รู้จัก ‘InforMEA’ กันหรือยัง? เว็บไซต์รวบตึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมคอร์สออนไลน์ฟรีสุดปึ้ง

‘ความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม’ เป็นหนึ่งในโจทย์ท้าทายหลักของการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ผ่านมาเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศจึงมีข้อตกลงพหุภาคีเป็นจำนวนมากเพื่อเร่งรัดจัดการประเด็นสิ่งแวดล้อมรายประเด็น ทั้งผ่านอนุสัญญา พิธีสาร ข้อตกลง และที่ไม่มีผลบังคับทางกฎหมายแต่เป็นคำมั่นสัญญาทางการเมืองที่มีการรับรองโดยรัฐบาล เช่น ปฏิญญา แผนต่าง ๆ ซึ่งความตกลงเหล่านี้เรียกว่า ‘ความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งล้อม’ (Multilateral Environmental Agreements: MEAs)

เพื่อช่วยให้คนทำงานขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ หรือผู้ที่สนใจเกี่ยวกับความตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม เช่น อนุสัญญาบาเซล พิธีสารเกียวโต และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล โดยได้มีเครื่องมือในการเรียนรู้ สืบค้นข้อมูล หรือติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับข้อตกลงหรือประเด็นเกี่ยวข้องต่าง ๆ SDG Recommends ฉบับนี้ชวนรู้จักกับ InforMEA เว็บไซต์แสนดีงามจากองค์การสหประชาชาติ ที่รวบรวมข้อมูล ความรู้ และคำแนะนำเกี่ยวกับ MEAs เอาไว้อย่างครบเครื่อง 

เว็บไซต์ดังกล่าวมีหมวดหมู่ที่น่าสนใจในการเข้าถึงข้อมูล เช่น

  • Treatiesรวบรวมเนื้อหาของความตกลงพหุภาคี ทั้งอนุสัญญา พิธีสาร ข้อตกลงต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยได้ระบุประเด็นหลักของความตกลงประกอบให้ด้วย
  • Parties – ช่วยให้ผู้เข้าชมค้นหาข้อมูลรายประเทศที่เกี่ยวกับข้อตกลงหรือกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม โดยครอบคลุมถึงทั้งความตกลงพหุภาคีที่ประเทศนั้น ๆ ลงนามรับรอง/มีความผูกพัน และกฎหมาย/ข้อบังคับภายในประเทศที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 
  • Law and Cases – นำเสนอกรณีศึกษาและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติ ฝ่าฝืน หรือละเมิดข้อตกลง/กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลก ซึ่งชวนให้เห็นถึงสถานการณ์ สาเหตุ และแนวทางการจัดการ
  • Events – รวบรวมกิจกรรม/การประชุมที่เกี่ยวข้องกับความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม โดยผู้ชมสามารถค้นหาได้ตามช่วงเวลา ประเด็นที่สนใจ หรือภูมิภาคที่จัดกิจกรรมดังกล่าวได้
  • Free Online Course – คอร์สออนไลน์ที่ช่วยให้เข้าใจประเด็นได้อย่างหลากหลายที่เกี่ยวความตกลงด้านสิ่งแวดล้อม เช่น คอร์สแนะนำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับอนุสัญญาแรมซา และคอร์สเกี่ยวกับธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ ฟีเจอร์ในการค้นหายังแยกย่อยให้เลือกได้ตามประเด็นที่สนใจถึง 5 ประเด็น ได้แก่ เคมีและขยะ/ของเสีย สภาพภูมิอากาศและชั้นบรรยากาศ ความหลากลายทางชีวภาพ ทะเลและน้ำจืด และ ที่ดินและการเกษตร

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง ●
– รายงาน WWF เผยประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกหายไปเกือบ 3 ใน 4 ภายใน 50 ปี
– สัตว์-พืช กว่าล้านสายพันธุ์เสี่ยงสูญพันธุ์เร็วขึ้น ผลจาก climate change เเละมลพิษ กระทบระบบนิเวศทั่วโลก
– COP 27 ย้ำการปกป้อง ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ เชื่อมโยงกับ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ เป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกออกจากกัน
– การประชุม CMS COP14 เตือนสัตว์อพยพทั่วโลกกำลังลดลง-เสี่ยงสูญพันธุ์ เหตุจากกิจกรรมของมนุษย์ 
– SDG Updates | Plant-Based Diet กุญแจสำคัญเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลก
3 มีนาคม ‘วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก’ เน้นย้ำการลงทุนอนุรักษ์-ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อลดการเสี่ยงสูญพันธุ์

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและการไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG14 นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563

แหล่งที่มา: InforMEA

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น