SDG Updates | Flora of Thailand – พรรณพฤกษชาติของไทย นักพฤกษศาสตร์กับการพิทักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.​ สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล
ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในทุก ๆ วันที่เราตื่นเช้าขึ้นมา ตั้งแต่มองออกไปนอกหน้าต่าง ระหว่างทานอาหารเช้า หรือเดินเล่นออกนอกบ้าน ชีวิตของเราล้วนแต่มี “พืช” เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย พืชหลายชนิดเราใช้เป็นอาหารหรือทำเครื่องดื่ม หลายชนิดใช้เป็นยารักษาโรค และหลายชนิดสามารถนำมาสร้างเป็นที่อยู่อาศัย ทำเครื่องนุ่งห่มและข้าวของเครื่องใช้ นอกจากนี้ พืชอื่น ๆ ที่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมันโดยตรง ก็ยังทำหน้าที่ช่วยผลิตออกซิเจนให้สิ่งมีชีวิตและเป็นอาหารของสัตว์นานาชนิด ให้ประโยชน์แก่มนุษย์เราในทางอ้อมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

การที่โลกเรามีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งของพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อยู่นี้ ก็เปรียบเสมือนการมีขุมทรัพย์ขนาดใหญ่ไว้ให้เราเลือกสรรใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน และความหลากหลายนี้เองก็ช่วยสร้างสมดุลทางธรรมชาติ ทำให้เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่อาจคาดไม่ถึง สิ่งมีชีวิตก็ไม่ได้ตายจากไปทั้งหมด และยังเหลือตัวเลือกอื่นให้เราได้ใช้ประโยชน์ต่อไป ลองจินตนาการดูหากมนุษย์เรามีอาหารบริโภคแค่ข้าวและเนื้อไก่เพียงอย่างเดียว เมื่อวันหนึ่งที่เกิดโรคระบาดกับข้าว จนข้าวสูญพันธุ์ไปหมดทั้งโลก มนุษย์เราก็จะสูญพันธ์ไปกับข้าวด้วย นับเป็นโชคดีที่โลกใบนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหลักประกัน ทำให้มนุษย์เราดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้อย่างมั่นคงกับตัวเลือกในการดำรงชีวิตที่มากมาย

และเมื่อนึกถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพ” เป็นหนึ่งประเด็นที่สำคัญในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 15 (Life on Land) ในการปกป้อง ฟื้นฟ และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในการที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ คือการทำให้ผู้คนรู้จัก เข้าใจ และตระหนักถึงความหลากหลายทางชีวภาพเสียก่อน

● อ่านเพิ่มเติม SDG Vocab | 48 – Biodiversity – ความหลากหลายทางชีวภาพ

หากให้ทุกคนลองถามตัวเองว่า “คุณรู้จักพืชกี่ชนิด?” คำตอบของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปตั้งแต่หลักสิบ หลักร้อย หรือไม่แน่บางคนอาจรู้จักถึงหลักพัน แต่คุณเคยรู้หรือไม่ว่า จากรายงานในวารสาร Biotaxa ปี 2016 มีข้อมูลว่าโลกของเรามีพืชมีท่อลำเลียง (vascular plants) อยู่มากกว่า 300,000 ชนิด และมีการค้นพบพืชชนิดใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยที่พืชที่มีความหลากหลายสูงสุดคือ วงศ์กล้วยไม้ Orchidaceae และวงศ์ทานตะวัน Asteraceae ตามลำดับ แต่เนื่องจากพื้นที่ป่าทั่วโลกลดลงจึงทำให้พืชบางชนิดสูญพันธุ์ไปและบางชนิดอาจหายสาบสูญไปก่อนที่มนุษย์เราจะได้รู้จักมันด้วยเช่นกัน

ในประเทศไทยของเราถือว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชสูง โดยมีพันธุ์พืชมีท่อลำเลียง ซึ่งรวมไปถึงพืชมีดอก พืชเมล็ดเปลือย พืชกลุ่มเฟินและกลุ่มใกล้เคียง ประมาณ 10,600-12,000 ชนิด จากประมาณ 311 วงศ์ (families) เป็นพืชมีเมล็ด 275 วงศ์ และพืชไร้เมล็ดประมาณ 36 วงศ์ นอกจากนี้เรายังมีพืชไม่มีท่อลำเลียงอีกจำนวนมากมาย

คำถามคือ เมื่อเราเจอต้นไม้ปริศนาเราจะรู้ได้ยังไงกันล่ะว่าเจ้าต้นไม้ต้นนี้ชื่ออะไร จากต้นไม้จำนวนมากขนาดนี้ จะมีคู่มืออะไรที่ช่วยให้เราสามารถจัดการกับชื่อกว่าหมื่นชนิดนี้ได้

ความจริงแล้วในประเทศไทยของเรามีโครงการจัดทำหนังสือคู่ข้อมูลของพรรณไม้ทั้งหมดนี้ ในชื่อโครงการ “Flora of Thailand” หรือ “พรรณพฤกษชาติของไทย” ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506) หรือ 59 ปีที่ผ่านมาที่แล้ว โดยเริ่มจากความร่วมมือระหว่างไทยและเดนมาร์ก แล้วจึงขยายมาตั้งกองบรรณาธิการ อันประกอบด้วยนักพฤกษศาสตร์จากไทย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักรในเวลาต่อมา และในปัจจุบันก็ได้รับความร่วมมือจากประเทศเยอรมนี ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และ สิงคโปร์ด้วย ทำให้โครงการนี้มีผู้เชี่ยวชาญต้นไม้แต่ละกลุ่มจากหลายประเทศทั่วโลกมาร่วมจัดทำคู่มือและเขียนข้อมูลต่าง ๆ ของพืชแต่ละชนิดในประเทศไทยมากถึง 15 Volumes รวมเป็นจำนวนกว่า 40 เล่ม ซึ่งหนังสือแต่ละเล่มจะมีเนื้อหาสรุปข้อมูลของพืชหนึ่งหรือหลายวงศ์ และแต่ละวงศ์ก็จะมีข้อมูลภาพรวม รายละเอียดลักษณะต่าง ๆ  รวมถึงรูปวิธานเพื่อใช้ในการหาชื่อของพืชในวงศ์นั้น ๆ โดยจะเป็นชุดคำถามสองตัวเลือกเพื่อให้เราเลือกตอบไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะทราบชื่อต้นไม้ และในชื่อต้นไม้แต่ละต้นนั้นก็จะมีข้อมูลที่มาของชื่อซึ่งย้อนเวลากลับไปตั้งแต่หนังสือ Species Plantarum ของ Carl Linnaeus ในปีค.ศ. 1753 มาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งจะให้ข้อมูลลักษณะภายนอกที่มองเห็นอย่างละเอียดทั้งลำต้น ใบ ดอก ผล เมล็ด รวมไปถึงเส้นขนในส่วนต่าง ๆ ข้อมูลการกระจายพันธุ์ และชื่อเรียกในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีภาพวาดลายเส้นของพืชพรรณบางชนิดและภาพถ่ายสีของชนิดพืชที่สำคัญท้ายหนังสือคู่มือเล่มนั้น ๆ อีกด้วย

หนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand) volume 14 part 1 ตีพิมพ์เมื่อปีค.ศ. 2018
ที่มา: Natural History Book Service

หลายคนอาจไม่รู้ว่า ในประเทศไทยของเรามีกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบชื่อและการจัดกลุ่มของพืชเหล่านี้โดยเฉพาะ ในชื่อเรียกว่า “นักอนุกรมวิธาน” (Plant Taxonomist) ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะคุ้นหูกับคำว่า “นักพฤกษศาสตร์” (Botanist) มากกว่า เราจึงมักเห็นคนกลุ่มนี้ในการเสนอข่าวการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก แต่ความจริงแล้ว การตั้งชื่อพืชชนิดใหม่นั้นไม่ใช่งานหลักของเรา หน้าที่หลักของนักพฤกษศาสตร์คือการ “ดู ตรวจทาน และสำรวจ” พืชในแต่ละกลุ่ม นักพฤกษศาสตร์บางคนดูแลและทำงานกับพืชมากกว่าหนึ่งวงศ์ หรือสำหรับพืชวงศ์ใหญ่ ๆ หลายวงศ์ต้องการผู้ดูแลมากกว่าหนึ่งคน แม้ว่าตำแหน่งอาชีพนักพฤกษศาสตร์นี้ปรากฏอยู่ในหน้าประกาศรับสมัครงานน้อยมาก แต่ในการทำงานจริงนั้น นักพฤกษศาสตร์แฝงตัวอยู่ในหลายหน่วยงาน จากการสำรวจล่าสุดโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศาสตราจารย์ประนอม จันทรโณทัย และคณะ พบว่าปัจจุบันมีนักพฤกษศาสตร์ในช่วงอายุ 30-60 ปีที่ยังมีงานวิจัยต่อเนื่องอยู่ประมาณ 57 คน ทำงานอยู่ในตำแหน่งนักวิจัยหรือนักวิชาการตามสถาบันต่าง ๆ เช่น หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (BKF) สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง นอกจากนี้ ในไทยยังมีนักอนุกรมวิธานรุ่นใหม่ที่ข้อมูลนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและจะกลับมาสานต่องานในอนาคตด้วยเช่นกัน

งานของนักพฤกษศาสตร์ก็เหมือนกับงานของนักวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ๆ ที่จะต้องทำการศึกษาวิจัย โดยสิ่งที่เราสนใจเป็นหลักก็คือพืชแต่ละชนิดในกลุ่มพืชที่เราศึกษานั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร มีวิธีใดบ้างที่ทำให้ระบุชนิดได้ง่ายที่สุด แต่ละชนิดมีการจัดหมวดหมู่อย่างไร และมีวิวัฒนาการมาอย่างไร ในภาพจำของคนทั่วไปคงจะเห็นภาพนักพฤกษศาสตร์เดินไปทั่วป่าและจด ๆ อะไรสักอย่าง นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของงานเรา นักพฤกษศาสตร์จะต้องออกสำรวจตามพื้นที่ป่าต่าง ๆ ให้ครอบคลุมมากที่สุดเพื่อให้ได้เห็นสิ่งมีชีวิตนั้นในสภาพแวดล้อมพื้นที่จริงและทำความเข้าใจความหลากหลายของมันให้มากที่สุด ทำการเก็บข้อมูล ถ่ายภาพ วาดภาพ และเก็บตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์พืช

การออกเก็บข้อมูลภาคสนาม เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จ. เลย 2565

ไม่เพียงแต่การทำงานในป่าเท่านั้น นักพฤกษศาสตร์ยังต้องศึกษาข้อมูลงานวิจัยตีพิมพ์ของพืชกลุ่มที่ตนเองดูแลรับผิดชอบ โดยค้นหาและอ่านเอกสารอย่างน้อยนับตั้งแต่หนังสือ Species Plantarum ของ Carl Linnaeus ปี 1753 จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้แน่ใจว่ารู้ข้อมูลทุกอย่างที่ทุกคนเคยกล่าวถึงในกลุ่มพืชที่ตนเองรู้จัก และที่สำคัญอีกประการคือการศึกษาตัวอย่างอ้างอิงพรรณไม้ในพิพิธภัณฑ์พืชต่าง ๆ ซึ่งกระจายอยู่ในหลายมุมโลก โดยเฉพาะหอพรรณไม้ที่มีการทำงานใกล้ชิดกับประเทศไทย เช่น สถาบันพฤกษศาสตร์เมืองออร์ฮุส หอพรรณไม้มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก สวนพฤกษศาสตร์คิว และสวนพฤกษศาสตร์เอดินเบอร์ก สหราชอาณาจักร หอพรรณไม้ไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ หอพรรณไม้ปารีส ประเทศฝรั่งเศส และสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยนอกจากหอพรรณไม้ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (BKF) แล้วก็ยังมีอีกหลายแห่งที่สำคัญ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พืชสิรินธร กรมวิชาการเกษตร (BK) สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ (QBG) และหอพรรณไม้ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  ซึ่งหอพรรณไม้เหล่านี้เป็นเหมือนขุมทรัพย์ทางความรู้ของนักพฤกษศาสตร์ที่ทำให้ได้เห็นตัวอย่างต้นไม้ที่ตนเองศึกษาที่เก็บรวบรวมมาจากหลายแหล่งทั่วโลกตลอดระยะเวลากว่าร้อยปีและสามารถเปรียบเทียบพืชพันธุ์ต่าง ๆ ได้ในเวลาไม่กี่วัน (แต่บางครั้งก็เป็นปี) หอพรรณไม้เหล่านี้จึงถือเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับงานของพวกเรามาก

นอกเหนือไปจากการดูลักษณะภายนอกเพื่อเปรียบเทียบแล้ว นักอนุกรมวิธานพืชก็ยังต้องทำการศึกษาวิวัฒนาการของพืชโดยใช้สารพันธุกรรมเพื่อให้เข้าใจถึงการจัดกลุ่มของพืชที่ถูกต้องและทราบที่มาของการเปลี่ยนแปลงของลักษณะต่าง ๆ อาทิ รูปทรงของดอก การเรียงตัวของใบ รวมถึงวิวัฒนาการร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ซึ่งข้อมูลรายละเอียดเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจที่มาของความหลากหลายทางธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้น และบางครั้งข้อมูลเชิงเทคนิคในระดับโมเลกุลเหล่านี้ก็ยังช่วยไขปริศนาในพืชชนิดที่ซับซ้อนและยากต่อการระบุชนิด นักอนุกรมวิธานพืชบางคนยังใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่ตนหรือทีมมีความถนัดเช่น การศึกษาทางกายวิภาค การศึกษาเรณู ฯลฯ เข้ามาประกอบในการศึกษาด้วย

ในแต่ละปีมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความหลากหลายของพืชในไทยปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมสำคัญของโครงการพรรณพฤกษชาติของไทยที่มีมายาวนานนี้ คือการประชุมวิชาการนักพฤกษศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวกับงานอนุกรมวิธานพืชในประเทศไทย ในนาม “การประชุมนานาชาติพรรณพฤกษชาติ (Flora of Thailand Conference)” โดยจะจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี และให้ประเทศสมาชิกโครงการหมุนเวียนกันเป็นประเทศเจ้าภาพ โดยการประชุมสองครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ในปีค.ศ. 2014 มีเจ้าภาพคือ Royal Botanical gardens, Kew สหราชอาณาจักร และในปีค.ศ. 2017 มีเจ้าภาพคือหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประเทศไทย สำหรับการประชุมครั้งถัดไป คือ 18th Flora of Thailand Conference จะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ปีค.ศ. 2022 นี้ที่ Singapore Botanic Gardens ซึ่งก็จะเป็นโอกาสอันดีที่ให้เหล่านักพฤกษศาสตร์ได้มาประชุมและนำเสนอถึงความก้าวหน้าของหนังสือพรรณพฤกษชาติของไทยและทิศทางงานวิจัยในอนาคต

ตัวอย่างการค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ในโครงการ Flora of Thailand

บัวหิน (Stephania kaweesakii Jenjitt. & Ruchis.)

พืชชนิดใหม่ของโลก ตีพิมพ์เมื่อปีพ.ศ. 2563 ไม้หัวนิยมปลูกเป็นไม้กระถาง ปัจจุบันได้รับความนิยมมาก แต่สร้างปัญหาการขุดจากธรรมชาติมาขายทำให้รบกวนประชากรในธรรมชาติ

ว่านหาวนอน (Kaempferia rotunda L.)

พืชล้มลุกในวงศ์ขิง ใช้เป็นอาหาร สมุนไพร และไม้ประดับ มีใบและดอกที่สวยงาม ช่วงออกดอกจะไม่มีใบเหมือน Crocus ในประเทศเขตอบอุ่น

เทียนทวาย (Impatiens tanintharyiensis Ruchis., Suksathan & Saw-Lwin)

ตีพิมพ์ครั้งแรกในเมืองทวายประเทศเมียนมา เมื่อปีพ.ศ. 2560 พบการกระจายพันธุ์ในไทยครั้งแรกในปีพ.ศ. 2564 เป็นพืชหายากขึ้นในที่ชื้น เหมาะกับการผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ


การมีข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของพืชที่สมบูรณ์ในประเทศไทยจะนำไปสู่การวางแผนการจัดการในด้านต่าง ๆ ที่ดีขึ้น เราสามารถนำความรู้นี้ไปใช้เพื่อระบุพื้นที่ที่มีความเปราะบางทางนิเวศ เพื่อการเลือกพื้นที่ที่ต้องการการอนุรักษ์และคุ้มครองอย่างเร่งด่วนและวางแผนจัดการให้เหมาะสม ความหลากหลายของพรรณไม้เหล่านี้ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาในมิติทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย อาทิ การใช้พรรณพืชที่สวยงามหรือโดดเด่นมาสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อให้คนในพื้นที่ร่วมกันรักษาธรรมชาติและมีรายได้เพิ่มขึ้น (เกี่ยวข้องกับเป้าหมาย SDG 1 – การขจัดความยากจน และ SDG 8 – งานที่มึคุณค่าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ) การส่งเสริมพืชอาหารต่าง ๆ เพื่อให้คนในประเทศมีตัวเลือกอาหารที่หลากหลายมากขึ้น มีความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น (SDG 2 – ขจัดความหิวโหย) การนำความรู้ไปต่อยอดตรวจสอบหาสารเคมีชนิดใหม่จากธรรมชาติและการนำสารสกัดจากพืชไปค้นหาฤทธิ์ทางชีวภาพใหม่ ๆ เพื่อใช้เป็นยาในอนาคตในโลกที่มีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ (SDG 3 – สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) การคัดเลือกชนิดพืชที่มีความเหมาะสมและทนทานต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาใช้กับพื้นที่เมืองในอนาคต (SDG 13 – การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ SDG 11 – เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) การจัดการพื้นที่ในทะเลที่เป็นที่อยู่ของพืชน้ำที่เป็นอาหารของสัตว์ทะเลบางชนิด (SDG 14 – ทรัพยากรทางทะเล) จะเห็นได้ว่า การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพพืชนั้นจึงไม่ใช่เพียงเกี่ยวโยงกับ SDG 15 – ระบบนิเวศบนบก เท่านั้น แต่ยังช่วยสนับสนุนและตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอีกหลาย ๆ ด้านได้อีกด้วย

เนตรธิดาร์ บุนนาค – พิสูจน์อักษร


อ้างอิง

วรดลต์ แจ่มจำรูญ. 2562. คู่มือจำแนกพรรณไม้ พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพ. กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้. สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 232 หน้า

Christenhusz M.J.M,  Byng J.W. 2016. The number of known plants species in the world and its annual increase. Phytotaxa 261 (3): 201–217

Clark R., Wearn J, Simpson D.A. 2014. Abstracts from 16th Flora of Thailand Conference 2014. THAI FOR. BULL. (BOT.) 42: 105–152. 

Puff C., Chayamarit K., Chamchumroon V., Esser H.J. 2021. Rubiaceae (Genera 1–45). In: K. Chayamarit & H. Balslev (eds), Flora of Thailand Vol. 15 Part 1: 1–235. Prachachon Co. Ltd., Bangkok.

Last Updated on มีนาคม 30, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น