5 ธันวาคม วันอาสาสมัครสากล

“Together we can through volunteering”
เป็นธีมหลักของวันอาสาสมัครประจำปี 2020 เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของบทบาทอาสาสมัครในการเป็นพลังสำคัญของการเอาชนะอุปสรรคและความยากลำบากในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก

วันที่ 5 ธันาวาคมของทุกปี สหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นวันอาสาสมัคร เพื่อรณรงค์สร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับบทบาทความสำคัญของอาสาสมัครในการพัฒนา ซึ่งในปีนี้ก็ได้มีการจัดงานอาสาสมัครขึ้น ในวันที่ 4 ธันวาคม 2563 ณ หอประชุมสหประชาชาติ ประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ โครงการอาสาสมัครแห่งสหประชาชาติ (UN Volunteers) สำนักงานเอเชียและแปซิฟิก เพื่อเฉลิมฉลองบทบาทอาสาสมัครในขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในปีนี้อาสาสมัครนั้นเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเป็นหน้าด่านให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน รวมทั้งป้องกันภัยจากโรคระบาดโควิด19 

ธีมของวันอาสาสมัครในปีนี้จึงกำหนดขึ้นภายใต้แนวคิด “together we can through volunteering” เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของบทบาทอาสาสมัครในการเป็นพลังสำคัญของการเอาชนะอุปสรรคและความยากลำบากในพื้นที่ต่างๆทั่วโลกในปีนี้

สำหรับประเทศไทยในการจัดงานดังกล่าวนี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศได้นำเสนอสาระสำคัญอย่างย่อของการจัดทำ รายงานด้านการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติตามความสมัครใจของประเทศไทย ประจำปี 2020  (Thailand voluntary national review 2020) ซึ่งจัดทำขึ้นภายในธีม “งานอาสาสมัครกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความคืบหน้าและความท้าทายของประเทศไทยในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ควบคู่ไปกับการนำเสนอตัวอย่างการดำเนินงานของอาสาสมัครที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของแต่ละเป้าหมาย รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนทั่วไปสนใจการทำงานอาสาสมัครและตระหนักถึงพลังของตนเองในการร่วมขับเคลื่อน SDGs ปัจจุบันประเทศไทยมีอาสาสมัครที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการประมาณ 13.15 ล้านคน (สถานะ ณ ปี 2563)

ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) พร้อมด้วยคุณนันทินี มาลานนท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายเครือข่าย ในฐานะผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการจัดการระบบอาสาสมัครได้เข้าร่วมงาน ดังกล่าวด้วย

อาสาสมัครนับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากลักษณะการทำงานของอาสาสมัครนั้นเป็นภาคส่วนที่บุคลากรมี ความเชี่ยวชาญในภาคปฏิบัติ เข้าใจปัญหาและบริบทพื้นที่ จะทำให้การสื่อสาร มุมมองต่อการแก้ปัญหามีความรอบด้าน ดังเห็นได้จากบทบาทสำคัญ อาทิ

อาสาสมัครช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แก่คนในชุมชน อาสาสมัครช่วยขยายฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำงานเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นของคนในชุมชนและช่วยส่งต่อความคิดเห็นเหล่านั้นไปยังผู้กำหนดนโยบาย, ช่วยกระจายโอกาสและการบริการที่จำเป็นไปยังบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและกลุ่มคนด้อยโอกาสได้อย่างทั่วถึง, สร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนทุกคนตระหนักถึงศักยภาพของตนเองที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อน SDGs, ช่วยกระจายองค์ความรู้ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี และ เป็นกลไกสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของคนในชุมชน

Last Updated on ธันวาคม 20, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น