SDG Insights | ไวรัส มนุษยธรรม การพัฒนาที่ยั่งยืน

โดย ญาณิน จิวะกิดาการ หุยากรณ์

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยกระดับการระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก หรือ a global health emergency เป็นการยืนยันความรุนแรงของสถานการณ์หลังจากความสับสนระหว่างข่าวเล่าข่าวลือกับข้อมูลจริง อันทำให้เกิดความลังเลในการปฏิบัติตัวของสาธารณชนที่ก่อตัวมาร่วมเดือน

แต่ภายใต้การประกาศนี้ ข้อความหลักมิใช่การยืนยันว่าเชื้อโรคกระจายออกไปนอกประเทศจีน แต่เป็นการระดมความร่วมมือของนานาชาติในการต่อกรกับไวรัสโคโรนา นอกจากนี้ ผู้นำองค์กรอนามัยโลกยังกล่าวเสนอแนะต่อนานาประเทศ อย่างชัดเจนว่ามิควรปิดกั้นการเดินทาง (travel) และการค้า (trade) กับจีน ถึงแม้จะมีมาตรการปิดพรมแดนหรือการจำกัดการตรวจลงตรามาบังคับใช้ไปแล้วบ้างในหลายพื้นที่ก็ตาม

ประเทศไทยได้มีการตอบรับตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่มีหนังสืออย่างเป็นทางการต่อประชาชนชาวจีนว่าจะยังคงต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนเช่นเดิม ตรงนี้ หากไม่ได้ทราบถึงแนวทางขององค์การอนามัยโลกก็อาจมองกันได้ว่าเป็นมาตรการที่เห็นแก่การพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่พยายามปกป้องประชาชนของตนอย่างดีที่สุด จนเป็นหนึ่งในกระแสวิพากษ์ในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง และสิ่งที่ตามมาจากความรู้สึกประหนึ่งมิสามารถหยุดยั้งการเข้ามาของไวรัสได้เช่นนี้ ทำให้ประชาชนต้องพึ่งตนเอง ป้องกันตนเองทุกทางอย่างสิ้นหวัง ซึ่งหนึ่งวิธีคือการเลี่ยงการติดต่อกับ “ประชากรกลุ่มเสี่ยง” อันได้แก่ผู้ที่คาดว่ามีการติดต่อกับผู้ป่วยหรือพาหะในพื้นที่ระบาดนั่นเอง

ผู้คนเดินหนีคนจีน แท็กซี่ไม่รับผู้โดยสารชาวจีน ร้านอาหารไม่รับนักท่องเที่ยวชาวจีน ตระหนกไม่ให้ชาวจีนขึ้นโดยสารลิฟต์ตัวเดียวกัน แสดงท่ารังเกียจไม่ขายของให้ชาวจีน ไม่อยากขายให้กระทั่งหน้ากากอนามัย ฯลฯ

กระนั้น ปัญหาคือ พฤติกรรมเช่นนี้ยากที่จะเรียกว่าการป้องกันตนจากไวรัส แต่ออกจะเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็น “การเลือกปฏิบัติ” เป็น “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” ที่กระทำกับมนุษย์ด้วยกัน

การเรียกไวรัสโคโรน่าว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” หรือกระทั่งการขยายเรื่องเล่าเกี่ยวกับการบริโภคอาหารป่าในพื้นที่มณฑลหูเป่ย์ว่าเป็นที่มาของการติดไวรัสในคนอย่างไม่รู้สึกอะไร ถือเป็นการจุด stigma หรือตีตราบาปให้กับผู้ร่วมโลกกลุ่มหนึ่ง เป็นความรุนแรงที่ซับซ้อนและแก้ไขได้ยากที่เรียกว่า “ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม”

ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) เป็นปรากฏการณ์ที่มีคนกลุ่มหนึ่งได้ (ในที่นี้คือกลุ่มผู้ที่ถูกเข้าใจว่าเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยง) ถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนอีกกลุ่มอย่างชัดเจน (กลุ่มผู้ที่คิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นประชากรกลุ่มเสี่ยง) จนเกิดเป็นการใช้ลักษณะทางกายภาพและวัฒนธรรมที่ผูกติดกับกลุ่มที่ถูกเอาเปรียบเป็นสัญญะของความน่ารังเกียจ ความสกปรก จนเป็นสถานการณ์ของความอยุติธรรม และเมื่อความอยุติธรรมนี้เกิดเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในสังคมจนพินิจได้ยากว่าเป็นความรุนแรงแล้ว เมื่อนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจะเข้าข่ายว่าได้ยกระดับเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (cultural violence) ความรุนแรงทั้งสองประเภทสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดความรุนแรงทางตรง (direct violence) ซึ่งก็คือการเข้าประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกายได้ ไม่ว่าจะจากฝ่ายใดก็ตาม

ต้องเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า หัวใจของเรื่องนี้ คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเกิดได้จากการร่วมมือกันของนานาชาติในการเยียวยาและป้องกันตนจากไวรัส มิใช่จากชาวจีน

ยากที่จะปฏิเสธว่า โรคระบาดเป็นไม้เบื่อไม้เมากับการพัฒนามาตลอดไม่ว่ามนุษย์จะพยายามต่อกรกับมันสักเท่าไร ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมีการจารึกการล่มสลายของอารยธรรมที่เกิดจากโรคระบาดไว้มากมาย ยุคมืดที่หยุดความรุ่งเรืองของยุโรปเป็นเวลานานก็มีชีวิตนับล้านที่ต้องสูญเสียไปด้วยฝีมือของกาฬโรค กระทั่งปัจจุบันที่วิทยาศาสตร์การแพทย์มีความก้าวหน้าทันสมัย การพัฒนา โดยเฉพาะในประเทศที่ยากจน ก็ยังถูกท้าทายจากไวรัสอย่าง HIV ที่ส่งผลต่อปัญหาทางสังคม เช่น ความยากจนและทางเศรษฐกิจอย่างแยกกันไม่ออก กรณีไวรัสโคโรนา หรือ 2019-nCoV เป็นเครื่องยืนยันล่าสุดว่ามนุษย์ก็ยังตามก้นวิวัฒนาการอันไม่สิ้นสุดของสิ่งมีชีวิตที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่านี้เรื่อยไป (ถ้าไม่นับทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจยาที่อาจพัฒนาไวรัสขึ้นมาเองเพื่อขายยารักษา) และมนุษย์ก็ต่อสู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตเรื่อยมา

เรื่องนี้เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างไรบ้าง

เป้าหมายหลักในการพัฒนาข้อที่ 3 ของ Sustainable Development Goals ว่าด้วยชีวิตที่มีสุขภาพดีและสุขภาวะของทุกคนทุกช่วงวัย เกี่ยวกับไวรัสโคโรนานี้ ได้มีการระบุเกี่ยวกับบทบาทของโรคระบาดต่อการพัฒนาในเป้าหมายที่ 3.3 ความว่าภายในปี 2573 จะต้องมีการยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรียและโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยและต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่นๆ และในเป้าหมายเชิงกระบวนการข้อที่ 3.d ว่าด้วยการเสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศ และระดับโลก

ประเด็นที่มีการคำนึงเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว แม้ไม่ใช่สาส์นหลักในที่นี้ แต่ก็เป็นการคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายหลักที่ 8 เศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน โดยเฉพาะเป้าหมายข้อที่ 8.4 การส่งเสริมผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และข้อที่ 8.9 การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่แท้แล้วสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการให้ความรู้เรื่องการจัดการสถานการณ์ระบาดของโรคตามเป้าหมายที่ 3.c เกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ได้ระบุไว้ข้างต้น

การดำเนินการในสองเป้าหมายหลักนี้มีความต่อเนื่องและก้าวหน้าในระดับโลก แต่นั่นเป็นเพียงมิติของการเสริมสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพียงด้านเดียวเท่านั้น

เราต้องไม่ลืมเป้าหมายหลักที่ 16 ระบุความสัมพันธ์ที่แยกไม่ได้ระหว่างการพัฒนากับการส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุม การเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ ที่มีเป้าหมายที่ 16.1 มีการสะกดถึงการลดความรุนแรงทุกรูปแบบ

การตีตราบาปให้กับชาวอู่ฮั่น ทั้ง ๆ ที่เป็นพื้นที่ที่โชคร้ายที่สุด การแสดงความรังเกียจและเลือกปฏิบัติต่อชาวจีนโดยไม่มีมูลใด ๆ ว่าเขาเป็นพาหะ การโหมกระพือความหวาดกลัวภายใต้ข้อมูลที่มีภาษาเชิงลบต่อชาวจีน สิ่งเหล่านี้เป็นความรุนแรงอย่างมิต้องสงสัย

วัยรุ่นชาวจีนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยมานาน ต้องพบเจออะไรบ้างจึงต้องเปรยออกมาว่า “May the virus doesn’t hurt your heart”

เมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง ชาวไทย ประเทศไทย อยากจะทิ้งภาพจำแบบไหนไว้ให้กับชาวจีน หนึ่งในประเทศมหาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลก อย่าลืมว่าเศรษฐกิจการค้าของประเทศไทยมีความเกี่ยวเนื่องพึ่งพาประเทศจีนอย่างแนบแน่น เป้าหมายหลักที่ 8 ที่ว่าด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องกระเทือนไม่มากก็น้อย และถึงไม่กระเทือน เชื้อไฟก็ได้สุมรวมกันไว้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่อยากให้เป็นเรื่องของความกินดีอยู่ดีเท่านั้น แต่ให้เป็นเรื่องของมนุษยธรรมมากกว่า

“This is time for solidarity, not stigma”

ผู้อำนวยการสูงสุดแห่งองค์การอนามัยโลกถึงได้เน้นย้ำความสำคัญของการร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน…

ช่วงเวลาวิกฤตินั้นหาใช่เวลาที่มาตราหน้าใครหรือประชาชนของประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ แล้วก็ไม่ใช่เวลาที่คนในประเทศจะสาด hate speech สร้างความแตกแยกที่ก่อมาจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน

ผู้อุดมมนุษยธรรมทุกผู้ต้องมีส่วนร่วมผลักดันในเรื่องนี้ให้เป็นในทางที่ดีขึ้นไม่ว่าจะในบทบาทใดก็ตาม

ภาพ : Getty Images

Last Updated on มีนาคม 18, 2020

Author

  • Yanin Chivakidakarn Huyakorn

    Deputy Director of Knowledge Communications | คุณแม่นอนน้อย ผู้ชอบนั่งฝันกลางวันว่า วันหนึ่งจะตื่นมาในแดนอิเซไค มีชีวิตใหม่เป็นน้องสาวของจอมคนแดนฝัน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น