Policy Brief | บทสรุปนโยบายที่ต้องการระดับพื้นที่จาก Area Need ปีที่ 2 และทิศทางการดำเนินการ Area Need ปีที่ 3

Area Need คืออะไร 

โครงการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน หรือ “Area Need” เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และคณะทำงานระดับภาคทั้ง 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ตะวันออก ใต้ และใต้ชายแดน จาก 8 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) 

ปัจจุบัน โครงการดำเนินมาเข้าสู่ปีที่ 3 หากย้อนกลับไปในช่วงปีที่ 1 โครงการมุ่งเน้นไปที่การค้นหาและทำความเข้าใจถึงความต้องการ การพัฒนาที่สำคัญและเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ในประเทศไทย โดยชื่อโครงการ Area Need สื่อถึงการตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของพื้นที่ ที่มีกระบวนการศึกษาที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และภาควิชาการ ผลลัพธ์จากกระบวนการนี้ นำไปสู่การระบุปัญหาสำคัญและองค์ความรู้ที่จำเป็นของแต่ละพื้นที่ และจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายของทั้ง 6 ภาค

โดยข้อเสนอเชิงนโยบายนี้ มีรากฐานมาจากหลักการ “การมองอนาคต” (Foresight) ที่จะชวนผู้คนมา กำหนดภาพอนาคตและทิศทางไปสู่อนาคตของพื้นที่ร่วมกัน โดยการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน  ซึ่งหลักการนี้ประกอบด้วยเครื่องมือสำคัญ คือการกวาดหาสัญญาณอนาคต (Horizon Scanning) ที่นำมาประเด็นมาพูดคุยภายใต้กรอบ SDGs ซึ่งภาพอนาคตเหล่านี้จะเป็นโจทย์ในการวิเคราะห์ช่องว่างความรู้และระบบความรู้ต่อไป

อย่างไรก็ดี การดำเนินงานในปีที่ 1 เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อทุกพื้นที่ของประเทศ ทำให้แทบทุกพื้นที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา และการรับมือผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ทั้งในระดับชุมชนและระดับภูมิภาค สามารถอ่านผลลัพท์ของปีที่ 1 เพิ่มเติม: ที่นี่


โครงการ Area Need ปีที่ 2

ถัดมาในปีที่ 2 โครงการได้นำเสนอสิ่งที่ดำเนินการต่อจากปีที่ 1 เริ่มต้นด้วยการทบทวนความสำคัญของประเด็นปัญหาเพื่อให้การค้นหาช่องว่างความรู้ และกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ให้เกิดความชัดเจน นำมาซึ่งบทสรุปความต้องการของพื้นที่ว่าทั้ง 6 ภาคต้องการแก้ปัญหาอะไรเป็นสำคัญ? 

ดังนั้นเป้าหมายปลายทางของโครงการ Area Need คือการที่เราสามารถระบุความต้องการและช่องว่างความรู้ในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ใหม่มาอุดช่องว่างเหล่านั้น และสร้างเครือข่าย ที่เป็นกลไกทำงานของ ววน. กระตุ้นให้เกิดการใช้ความรู้ นำข้อมูล ข้อเสนอจากพื้นที่เข้าสู่กระบวนการตัดสินใจที่พื้นที่มีส่วนร่วม แบบล่างขึ้นบน (bottom up) ทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้มีการนำกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปใช้จริงในพื้นที่ (Localizing the SDGs)


Area Need ปีที่ 2 มีกระบวนการศึกษาเเละเก็บข้อมูลอย่างไร

โครงการ Area Need ปีที่ 2 เป็นกระบวนการจัดทำข้อมูลความต้องการและแนวทางการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาจากทั้ง 6 ภูมิภาค โดยได้รวบรวมข้อมูลจากฐานรากขึ้นสู่บน (Bottom up planning) และหาช่องว่างความรู้ด้านวิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรมในระดับพื้นที่เพื่อบูรณาการเข้ากับแผนการพัฒนาระดับต่าง ๆ ของประเทศ

ผลลัพธ์ พบว่าความต้องการระดับพื้นที่มีความคล้ายคลึงกับความต้องการระดับพื้นที่ในปี พ.ศ. 2565 (ปีที่ 1) ในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลประทบจากสถานการณ์โควิด-19 และอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงประเด็นปัญหา เช่น ยาเสพติด อาชญากรรมสมัยใหม่ มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น 

การศึกษาใช้กระบวนการรวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อทำฐานข้อมูลความเชี่ยวชาญในพื้นที่ตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จากทั้ง 6 ภาค มีจำนวนผู้เชี่ยวชาญ 225 ท่าน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสังคม 168 ท่าน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ 74 ท่าน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสิ่งแวดล้อม 79 ท่าน และผู้เชี่ยวชาญทางด้านสันติภาพและธรรมาภิบาล 41 ท่าน

แนวทางหลักในการดำเนินงาน ประกอบด้วย 5 แนวทาง ดังนี้

  • ทบทวนกระบวนการทำงานที่ผ่านมา ตั้งแต่การเก็บข้อมูล ผลของการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อการทบทวนสถานการณ์ การมองไปข้างหน้า และการหาช่องว่างของกลไก ววน. ระดับพื้นที่ รวมทั้งทบทวนกระบวนการหาช่องว่างความรู้ระดับท้องถิ่น
  • ออกแบบการขับเคลื่อนกลไก ววน. ระดับพื้นที่ โดยออกแบบกระบวนการทำงานและจัดทำ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนกลไก ววน. ระดับพื้นที่ แบบมีส่วนร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทั้ง 6 ภูมิภาค โดยครอบคลุมภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • จัดทำและสังเคราะห์ข้อมูลความต้องการระดับพื้นที่ด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวบรวมและจัดทำข้อมูลตามตัวชี้วัดในระดับจังหวัดตามประเด็น SDGs และใช้กระบวนการเดลฟายประยุกต์ (Adapted Delphi) กับผู้เชี่ยวชาญระดับภาค โดยจัดลำดับความสำคัญของประเด็นความต้องการระดับพื้นที่ พร้อมทั้งวิเคราะห์ช่องว่างของการปฏิบัติการ ช่องว่างเชิงกลไก และช่องว่างความรู้ซึ่งนำมาเปรียบเทียบกับงานวิจัยในระบบ NRIIS เพื่อบรรลุความต้องการระดับพื้นที่
  • จัดทำฐานข้อมูลความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ ตามกรอบ SDGs เป็นฐานข้อมูลสำหรับนำไปเชื่อมโยงกับกลไก ววน. ระดับพื้นที่ในอนาคต
  • สื่อสารความรู้สู่สาธารณะ ได้จัดทำสื่อเพื่อเผยแพร่ข้อมูลและประเด็นความต้องการระดับพื้นที่และสื่อสารไปยังหน่วยงานในระบบ ววน. และภาคีเครือข่ายเชิงยุทธศาสตร์ ที่ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนแผน ววน. ระดับพื้นที่


4 ข้อค้นพบที่สำคัญจากโครงการ Area Need ปีที่ 2

1. ปัญหาประเด็นร่วม ที่ต้องการแก้ในระดับพื้นที่ของทั้ง 6 ภูมิภาค ปีที่ 2  แบ่งตามกลุ่มประเด็น ดังนี้

  • ด้านสังคม ได้แก่
    • ปัญหาสังคมสูงวัย [SDG3,SDG10]
    • ปัญหาการเข้าถึงและคุณภาพการศึกษา [SDG4]
    • ปัญหาความรุนแรงและอาชญากรรมสมัยใหม่ในทุกระดับ [SDG16]
    • ปัญหาความเข้มแข็งของครอบครัวที่ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก [SDG3,SDG4]
    • ปัญหาความมั่นคงทางอาหารและภาวะทุพโภชนาการ [SDG2,SDG3]
    • ปัญหาการรับมือกับภัยพิบัติของชุมชน [SDG13]
  • ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่
    • มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ [SDG2]
    • เศรษฐกิจชุมชนที่ไม่เข้มแข็ง [SDG8]
    • ขาดทักษะที่จำเป็นต่อความเป็นผู้ประกอบการและการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง [SDG8, SDG13]
    • การไม่สามารถชำระหนี้สินระดับครัวเรือนทั้งในและนอกระบบได้ [SDG1]
    • ปัญหาการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรและสิทธิในการครอบครองที่ดิน [SDG1]
  • ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่
    • การทำเกษตรกรรมที่ไม่ยั่งยืนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม [SDG2,SDG15]
    • การจัดการขยะระดับชุมชนที่ไม่ถูกต้องและมีการรีไซเคิลน้อย [SDG11,SDG12]
    • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทางอ้อมผ่านภัยพิบัติด้านน้ำ [SDG6, SDG13]
    • มลพิษที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมและการคมนาคมขนส่ง[SDG3, SDG8, SDG11]

2. ช่องว่างของการปฏิบัติการเพื่อความต้องการของพื้นที่ 6 ประการ ดังนี้

  • การขาดการบูรณาการของการแก้ไขปัญหาระดับนโยบายระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้อง
  • การขาดกระบวนการรับฟังปัญหาและการมีส่วนร่วมจากพื้นที่ในการกำหนดโจทย์ของการสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรการวิจัยที่ตอบสนองกับความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง
  • การขาดระบบการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยหรือผลิตองค์ความรู้โดยใช้ภูมิปัญญาของท้องถิ่น เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาของตนเองอย่างยั่งยืน
  • การขาดการจัดการความรู้และจัดทำฐานข้อมูล เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากข้อมูลและงานวิจัยเพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน
  • หน่วยงานให้ทุนยังขาดระบบติดตามและสนับสนุนการทำวิจัยที่ช่วยหนุนเสริมเชิงบวกให้นักวิจัยสามารถทำงานได้อย่างมีคุณภาพและสร้างงานวิจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง
  • การขาดการสนับสนุนความรู้และเครื่องมือสำหรับการถ่ายทอดนวัตกรรมสู่ชุมชน ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามบริบทของพื้นที่และสามารถบริหารจัดการเองได้อย่างยั่งยืน 

3. ข้อสรุปจากการการวิเคราะห์ฐานข้อมูลระบบ ววน. เทียบกับความต้องการเชิงพื้นที่ ดังนี้

  • ประเด็นความต้องการเชิงพื้นที่ส่วนใหญ่มีการทำวิจัยศึกษาประเด็นเหล่านั้น แต่การศึกษามักมีลักษณะของแบบกระจายและไม่เป็นระบบ 
  • การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเป็นไปได้ยาก เนื่องจากโครงการเหล่านั้นมีลักษณะจำเพาะเจาะจงกับบริบทของพื้นที่ที่ศึกษา 
  • ไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการที่จำเพาะเจาะจงกับพื้นที่หนึ่ง ๆ

4. ช่องว่างงานวิจัยที่ควรได้รับการสนับสนุนมากขึ้น มี 3 ประเภท ดังนี้

  • ประเด็นที่มีความขัดแย้งและรัฐอาจเป็นคู่ขัดแย้ง เช่น สิทธิมนุษยชน กระบวนการสันติภาพ สิทธิการถือครองที่ดิน สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ กระบวนการยุติธรรม อาชญากรรม ยาเสพติด
  • ประเด็นเชิงระบบ/โครงสร้างกฎกติกา เงื่อนไข นโยบาย โครงสร้างตลาด โครงสร้างอำนาจ ที่เกี่ยวข้องกับโอกาสทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ และการดำเนินการโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • ประเด็นที่อาจมีหน่วยงานบางหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการอยู่ เช่น ประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สิทธิมนุษยชน มลพิษทางอากาศและการจัดการขยะ

2 ชุดข้อเสนอสำคัญของโครงการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเชิงพื้นที่ 

ชุดที่ 1 ข้อเสนอในการปิดช่องว่างการวิจัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเชิงพื้นที่ 

  1. การประเมินช่องว่างการวิจัยอย่างเป็นระบบเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเชิงพื้น มีการดำเนินการอย่างน้อย 3 ขั้นตอน ดังนี้
    • ขั้นตอนที่ 1 สกสว.และ/หรือหน่วยบริหารจัดการทุนควรทำงานกับนักวิชาการระดับชาติที่เชี่ยวชาญในประเด็น กำหนดกรอบแนวคิด (Conceptual Framework) ของการแก้ไขปัญหาความต้องการเชิงพื้นที่เหล่านั้น ควรระบุองค์ความรู้ที่ช่วยในการจัดการปัญหา เพื่อคลายข้อจำกัดหรือสนับสนุนการแก้ไขปัญหาตามประเด็น
    • ขั้นตอนที่ 2 ประเมินสถานะของปัจจัยตามกรอบแนวคิดของการแก้ไขปัญหาความต้องการเชิงพื้นที่ ในระดับภาคและจังหวัด เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น 
    • ขั้นตอนที่ 3 กำหนดประเด็นวิจัยสำหรับจังหวัดหรือภาค ที่ต้องสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความต้องการเชิงพื้นที่ และงบประมาณให้กับหน่วยงานวิจัยในพื้นที่และหน่วยงานวิจัยอื่น ๆ ที่สนใจ
  2. ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความต้องการเชิงพื้นที่ เพื่อผสานฐานข้อมูลการวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นสถานะของการวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องได้ชัดเจน เพื่อทำให้การกำหนดประเด็นการวิจัยแม่นยำยิ่งขึ้น
  3. เพิ่มเติมการวิจัยในประเด็นทางสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการแก้ไขปัญหาความต้องการเชิงพื้นที่ ซึ่งมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหา 
  4. มีการกำหนดโปรแกรมหรือเปิดโอกาสให้มีการทำวิจัยในประเด็นที่มีการประเมินการทำงานของภาครัฐ และการวิพากษ์นโยบายภาครัฐ รวมถึงกำหนดเงื่อนไขของผู้ทรงคุณวุฒิที่เหมาะสมโดยผนวกให้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม 

ชุดที่ 2 ข้อเสนอการขับเคลื่อนกลไกวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่

มีข้อเสนอ 3 ประการ ดังนี้

  1. สร้างกระบวนการรับฟังความต้องการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ เพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูล จัดลำดับความสำคัญ กำหนดวาระของการพัฒนาพื้นที่ พร้อมติดตามความก้าวหน้าและประเมินผล
  2. ส่งต่อความต้องการและวาระการพัฒนาพื้นที่สู่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตและใช้ประโยชน์ความรู้ เพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาและหาทางออกให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่
  3. สร้างกระบวนการปรึกษาหารือร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

What’s next step?: การติดตามและวางแผนงานต่อไปใน Area Need 3

การศึกษาในปีที่ 3 เริ่มต้นด้วยการดำเนินกลไกทั้งหมดต่อจาก ปีที่ 2 ประเมินผลกระทบและระบุความต้องการและช่องว่างความรู้ในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ใหม่ และสร้างเครือข่าย ที่เป็นกลไกทำงานของ ววน. กระตุ้นให้เกิดการใช้ความรู้ นำข้อมูล ข้อเสนอจากพื้นที่เข้าสู่กระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย พร้อมสนับสนุนให้มีการนำกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปใช้จริงในพื้นที่ (Localizing the SDGs) ในปีที่ 3 มีแนวทางการดำเนิน ตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้

หรือกดอ่านในรูปแบบไฟล์


ซีรีส์ Area Need จะสรุปข้อค้นพบสำคัญของโครงการปีที่ 1 - 2 และอัปเดตสิ่งที่เรากำลังทำต่อในปีที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป 

แพรวพรรณ ศิริเลิศ และอติรุจ ดือเระ – เรียบเรียง
ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Last Updated on ธันวาคม 2, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น