กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยแพร่แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan: NAP) ความยาวกว่า 84 หน้า โดยเนื้อหาผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนที่หลากหลาย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน ภายใต้การสนับสนุนขององค์ความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
แผนข้างต้นนับเป็นก้าวสำคัญของความพยายามรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญแก่การสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ เผยว่าเป้าประสงค์ของแผนฉบับนี้คือเป็นกรอบแนวทางของประเทศในการบูรณาการประเด็นด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการวางแผนรายสาขาและในเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดสรรงบประมาณของประเทศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ รวมถึงแนวทางการขอรับการสนับสนุนงบประมาณระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
สาระสำคัญของแผนฉบับข้างต้น ประกอบด้วย ข้อมูลสภาวการณ์ของประเทศ ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประเมินความเสี่ยง และขับเคลื่อนดำเนินการจัดการ 6 สาขาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่
- การจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีเป้าหมายคือเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ และลดความสูญเสียและเสียหายจากภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำ
- เกษตรและความมั่นคงทางอาหาร โดยมีเป้าหมายคือรักษาผลิตภาพการผลิตและความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้ความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- การท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายคือเพิ่มขีดความสามารถของภาคการท่องเที่ยวให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน และรองรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- สาธารณสุข โดยมีเป้าหมายคือมีระบบสาธารณสุขที่สามารถจัดการความเสี่ยงและลดผลกระทบ ต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายคือบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความ หลากหลาย ทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีเป้าหมายคือประชาชน ชุมชน และเมือง มีความพร้อมและขีดความสามารถในการปรับตัวต่อความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่
นอกจากนี้ แผนฉบับนี้ยังได้ระบุถึงแนวการดำเนินงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลายสาขาไว้ 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่
- แนวทางที่ 1 การพัฒนาข้อมูล งานศึกษาวิจัย และเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาระบบฐานข้อมูลงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เป็นมาตรฐาน และการจัดตั้งพัฒนาโครงข่ายสถานีอุตุนิยมวิทยาระดับพื้นผิว สถานีตรวจวัดสภาพภูมิอากาศ และอุตุนิยมวิทยาเพิ่มเติมให้ครอบคลุมบริเวณที่มีความเปราะบางในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- แนวทางที่ 2 การพัฒนากลไกสนับสนุนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การพัฒนาธุรกิจประกันภัยด้านภูมิอากาศ (climate insurance) หรือประกันภัยพิบัติที่สืบเนื่องจากสภาพภูมิอากาศ และการผลักดันให้มีการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกมิติ ผ่านกลไกการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA)
- แนวทางที่ 3 การเสริมสร้างศักยภาพและสร้างความตระหนักของบุคลากรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เช่น การพัฒนาบุคลากรในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการความเสี่ยงในการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสนับสนุนและส่งเสริมสร้างความตระหนักรู้ของภาคเอกชนต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ชวนจับตา 4 ประเด็นสำคัญการประชุม ‘COP28’ พร้อมสำรวจความกังวลต่อท่าทีเจ้าภาพในการยุติการใช้พลังงานฟอสซิล
– ไทยเตรียม 4 ข้อเสนอ ในการประชุม ‘COP 28’ พร้อมร่วมแก้ปัญหาโลกเดือดกับผู้นำโลก
– UN Women เผยภายในปี 2593 ‘ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง’ จะตกอยู่ในความยากจน-ไม่มั่นคงทางอาหาร เหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– ‘Glasgow Climate Pact’ ข้อตกลงจากการประชุม COP26 ที่ยังคงเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลก ‘1.5°C’ แต่ล้มเหลว ‘ยุติการใช้ถ่านหิน’
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา
– การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)
– สรุปสาระสำคัญแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)