การประชุม CMS COP14 เตือนสัตว์อพยพทั่วโลกกำลังลดลง-เสี่ยงสูญพันธุ์ เหตุจากกิจกรรมของมนุษย์

สัตว์ป่าที่อพยพทั่วโลกกำลังลดลงเกือบครึ่ง และมากกว่า 1 ใน 5 กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงปลาเกือบทั้งหมดที่อยู่ในรายการอนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่น (Convention on the Conservation of Migratory Species of Wild Animals: CMS) เสี่ยงสูญพันธุ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  มลภาวะ รวมถึงภัยคุกคามจากชนิดพันธุ์รุกรานที่เพิ่มขึ้น 

รายงาน ‘State of the World’s Migratory Species Reportหรือ รายงานสถานการณ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพของโลก จัดทำโดย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติโลกศูนย์อนุรักษ์การตรวจสอบ (UNEP-WCMC) รายงานดังกล่าวเผยแพร่ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่น ครั้งที่ 14 (CMS COP14) ณ เมืองซามาร์คันด์ ประเทศอุซเบกิสถาน เป็นรายงานฉบับแรกที่ได้ประเมินสถานการณ์ชนิดพันธุ์ที่อพยพของโลกที่ครอบคลุมทั้งภาพรวมของสถานะการอนุรักษ์ และแนวโน้มจำนวนประชากรของสัตว์อพยพทั้งชนิดพันธุ์ที่อยู่ในรายการและไม่อยู่ในรายการของอนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่น

จากรายงานมีข้อค้นพบที่น่าสนใจ ดังนี้

  • เกือบครึ่งหนึ่ง หรือประมาณร้อยละ 44 ของจำนวนสัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่น ตามที่ระบุในรายการอนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพ กำลังมีจำนวนประชากรลดลง
  • มากกว่า 1 ใน 5  หรือประมาณร้อยละ 22 ของชนิดพันธุ์ที่อยู่ในรายการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่น กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
  • ปลาที่อยู่ในรายการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่นเกือบทั้งหมด หรือประมาณร้อยละ 97 กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
  • ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์กำลังเพิ่มขึ้น สำหรับชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพในทั่วโลก รวมถึงชนิดพันธุ์ที่ไม่อยู่ในรายการภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่นด้วย
  • ครึ่งหนึ่ง หรือประมาณร้อยละ 51 ของพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ระบุว่ามีความสำคัญสำหรับสัตว์ป่าที่อพยพ ตามรายการ CMS ไม่ได้รับสถานะในการคุ้มครอง และร้อยละ 58 ของพื้นที่ที่ได้รับการตรวจสอบ ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญ สำหรับชนิดพันธุ์ที่อยู่ในรายการ CMS กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากฝีมือมนุษย์ในระดับที่ไม่ยั่งยืน
  • ภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดของสัตว์ป่าที่อพยพมี 2 ประการ คือ หนึ่ง การแสวงหาผลประโยชน์มากเกินไป และ สอง การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลภาวะ และชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน มีผลกระทบอย่างมากต่อชนิดพันธุ์สัตว์ที่อพยพ
  • ทั่วโลกยังมีชนิดพันธุ์ที่อพยพอีก 399 ชนิดที่ถูกคุกคามหรือใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งไม่อยู่ในรายการอนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่น

Amy Fraenkel เลขาธิการบริหาร CMS ระบุว่า “เมื่อสายพันธุ์ต่าง ๆ อพยพข้ามพรมแดนประเทศ การอยู่รอดของสิ่งเหล่านั้นขึ้นอยู่กับความพยายามของทุกประเทศที่พบ ซึ่งรายงานสำคัญนี้จะช่วยสนับสนุนการปฏิบัติตามนโยบายที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพยังคงเจริญเติบโตต่อไปทั่วโลก”

รายงานฉบับนี้ แสดงให้เห็นถึงภาพรวมทั่วโลกเกี่ยวกับสถานะการอนุรักษ์และแนวโน้มจำนวนประชากรของสัตว์อพยพ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ประสบความสำเร็จและการดำเนินการเชิงบวก รวมถึงการประสานงานความพยายามในระดับท้องถิ่น เพื่อลดการดักจับนกอย่างผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในไซปรัส ได้ลงร้อยละ 91 อย่างไรก็ดี นี้ถือเป็นรายงานสำคัญที่ช่วยประเมินสถานการณ์ของสัตว์หลายพันล้านตัวที่กำลังอพยพในแต่ละปีทั่วโลก เพื่อช่วยรักษาระบบนิเวศของโลกให้มั่นคงปลอดภัยต่อไปทั้งต่อธรรมชาติและมนุษย์

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.5) ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี พ.ศ. 2563 ปกป้องและป้องกันการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม
– (15.7) ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อจะยุติการล่าและการขนย้ายชนิดพันธุ์พืชและสัตว์คุ้มครอง และแก้ปัญหาทั้งอุปสงค์และอุปทานต่อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย
– (15.c) เพิ่มพูนการสนับสนุนในระดับโลกแก่ความพยายามที่จะต่อสู้กับการล่า การเคลื่อนย้ายชนิดพันธุ์คุ้มครอง รวมถึงโดยการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Last Updated on มีนาคม 4, 2024

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น