COP 27 ย้ำการปกป้อง ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ เชื่อมโยงกับ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ เป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกออกจากกัน

สิ้นสุดลงแล้วกับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 (COP27) จัดขึ้น ณ เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565 พบว่ามีสาระสำคัญที่น่าสนใจ จากการประชุมเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งได้กล่าวถึงประเด็น วิกฤตสภาพภูมิอากาศและวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพว่าหลายปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเด็นมีแนวทางดำเนินการที่แยกออกจากกัน แต่ความเป็นจริงแล้วนั้น ‘ไม่มีทางเป็นไปได้‘ ที่จะจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) หากไม่มีการปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติอย่างเร่งด่วน 

การประชุม COP27 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 เป็นวันที่เปิดโอกาสให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ตั้งแต่การระดมวิธีดำเนินการทั่วโลกเพื่อจัดการกับความท้าทายเเละหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษ รวมถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อมหาสมุทร สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เเละแนวปะการัง  

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme: UNEP) อธิบายความเชื่อมโยงว่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาคและระดับโลก ในขณะที่ระบบนิเวศทางธรรมชาติจะมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสภาพอากาศและสามารถช่วยกักเก็บคาร์บอนได้ แต่การสูญเสียป่าไม้ การระบายพื้นที่ชุ่มน้ำ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ล้วนมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งสิ้น ซึ่งจากข้อมูลของ UNEP ความพยายามที่จะลดการตัดไม้ทำลายป่า ลดกิจกรรมที่ทำให้ป่าเสื่อมโทรม (forest degradation) และการฟื้นฟูระบบนิเวศ นับมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประจำปีได้ 

ตัวอย่างปรากฏการณ์ที่สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ

  • มหาสมุทร สัตว์หลายสายพันธุ์ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการย้ายถิ่น พืชต้องต่อสู้ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ รวมถึงหมีขั้วโลก ซึ่งเป็นสัตว์ที่แสดงถึงการได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ต้องหิวโหย เนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้ไม่มีน้ำแข็งในทะเล
  • แนวปะการัง เป็นแหล่งอาหารและที่พักพิงของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ กว่า 7,000 สายพันธุ์ กำลังจะตายลง เนื่องจากความร้อนและความเป็นกรดของมหาสมุทร (ocean acidification) โดย Ellie Goulding ทูตสันถวไมตรีของ UNEP ได้เปิดตัวโครงการริเริ่มใหม่ที่การประชุม COP27 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปกป้องหมู่สัตว์เหล่านี้ โดยหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส 70 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของแนวปะการังทั้งหมดจะสูญหายไป แต่หากโลกร้อนขึ้นถึง 2.0 องศาเซลเซียส ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 99 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องอาศัยความพยายามอย่างจริงจังในการลงทุน ฟื้นฟู และปกป้อง แนวปะการัง
  • ป่าแอมะซอน Luiz Inacio Lula da Silva ประธานาธิบดีบราซิล ได้เน้นย้ำว่าประเทศบราซิลจะต่อสู้กับการตัดไม้ทำลายป่าที่ผิดกฎหมายในแอมะซอนอย่างจริงจังและมีเป้าหมายที่จะเป็นเจ้าภาพ COP30 ในปี 2568 ซึ่งการให้ความสำคัญกับป่าแอมะซอนและป่าเขตร้อน มีเป็นประโยชน์มหาศาลต่อสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และผู้คนในแอมะซอน
  • นักเคลื่อนไหวชนพื้นเมือง เปรียบเสมือนผู้พิทักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ที่ผ่านมาชุมชนพื้นเมืองต้องเผชิญพายุไซโคลนพัดถล่ม 2 ครั้งในเวลาเพียงปีเดียวและคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก ซึ่งนักเคลื่อนไหวชนพื้นเมืองหวังว่าผู้นำโลก จะเรียนรู้และไม่ทอดทิ้งในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งนี้ เพราะชนพื้นเมือง มีส่วนปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของโลกมากกว่าร้อยละ 80

จากการหารือเรื่องดังกล่าว ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น หวังจะเห็นความเต็มใจและความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปพร้อมกับการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะสองสิ่งนี้ล้วนเกี่ยวเนื่องกันทั้งสิ้น ซึ่งการประชุมครั้งนี้ คงไม่มีความหมายหากการปฏิบัติต่อไป ยังคงเป็นเพียงแค่คำพูดแต่ไม่อาจแสดงถึงความทะเยอทะยานถึงความคืบหน้าในการกระทำและนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดออกเอกสารแสดงจุดยืนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและชดเชยทางการเงินให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบ
‘Glasgow Climate Pact’ ข้อตกลงจากการประชุม COP26 ที่ยังคงเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลก ‘1.5°C’ แต่ล้มเหลว ‘ยุติการใช้ถ่านหิน’
การศึกษาใหม่พบว่าโลกเหลือพื้นที่ที่ยังคงมีสภาพทางนิเวศวิทยาที่สมบูรณ์เพียง 3% เท่านั้น
รายงานสถานะแนวปะการังจากข้อมูล 40 ปี พบว่า โลกสูญเสียแนวปะการังไปถึง 14% ภายในช่วงแค่สิบปีที่ผ่านมา
ประชุม COFO ครั้งที่ 26 นานาประเทศหารือความเชื่อมโยงของป่าไม้-การเกษตร กับ ‘climate change’ หวังหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
SDG Updates | Climate Change ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ – สิ่งที่รัฐต้องตระหนักจากรายงาน IPCC ล่าสุด 
SDG Updates | Flora of Thailand – พรรณพฤกษชาติของไทย นักพฤกษศาสตร์กับการพิทักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าไทย 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
– (13.a) ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการบรรเทาที่ชัดเจนและมีความโปร่งใสในการดำเนินงานและทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินการอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน
#SDG14 นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
– (14.3) ลดและแก้ปัญหาผลกระทบของความเป็นกรดในมหาสมุทร โดยผ่านทางการเพิ่มพูนความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ในทุกระดับ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
– (15.7) ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อจะยุติการล่าและการขนย้ายชนิดพันธุ์พืชและสัตว์คุ้มครอง และแก้ปัญหาทั้งอุปสงค์และอุปทานต่อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย
– (15.c) เพิ่มพูนการสนับสนุนในระดับโลกสำหรับความพยายามที่จะต่อสู้กับการล่า การเคลื่อนย้ายชนิดพันธุ์คุ้มครอง รวมถึงโดยการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

แหล่งที่มา:
COP27: Protecting biodiversity is protecting the Paris Agreement | UN News 
Biodiversity Day –  COP27

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย 

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น