การแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน : เมื่อการสร้างความตระหนักไม่เพียงพอ

โดย ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี

เมื่อใกล้หมดหน้าฝนประชาชนชาวไทยจำนวนมากต่างเฝ้ารอการมาถึงของ “ฤดูหนาว” ที่จะมาพร้อมกับอากาศที่เย็นสบายคลายร้อน ทว่าก็ไม่ใช่ทุกปีที่พื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศจะโชคดีได้สัมผัสถึงลมหนาวในช่วงก่อนสิ้นปีจนถึงช่วงหลังปีใหม่ สิ่งที่มากับลมหนาวซึ่งสร้างปัญหาหลายๆ ด้านให้กับประเทศไทยทุกปี และยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นั่นก็คือมลพิษหมอกควัน โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) หลายพื้นที่ในประเทศไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคใต้ ถูกปกคลุมด้วยมลพิษและหมอกควัน ผู้คนในเมืองต้องอยู่กับอากาศที่มีฝุ่นละออง PM2.5 เกินกว่าค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม ถึง เดือนเมษายน 2562 เมืองเชียงใหม่ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดในโลก ส่วนกรุงเทพมหานครเองก็ติดอันดับนี้เช่นกันเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา


*ข้อมูลจาก IQAir AirVisual เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 เวลา 18:10 น.

แม้ปัญหามลพิษในแต่ละภาคของประเทศอาจจะมีสาเหตุต่างกันแต่ผลกระทบทางลบกลับมีความคล้ายคลึงกัน โดยข้อมูลจากทั้งภาคธุรกิจและราชการพบว่า ปัญหาหมอกควันส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง ทำให้จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ ผิวหนัง ดวงตา รวมไปถึงผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต (Roberts et al., 2019) เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผลการวิจัยจากหลากหลายมหาวิทยาลัย เช่น การศึกษาจาก Ustulin และคณะ (2018) มหาวิทยาลัยคยองฮี (Kyung Hee University) ประเทศเกาหลีใต้ ยังสรุปด้วยว่า มลพิษทางอากาศทำให้คนเสี่ยงกับโรคอ้วนอีกด้วย นอกจากความเสี่ยงจากการเกิดโรคต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น หลายครัวเรือนต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากทั้งค่ารักษาพยาบาลและค่าอุปกรณ์ป้องกันมลพิษและยังส่งผลกระทบไปถึงภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยซึ่งเป็นกลุ่มที่รับรู้สถานการณ์จากสื่อต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยลงเนื่องจากความกังวลในสถานการณ์ (Jeensorn etal. , 2018; Pardthaisong et al., 2018; วิทิตานนท์, 2555) ยิ่งไปกว่านั้น ยอดขายร้านอาหารและร้านค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคต่างก็ปรับตัวลดลง เพราะประชาชนพยายามลดการออกนอกบ้าน

ในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ความสำคัญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจมากแต่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมประเทศเท่าที่ควร แม้รัฐบาลจะมีการกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในปี 2538, 2547, 2550, 2552 และ 2553 แต่การบังคับใช้ในระดับนโยบายนั้นยังไม่มีความเข้มงวด การเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก ถึงแม้เราจะไม่สามารถกำจัดมลพิษให้เหลือศูนย์เพราะต้นทุนในการกำจัดมลพิษทั้งหมดนั้นมหาศาล แต่เราสามารถจำกัดมลพิษให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ แม้จะมีการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจังในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในหลาย ๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทย แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาล นอกจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การฉีดน้ำขึ้นไปในอากาศหรือฉีดน้ำรดถนน การทำฝนเทียมลดฝุ่น การบังคับไม่ให้จุดไฟเผาไร่ข้าวโพดและไร่อ้อยในพื้นที่ต่างๆ การรณรงค์ให้ประชาชนงดจุดธูป การรณรงค์ให้งดรับประทานหมูกระทะและการตรวจจับควันดำจากรถยนต์ แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าวิธีการเหล่านี้ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ มิหนำซ้ำบางวิธียังเป็นการแก้ไขที่ไร้ประสิทธิภาพ

ก่อนที่เราจะสามารถแก้ไขปัญหาใดๆ เราต้องทำความเข้าใจต้นเหตุของปัญหาและนัยยะต่าง ๆ ของปัญหานั้น ๆ สิ่งนี้แม้จะเป็นเรื่องที่ยากแต่หากรัฐบาลไทยไม่ดำเนินการอะไรเลย จะเป็นการผิดคำสัญญาที่ให้ไว้ต่อสหประชาชาติว่าจะผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งตัวชี้วัดการปล่อยมลพิษทางอากาศของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของเป้าหมายที่ 11 ของ SDGs ซึ่งมุ่งที่จะ “ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน” (Make cities and human settlements inclusive,safe, resilient and sustainable) และประชาชนชาวไทยก็จะต้องเผชิญความยากลำบากจากผลเสียที่มากับมลพิษทางอากาศซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงถึงเป้าหมายการพัฒนาฯ ข้ออื่น ๆ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good health and well-being)

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง 17 เป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ความสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างตรงจุดและยั่งยืน ต้องมาจากการที่ทุกคน ๆ เข้าใจเสียก่อนว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง แผ่นดินถล่ม หรือมลพิษทางอากาศนั้นล้วนเกี่ยวข้องกับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น นั่นก็เพราะว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติจะไม่กลายเป็นปัญหาหากไม่มีตัวแปรมนุษย์เข้ามาร่วมด้วย เมื่อเรานึกถึงสังคมมนุษย์ เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านัยยะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนัยยะทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ล้วนมีความข้องเกี่ยวกับการเกิดมลพิษทางอากาศทั้งสิ้น กล่าวคือ ผลกระทบจากการพัฒนาที่เราหวังว่าจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นต่อสังคม กลับสร้างความเสี่ยงทางนิเวศและส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาวะของพวกเรา เช่นนี้แล้วการแก้ไขปัญหามลพิษอย่างมีประสิทธิภาพเองจำเป็นต้องเป็นไปอย่างบูรณาการ

กรุงเทพมหานคร และ PM 2.5

อันที่จริงแล้ว หลายเมืองใหญ่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ลอนดอน ปารีส ลอสแอนเจลิส เซาเปาลู จาการ์ต้า ปักกิ่ง หรือ แม้แต่กรุงเทพมหานคร ต่างก็เผชิญกับปัญหา PM 2.5 อยู่แทบทุกปี แต่ในปี 2561 และ 2562 นั้น กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเผชิญกับปัญหา PM 2.5 ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเริ่มให้ความสนใจกับปัญหานี้อย่างจริงจัง ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศส่วนใหญ่กลับกลายเป็นการภาวนาให้ฝนตก รอให้ลมเปลี่ยนทิศ หรือการฉีดน้ำขึ้นไปในอากาศรวมไปถึงการสนับสนุนให้ประชาชนมีความตระหนักรู้และป้องกันตนเองโดยการซื้อหาหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองมาใส่ เหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้สังคมมองมลพิษทางอากาศอันเนื่องมาจากฝุ่นเป็นภัย “ธรรมชาติ” ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์เพียงอย่างเดียวและไม่สามารถทำให้หมดไปได้เอง ทั้งที่มลพิษทางอากาศอันเนื่องมาจากฝุ่นในเมืองใหญ่นั้นเป็นปัญหาที่คนจำนวนมากร่วมกันสร้างขึ้น โดยเฉพาะจากการกระทำที่หลายคนทำเป็นประจำและทำมานานแล้ว อย่างเช่น จากการขับรถ จากการเผาขยะ หรือ จากการปล่อยควันต่าง ๆ ของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลเสียต่อคุณภาพอากาศอย่างมาก ดังนั้นเมื่อปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มาถึงขั้นเลวร้ายดังที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ การปล่อยมลพิษกันเพียงคนละนิดก็สร้างปัญหาที่ใหญ่ว่านั้นได้ การสนับสนุนให้ประชาชนรู้จักป้องกันตนเองเป็นเรื่องที่ดีแต่รัฐควรคำนึงถึงความจริงที่ว่า สังคมไทยของเรานั้นยังมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียม และยังประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังมีความเปราะบาง ไม่ได้มีกำลังทรัพย์สำหรับซื้อหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองราคาแพง ไม่มีเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศในบ้านของตน เมื่อมีปัญหาสุขภาพก็ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติและยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาบริการของภาครัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ภาพมลพิษทางอากาศในประเทศจีนโดย Anton Mislawsky
ใช้ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons License: CC)

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวโทษพื้นที่โดยรอบ (หรือแม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้าน) ว่าเป็นตัวการสร้างปัญหา จริงอยู่ว่าการเผาหญ้า การใช้ฟืนและถ่าน หรือแม้กระทั่งควันต่าง ๆ จากโรงงานอุตสาหกรรมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุของปัญหา แต่ก็ไม่ใช่ต้นเหตุเสียทั้งหมด ฝุ่นในกรุงเทพมหานครยังมาจากไอเสียของรถยนต์ภายในเมืองเอง การศึกษาจากกรมควบคุมมลพิษกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2561) เปิดเผยว่า ต้นเหตุสำคัญของปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมาจากไอเสียของเครื่องยนต์ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ ‘ดีเซล’ เราต้องไม่ลืมว่า กรุงเทพมหานครติดอันดับเมืองที่มีรถติดหนาแน่นที่สุดในโลก (TomTom, 2019) ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีปริมาณมหาศาลในแต่ละวันบวกกับสภาพอากาศใช่ระยะเปลี่ยนฤดูกาลที่กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ช่วงเช้าลมสงบ ความชื้นสูง เกิดการผกผันกลับของอุณหภูมิในช่วงเช้า ประกอบกับฝนที่ตกน้อยลงจึงทำให้ฝุ่นละอองสะสมเพิ่มขึ้น การแก้ไขปัญหาเพียงการเพิ่มความเข้มงวดของการตรวจจับรถที่ปล่อยควันดำไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองอย่างยั่งยืนและไม่ได้เป็นการลดจำนวนรถยนต์ออกไปจากถนนในเมืองหลวง

ในหลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐให้ความสำคัญในกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรการรถคันแรกในช่วงปลายปี 2554 ทำให้มีการซื้อรถยนต์ใหม่มากขึ้นขณะที่รถเก่าก็ยังอยู่ในระบบขนส่ง ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดและนำไปสู่การปล่อยมลพิษปริมาณมาก อีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดฝุ่นในเมืองใหญ่ คือการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตึก การสร้างถนน หรือการสร้างรางรถไฟ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนตลอดจนผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อออกมาตรการบริหารจัดการการก่อสร้างในพื้นที่หลายจุดของกรุงเทพมหานครให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งช่วงระยะการก่อสร้าง การออกแบบระบบงบประมาณเพื่อลดภาระประชาชนและลดฝุ่นควัน แทนที่จะปิดเส้นทางสัญจรทั้งทางเดินรถและทางเดินเท้า


ภาพรถติดในกรุงเทพมหานครโดย Gemma Longman
ใช้ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์(Creative Commons License: CC)

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการใช้มาตรฐานไอเสียและน้ำมัน ทว่าข้อเสียของมาตรการบังคับเหล่านี้ตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปไม่มีแรงจูงใจในการลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัวและการลดการใช้น้ำมัน ดังนั้น หากภาครัฐไม่มีมาตรการบังคับนโยบายส่งเสริมการลดใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือเป้าหมายที่ชัดเจนในการยกระดับคุณภาพอากาศ ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปย่อมไม่มีความพยายามในการปรับตัวที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและทำกำไรลดลงอย่างแน่นอน นักวิชาการหลายท่านต่างลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าการส่งเสริมให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางนั้น ภาครัฐจะต้องร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงร่วมมือกับภาคเอกชนด้วย เพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีคุณภาพ รวมไปถึงการส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เช่น การเดินทางโดยใช้จักรยาน การเดินทางด้วยเท้า หรือการเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น การแก้ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับการเดินเท้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเท้าแคบ บาทวิถีที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีต้นไม้หรือพื้นที่บังฝนเพื่อลดความร้อนจากแสงแดดและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในช่วงฝนตกหนัก ไฟส่องสว่างตามรายทางยามค่ำคืนไม่เพียงพอและ ทางม้าลายที่ใช้งานไม่ได้จริง มิหนำซ้ำยังมีนัยยะทางอำนาจของนักการเมือง บริษัทก่อสร้าง บริษัทรถยนต์ หรือ บริษัทน้ำมันบางบริษัทที่ยังคงได้ผลประโยชน์จากการขยายถนนและการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมและการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหัวหน้าหน่วยวิจัย Urban Futures and Policy

ผังเมืองของกรุงเทพมหานครเองก็ยังมีปัญหาอีกหลายประการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมและการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหัวหน้าหน่วยวิจัย Urban Futures and Policy เคยกล่าวไว้ว่า พื้นที่ธุรกิจซึ่งเป็นแหล่งงานส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครกระจุกตัวอยู่เฉพาะใจกลางเมือง และเนื่องจากที่อยู่อาศัยในเมืองมีราคาแพง บ้านเรือนที่พักอาศัยของประชาชนจึงกระจายออกไปตามชานเมืองที่ระบบขนส่งมวลชนยังเข้าไปไม่ทั่วถึง หลาย ๆ คนอาศัยอยู่ห่างไกลจากสถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า BTS หรือ สถานีรถไฟฟ้า MRT (และยังไม่ได้รวมถึงการขนส่งมวลชนบางชนิดมีราคาที่สูงจนประชาชนหลายคนไม่สามารถจ่ายได้) ในเมื่อเมืองไม่ได้ถูกออกแบบให้สามารถเดินได้อย่างสะดวกสบาย หลาย ๆ คนจึงมีความจำเป็นจะต้องนั่งรถประจำทางสาธารณะหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพื่อต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้า การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวจึงสะดวกกว่า (และเย็นสบายกว่าด้วย) ดังนั้น การจัดการกับปัญหาด้านระบบขนส่งมวลชน อีกทั้งการทำให้คนสามารถซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยในเมืองใกล้กับแหล่งงานได้เหมือนจะเป็นประเด็นสำคัญในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอันเนื่องมาจากฝุ่นควัน อีกทั้งยังเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะเป้าหมายที่ 11 อีกด้วย


เป้าประสงค์ที่ 11.1 และ 11.2 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าที่ 11

นอกเหนือจากประเด็นการคมนาคมและประเด็นที่อยู่อาศัยแล้ว ยังมีประเด็นการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศ เมื่อนึกถึงสิ่งแวดล้อม หลายคนจะนึกถึงต้นไม้และพื้นที่สีเขียว พื้นที่สีเขียวมีประโยชน์ในด้านการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพภายในเมืองและยังมีความสำคัญต่อสุขภาวะที่ดีของผู้คนในเมือง ยิ่งไปกว่านั้น ต้นไม้บางชนิดอาจช่วยดูดซับสารพิษทางอากาศได้ด้วย แต่พื้นที่สีเขียวก็อาจจะไม่ได้มีส่วนช่วยแก้ปัญหาเรื่องปริมาณฝุ่นละอองที่กระจายในอากาศมากเท่าไร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังให้ความเห็นว่า การผังเมืองจะต้องให้ความสนใจกับลม และ ทิศทางลมด้วย (2562) การวางผังเมืองที่สอดคล้องกับทิศทางลมจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการลดทั้งฝุ่นและความร้อนภายในเมืองซึ่งจะเป็นผลดีในระยะยาว อาคารสูงควรสร้างในระยะที่เหลื่อมกันเพื่อเว้นพื้นที่ให้อากาศถ่ายเท ผังเมืองเองก็ควรให้ความสำคัญต่อช่องลมของเมืองอย่างเช่นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปัจจุบันเริ่มโดนบดบังไปด้วยตึกสูง และหากไม่เริ่มลงมือจัดการแก้ไข ปัญหาก็จะยิ่งบานปลาย เพราะพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นทำเลทองของภาคอสังหาริมทรัพย์และนายทุนมากมายต่างต้องการจับจองพื้นที่เหล่านี้ในการสร้างโครงการของตน โดยไม่จำเป็นว่าเขาเหล่านั้นได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม

จากที่กล่าวมาทั้งหมด การจัดการปัญหาเรื่องฝุ่นละอองมีความสัมพันธ์และโยงใยกับเรื่องอื่น ๆ อย่างหลากหลาย หากเราต้องการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะเรื่อง PM 2.5 เราจะต้องคิดให้เป็นระบบและต้องร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง เราต้องไม่ลืมว่าปัญหาหลาย ๆ ปัญหา ต่างก็มีความเชื่อมโยงกัน และเราจะเลือกแก้ไขปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาไม่ได้ การลดมลพิษทางอากาศก็เช่นกัน เราควรเข้าใจถึงระบบอำนาจและนัยยะทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหาวิธีแก้ไขให้กระทบคนเปราะบางให้น้อยที่สุดหรือไม่กระทบเลยถ้าเป็นไปได้ การออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาอย่างถี่ถ้วนและให้มั่นใจได้ว่ามาตรการดังกล่าวสามารถใช้ได้ผลและใช้ได้จริงในเชิงปฏิบัติ ควรมีการศึกษาวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญก่อนนำมาตรการมาใช้ในทางปฏิบัติ โดยศึกษาทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศให้รอบคอบและพิจารณาปรับให้เหมาะสมกับบริบทพฤติกรรมของคนไทยและความพร้อมของประเทศ

ในบทความต่อไปผมจะมานำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่  ให้ทุก ๆ ท่านได้รับทราบ

อ้างอิง

กรมควบคุมมลพิษกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2561). โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและ แนวทางการ จัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล. กรุงเทพมหานคร.

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ . (2562). จากเมือง ‘เดิน’ ได้ สู่เมือง ‘ดม’ ได้ : มลพิษทางอากาศในเมือง. มติชนออนไลน์. Retrieved Retrieved October 3, 2019 from       https://www.matichon.co.th/columnists/news_1316105

Roberts, S., Arseneault, L., Barratt, B., Beevers, S.,Danese, A., Odgers, C., … Fisher, H. (2019). Explorationof NO2 and PM2.5 air pollution and mental health problems using high-resolution data in London-based childrenfrom a UK longitudinal cohort study. Psychiatry Research272, 8–17.

TomTom. (2019). Bangkok in the Traffic Index. RetrievedOctober 2, 2019, from https://www.tomtom.com/en_gb/traffic-index/bangkok-traffic#statistics.

Ustulin, M., Park, S. Y., Chin, S. O., Chon, S., Woo, J. T.,& Rhee, S. Y. (2018). Air Pollution Has a Significant Negative Impact on Intentional Efforts to Lose Weight: A GlobalScale Analysis. Diabetes Metab J.42(4).

Last Updated on มีนาคม 21, 2020

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น