GYBN Thailand เผยแพร่ผลสำรวจความเห็นของเด็กและเยาวชน 712 คน ต่อ Climate Change และความหลากหลายทางชีวภาพ

วันที่ 5 มิถุนายน 2568 เครือข่ายเยาวชนระดับโลกเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำประเทศไทย (Global Youth Biodiversity Network – GYBN Thailand) ร่วมกับ The Active (ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส) ได้เผยแพร่ “รายงานเชิงลึกเกี่ยวกับความคิดเห็นของเยาวชนไทยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ” (Children Youth and the Environment Survey 2024 – 2025)

การสำรวจข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานข้างต้น ผู้จัดทำใช้ Google Form เป็นเครื่องมือหลักในการเก็บข้อมูล โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายคือบุคคลอายุ 12 – 35 ปี รวมทั้งสิ้น 712 คน โดยพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามมากที่สุด 188 คน ขณะที่ภาคตะวันออกมีผู้ตอบแบบสอบถามน้อยที่สุดเพียง 25 คน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อีก 126 มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นด้วย 

ข้อค้นพบที่สำคัญซึ่งปรากฏในรายงานฉบับนี้ เช่น 

  • เด็กและเยาวชนที่ตอบแบบสอบถามกว่า 89.2% เคยได้ยินคำว่า ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกรวน’ มาก่อน และกว่า 87.4% มีความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขาในระดับมากถึงมากที่สุด 
  • เด็กและเยาวชนที่ตอบแบบสอบถามกว่า 87.6% เคยได้ยินคำว่า ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ มาก่อน และกว่า 74% มีความเห็นว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขาในระดับมากถึงมากที่สุด 
  • 32.4% ของผู้ตอบแบบสอบถามชี้ว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การลงมือทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องยาก เนื่องจากไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือสิ่งที่เอื้อให้การใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่อีก 22.1% ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ขาดความรู้และทักษะในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
  • กิจกรรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ระยะสั้น คือช่องทาง/รูปแบบกิจกรรมที่สามารถชักชวนเยาวชนให้ทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด ตามมาด้วยภาพยนตร์ สารคดี คลิปสั้น การ์ตูน และค่ายส่งเสริมศักยภาพค้างคืน ตามลำดับ
  • เมื่อให้ผู้ตอบแบบสอบถามพิจารณาว่าตนสามารถมีส่วนร่วมกับแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยในด้านใดได้บ้าง พบว่า 66.9% คือการจัดการขยะโดยทำตามหลัก 7R ส่วน 63.8% คือการซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็น

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสถามยังมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลที่น่าสนใจ เช่น อยากให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่จริงจังและเข้มงวด และสนับสนุนให้มีการออกมาตรการภาษีคาร์บอน (carbon tax) หรือให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจสีเขียว

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดออกเอกสารแสดงจุดยืนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและชดเชยทางการเงินให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบ
– ‘Glasgow Climate Pact’ ข้อตกลงจากการประชุม COP26 ที่ยังคงเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลก ‘1.5°C’ แต่ล้มเหลว ‘ยุติการใช้ถ่านหิน’
– การศึกษาใหม่พบว่าโลกเหลือพื้นที่ที่ยังคงมีสภาพทางนิเวศวิทยาที่สมบูรณ์เพียง 3% เท่านั้น
– รายงานสถานะแนวปะการังจากข้อมูล 40 ปี พบว่า โลกสูญเสียแนวปะการังไปถึง 14% ภายในช่วงแค่สิบปีที่ผ่านมา
– ประชุม COFO ครั้งที่ 26 นานาประเทศหารือความเชื่อมโยงของป่าไม้-การเกษตร กับ ‘climate change’ หวังหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
– SDG Updates | Climate Change ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ – สิ่งที่รัฐต้องตระหนักจากรายงาน IPCC ล่าสุด 
SDG Updates | Flora of Thailand – พรรณพฤกษชาติของไทย นักพฤกษศาสตร์กับการพิทักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าไทย 
COP 27 ย้ำการปกป้อง ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ เชื่อมโยงกับ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ เป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกออกจากกัน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จาเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและการไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
– (15.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศเหล่านั้น เพื่อเพิ่มพูนขีดความสามารถของระบบนิเวศในการสร้างผลประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี พ.ศ. 2573
– (15.5) ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี พ.ศ. 2563 ปกป้องและป้องกันการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา: Children Youth and the Environment Survey 2024 – 2025 โครงการจัดทำแบบสำรวจเด็ก เยาวชน และสิ่งแวดล้อม (Global Youth Biodiversity Network – GYBN Thailand)

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น