รายงานสถานะแนวปะการังจากข้อมูล 40 ปี พบว่า โลกสูญเสียแนวปะการังไปถึง 14% ภายในช่วงแค่สิบปีที่ผ่านมา

Global Coral Reef Monitoring Network (GCRMN) ออกรายงาน “Status of Coral Reefs of the World” ฉบับแรกนับตั้งแต่ปี 2008 โดยให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นปัจจุบันที่สุดของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากอุณหภูมิมหาสมุทรที่สูงขึ้นเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ ที่ทำให้เกิดการสูญเสียแนวปะการังประมาณไปถึง 14% ตั้งแต่ปี 2009

รายงาน Status of Coral Reefs of the World ล่าสุดนี้เป็นการรายงานสถานะสุขภาพของแนวปะการังโลกฉบับที่ 6 ที่ถือว่าเป็นรายงานการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมข้อมูลมากที่สุดเท่าที่เคยจัดทำขึ้นในโลก โดยใช้ข้อมูลระยะเวลา 40 ปี (1978-2019) ของปะการังกว่า 12,000 แห่งใน 73 ประเทศ ซึ่งรวบรวมมาจากนักวิทยาศาสตร์กว่า 300 คน ที่ได้จากชุดข้อมูลการสังเกตการณ์อีกกว่าสองล้านครั้ง ทำให้ได้ข้อค้นพบที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น

  • การฟอกขาวของปะการังที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างถือเป็นเป็นรบกวนแนวปะการังที่รุนแรงที่สุดในโลก เฉพาะในปี 1998 มีปะการังทั่วโลกตายไป 8% คิดเป็นพื้นที่ 6,500 ตารางกิโลเมตร
  • ปะการังฟอกขาวรุนแรงเกิดขึ้นจำนวนมากในมหาสมุทรอินเดีย พื้นที่ประเทศญี่ปุ่น และทะเลแถบหมู่เกาะแคริบเบียน
  • ระหว่างปี 2009 – 2018 ปะการังทั่วโลกหายไปประมาณ 14% คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 11,700 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าพื้นที่แนวปะการังที่มีชีวิตทั้งหมดในออสเตรเลีย

แนวปะกางรังมีความเปราะบางอย่างยิ่งต่อทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเป็นกรดในมหาสมุทร มลพิษทางจากทั้งบนบกและในทะเล การทำประมงเกินขนาด (overfishing) และการใช้เครื่องมือทำประมงแบบทำลายล้าง แต่ภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในมหาสมุทรนี้ คือ อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเนื่องจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สะสมในชั้นบรรยากาศ ทำให้สภาพภูมิอากาศโลกอุ่นขึ้น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าหากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ปริมาณมหาศาลภายในกลางศตวรรษนี้ แนวปะการังทั่วโลกอาจลดลงถึง 70-90% หรือสูญเสียไปเกือบทั้งหมด

พื้นที่แนวปะการังเป็นที่อยู่ในโลกเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลเกือบ 30% ดังนั้นหากแนวปะการังล่มสลายไป สิ่งมีชีวิตในทะเลอื่น ๆ ก็จะหายไปด้วย

— สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของรายงาน “Status of Coral Reefs of the World” ในรูปแบบ Interactive story

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG14 นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร
- (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะในทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568
- (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
- (14.3)  ลดและแก้ปัญหาผลกระทบของการเป็นกรดในมหาสมุทร โดยรวมถึงผ่านทางการเพิ่มพูนความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ในทุกระดับ
- (14.4) ภายในปี 2563 ให้กำกับการทำการประมงอย่างมีประสิทธิผล และยุติการประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) และแนวปฏิบัติด้านการประมงที่เป็นไปในทางทำลาย และดำเนินการให้เป็นผลตามแผนการบริหารจัดการที่อยู่บนฐานวิทยาศาสตร์ เพื่อจะฟื้นฟูมวลปลา (fish stock) ในเวลาที่สั้นที่สุดที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดให้อยู่ในระดับผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (maximum sustainable yield) ตามคุณลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำเหล่านั้น
- (14.5) ภายในปี 2563 อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 โดยให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและภายในประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่

ที่มา : Rising sea surface temperatures driving the loss of 14 percent of corals since 2009 (UNEP)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น