SDG Updates | เปิดรายงาน ESCAP เอเชีย-แปซิฟิกอาจไม่บรรลุ SDG ได้ในปี 2030

โดย พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ

ESCAP เตือนสถานการณ์ SDG ในปี 2030 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอาจเลวร้ายกว่าปี 2015 ถึง 20% ซึ่งอาจแปลความหมายได้ว่า ความยั่งยืนของภูมิภาคอาจถอยหลังไปไกลยิ่งกว่าจุดเริ่มต้นของ SDG เว้นเสียแต่ว่าจะมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขให้ทุกอย่างย้อนกลับขึ้นมาอยู่ในระดับเทียบเท่าหรือดีกว่าเดิม

รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปี 2020 (Asia and the Pacific SDG Progress Report 2020) โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ได้ออกรายงานความก้าวหน้า SDG ประจำปี ซึ่งมีทั้งเป้าหมายที่มีความก้าวหน้าอยู่ในระดับที่ดีและมีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายในปี 2030 รวมถึงเป้าหมายที่มีความถดถอยอย่างมากจนเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุผลได้ตามกรอบเวลา เว้นแต่จะมีความพยายามอย่างเร่งด่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น  

เป้าหมายที่มีความก้าวหน้าและอาจบรรลุผลในปี 2030

จากการวิเคราะห์ความก้าวหน้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเทียบกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย (SDGs) ดังภาพที่ 1 ผลปรากฏว่า เป้าหมายที่มีความก้าวหน้าโดดเด่นที่สุดนับจากข้อมูลตั้งแต่ปีค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) คือ SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพครอบคลุม และเท่าเทียม และ SDG 7 การเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน จากการประเมินความก้าวหน้าที่คาดการณ์ไว้ ดังภาพที่ 2 แสดงให้เห็นว่าการบรรลุเป้าหมายทั้งสองนี้อาจอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ระดับเป้าหมาย (target) เผยให้เห็นประเด็นท้าทายที่ยังต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใน SDG 4  ได้แก่ ประเด็นการเพิ่มคุณภาพการศึกษา รวมถึงการเข้าถึงที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน สำหรับ SDG 7 ได้แก่ การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน

เป้าหมายที่มีความก้าวหน้าน้อยที่สุด

จากสถานะตัวชี้วัดที่สามารถเก็บข้อมูลได้ชี้ให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม บรรเทาความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และต้องหันมาส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนอย่างจริงจัง เนื่องจากความก้าวหน้าในภาพรวมของการดำเนินงานใน SDG 12 การส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน และ SDG 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น จัดอยู่ในระดับ ‘ถดถอย’ กล่าวคือ แนวโน้มการขับเคลื่อนของทั้งภูมิภาคมิได้มุ่งไปในทิศทางที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายทั้งสองเลย ผลการรายงานครั้งนี้จึงเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้ทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ปรับปรุงแนวทางการจัดการสารเคมีและของเสีย  เพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการบรรเทาความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและปรับให้เข้ากับผลกระทบของสภาพภูมิอากาศผ่านการบูรณาการของนโยบาย 

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลบางประการที่ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคมีแนวโน้มแย่ลง เช่น

  • ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของภูมิภาคมีปริมาณรวมราวครึ่งหนึ่งของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก และเพิ่มขึ้นสองเท่านับตั้งแต่ปี 2000    
  • 35% ของประเทศในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มการตัดไม้ทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง

บางเป้าหมายมีความคืบหน้า แต่ไม่มากพอที่จะบรรลุได้ภายในปี 2030

แม้จะมีความคืบหน้าในบางเป้าหมาย แต่การดำเนินงานดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่อาจเพียงพอให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกบรรลุเป้าหมายภายในปี 2030 โดยเป้าหมายที่มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่  SDG 1 ยุติความยากจน  SDG 2 ยุติความหิวโหย สร้างความมั่นคงด้านอาหาร  SDG 3 การมีสุขภาพที่ดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย SDG 5 ความเท่าเทียมกันทางเพศ SDG 6 การเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาลที่ดี  SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการจ้างงานเต็มที่ และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน  SDG 15 ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน SDG 16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุข ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม มีสถาบันที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส  และ SDG 17 การมีหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตามภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกไม่อาจบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ภายในปี 2030 หากยังคงดำเนินการในแนวทางเดิม ความจริงจังในระดับเดิม เนื่องจากโดยภาพรวมทั้งภูมิภาคยังไม่บรรลุการให้การคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอสำหรับกลุ่มประชากรที่อ่อนแอที่สุด ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จำนวนมากไม่มีหลักประกันทางสุขภาพและไม่มีการคุ้มครองการจ้างงานที่ดี ทำให้จำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ มีผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้น

เป้าหมายที่เหลือ ได้แก่ SDG 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม อุตสาหกรรมนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน  SDG 10 ลดความเหลื่อมล้ำ  SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และ SDG 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลและทรัพยากรอย่างยั่งยืน นั้นมีความก้าวหน้าน้อยมาก (จากภาพที่ 2) จำเป็นต้องขยายความก้าวหน้าในการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ลดความไม่เท่าเทียมกันของรายได้และโอกาส และรักษาระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง

มากกว่าครึ่งหนึ่งของเป้าหมาย SDG ยังไม่สามารถวัดได้เนื่องจากขาดข้อมูล

ข้อจำกัดสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังไม่สามารถบ่งชี้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้อย่างถูกต้องครบถ้วนตามกรอบของ SDG นั้นเป็นเพราะข้อมูลที่จำเป็นต่อการคำนวณผลการดำเนินงานนั้นยังขาดไปกว่าครึ่ง ส่งผลให้ในบางเป้าหมายมีความคืบหน้าผลการดำเนินงานอยู่ในระดับน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SDG 13 และ 14 ข้อมูลรายงานความก้าวหน้าน้อยนั้นมีความเป็นไปได้ในหลายแง่ กล่าวคือ บางประเทศอาจมีการดำเนินงานเพื่อบรรลุผลตามเป้าหมายอยู่แต่ยังไม่มีการเก็บข้อมูล  มีการเก็บข้อมูลอยู่บ้างแต่ไม่อยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้งาน หรือ ไม่เคยมีการดำเนินการใดๆ เกิดขึ้นเลย จึงไม่มีการเก็บข้อมูลก็เป็นได้ 

การรวบรวมข้อมูลของแต่ละเป้าหมายได้มากน้อยต่างกันนั้นทำให้ไม่สามารถสะท้อนผลลัพธ์ ภาพรวมของความคืบหน้าได้อย่างครบถ้วนทุกมิติ ส่งผลให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ ไม่อาจมองเห็นช่องว่าง (gap) ประเด็นที่ขาดหายไปอันเป็นผลให้การดำเนินการยิ่งล่าช้า

อ้างอิง

ASIA AND THE PACIFIC SDG PROGRESS REPORT 2020 by United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://www.unescap.org/publications/asia-and-pacific-sdg-progress-report-2020

Last Updated on พฤศจิกายน 8, 2021

Author

  • Pimnara Intaprasert

    Editor | คนทำงานข้ามสายที่ชอบมองภาพใหญ่และอยากเห็นงานพัฒนามองทุกศาสตร์อย่างเชื่อมโยง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น