. ดร.จรรยา กล่าวว่าการจัดเวทีครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากหลากหลายภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยกิจกรรมนั้นสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มี 5 วิทยาเขตครอบคลุมทั่วภาคใต้ จึงมีศักยภาพในการเป็นกลไกเชื่อมโยง SDG Move เข้ากับหน่วยงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย รศ. ดร.จรรยา มองว่าอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวทีประสบความสำเร็จ คือ “แรงจูงใจร่วม” ระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคีต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกันในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างต่อเนื่องทั้งด้านวิจัยและบริการวิชาการ ซึ่งเอื้อต่อการทำงานร่วมกับชุมชน ภาครัฐ ประชาสังคม และภาคธุรกิจ คณะทำงานของทีมภาคจึงได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในเวทีนี้ เพราะมองว่ามหาวิทยาลัยมีศักยภาพและความสามารถในการเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนมาเจอกันได้ ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญที่สะท้อนถึงความพร้อมและความสามารถในการทำงานในการขับเคลื่อน SDGs ซึ่งเรามีทีมงานมหาวิทยาลัยดำเนินงานเรื่องนี้อยู่แล้วโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ความสำเร็จของเวทีประชุมส่วนหนึ่งยังมาจากบทบาทของทีม SDG Move ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนที่มาเข้าร่วมได้เข้าใจการค้นหาปัญหาได้อย่างเป็นระบบ และสามารถย้อนทบทวนแนวทางแก้ไขได้อย่างชัดเจน ซึ่งประสบการณ์และความเข้าใจในประเด็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นอย่างดีของคณะทำงานมีผลต่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างภาคส่วนอย่างมาก ขณะเดียวกัน ทีมผู้ดำเนินรายการก็มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นบทสนทนาและตั้งคำถามอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยอาจไม่สามารถทำได้ลำพัง ความร่วมมือระหว่างทีม SDG Move และคณะทำงานในพื้นที่ภาคใต้จึงเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันให้เวทีนี้ประสบความสำเร็จ


05 – ม.สงขลานครินทร์ กับบทบาทขับเคลื่อน SDGs และหนุนเสริมระบบ ววน.

รศ. ดร.จรรยา กล่าวว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การระดมความเห็นครั้งนี้ประสบความสำเร็จคือมหาวิทยาลัย มีบทบาทการเป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้และการวิจัย สำคัญในพื้นที่ โดยมีพันธกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ การเรียน การสอน การวิจัยและการบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งทั้งหมดล้วนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  ที่เกี่ยวข้องกับบริบทของพื้นที่ มหาวิทยาลัยสามารถให้ความรู้ทั้งในระดับนักศึกษา บุคลากร และอาจารย์ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ได้โดยตรง ขณะเดียวกันงานวิจัยจำนวนมากก็สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง 17 เป้าหมายของ SDGs ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ จึงสร้างผลลัพธ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนประเด็นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่

ด้าน รศ. ดร.จรรยา เสริมต่อว่าในกรณีของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ แม้ปัจจุบันเรายังไม่ได้ตั้งเป็นศูนย์สำหรับการขับเคลื่อน SDGs โดยเฉพาะ แต่มหาวิทยาลัยได้มีการดำเนินงานในระดับมหาวิทยาลัยโดยรวม โดยมีการจัดลำดับด้าน Impact Ranking หรือการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ติดอันดับที่ประมาณ 800 ของโลก การขับเคลื่อน SDGs ในมหาวิทยาลัยมีโครงสร้างที่ชัดเจน โดยมีอธิการบดีเป็นประธานหลัก 

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแต่ละเป้าหมาย SDGs จะถูกมอบหมายให้คณะหรือศูนย์วิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น SDG 2 ยุติความหิวโหย ได้มอบหมายให้คณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะอุตสาหกรรมเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร SDG 4 ด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ รับผิดชอบโดยคณะแพทยศาสตร์ SDG 14 ทรัพยากรทางทะเล ที่อยู่ภายใต้การดูแลของคณะที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเล 

รศ. ดร.จรรยา ได้ฉายภาพเพิ่มเติมว่า รูปแบบการกระจายความรับผิดชอบของแต่ละ SDG ให้กับคณะหรือหน่วยงานที่เชี่ยวชาญ เป็นกลไกที่ช่วยให้การดำเนินงานมีความเฉพาะทาง และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ในภาคใต้ ทั้งยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยในการบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ากับพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยได้อย่างเป็นระบบ กระบวนการดังกล่าวถือว่าสำคัญมาก เพราะมหาวิทยาลัยมีบทบาทในการผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ต่อปัญหาในพื้นที่ได้โดยตรง โดยสามารถใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยน์ชสูงสุดและมีรากฐานจากความรู้ที่ถูกต้องและเหมาะสมกับบริบทพื้นที่

อ่านข่าวเเละบทความที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Area Need ได้ที่นี่ 

ซีรีส์ Area Need จะสรุปข้อค้นพบสำคัญของโครงการปีที่ 1 - 2 และอัปเดตสิ่งที่เรากำลังทำต่อในปีที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป

แพรวพรรณ ศิริเลิศ – เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น