“travail en cours- อยู่ระหว่างดำเนินการ” 12 ธันวาคม 2563 ครบรอบ 5 ปี Paris Agreement

ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 (ค.ศ. 2015) ณ เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ผู้นำจากทั่วโลกต่างแสดงความยินดีกับการที่นานาประเทศรับรอง ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ด้วยวลี  “Accord de Paris c’est fait!” (ความตกลงปารีสสำเร็จแล้ว) ที่ได้ถูกบังคับใช้แล้วเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2016  ทว่า 5 ปีผ่านไป ความคืบหน้าของความตกลงปารีสอาจถูกกล่าวได้ว่ายังเป็นเพียง

“travail en cours” หรือ ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

ความตกลงปารีส เป็นตราสารกฎหมายที่รับรองภายใต้กรอบอนุสัญญากรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ฉบับล่าสุด ต่อจาก พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) และข้อแก้ไขโดฮา (Doha Amendment to the Kyoto Protocol) เพื่อกำหนดกฎกติการะหว่างประเทศที่มีความมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้นสำหรับ การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเสริมสร้าง การตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในบริบทของการพัฒนา ที่ยั่งยืนและความพยายามในการขจัดความยากจน โดยรวมถึงประด็นต่อไปนี้

1. ควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม (ค.ศ. 1850-1900) และมุ่งพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

2. เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมการสร้างภูมิต้านทานและความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3. ทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนที่มีความสอดคล้องกับแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) และเปิดโอกาสให้ประเทศร่ำรวยสามารถช่วยเหลือประเทศที่ฐานะด้อยกว่าได้ ผ่าน ‘เงินทุนสนับสนุนด้านภูมิอากาศ’ เพื่อปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และหันไปใช้พลังงานทดแทน

การลงนามความตกลงปารีส เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2015
ภาพจาก triplepundi

ทว่า 5 ปีผ่านไป การดำเนินการและการสร้างความร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นไปได้อย่างช้าและทุลักทุเล Michael Oppenheimer นักภูมิอากาศวิทยา จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า หากจะต้องให้เกรดเพื่อประเมินความสำเร็จของความตกลงปารีสในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เขาคงให้ D หรือ F นั่นก็เพราะว่าหลายประเทศทั่วโลกยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน และการเตรียมตัวเพื่อรับมือและปรับตัวต่อภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

Michael Oppenheimer นักภูมิอากาศวิทยา จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาพจาก Theyearsproject

ในทางกลับกัน โลกก็กำลังร้อนขึ้นเรื่อย ๆ และก็เข้าใกล้ขีดจำกัดในความตกลง โดยขณะนี้โลกสูงขึ้นแล้วเฉลี่ย 1.1 องศา (หากเปรียบเทียบกับระดับอุณหภูมิเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรม) โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศได้มีสถิติปีที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่ มีการบันทึกมา อีกทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศก็เพิ่มขึ้นทำลายสถิติด้วย อีกทั้งผู้คนมากมายทั่วโลกต่างก็ประสบกับภัยพิบัติที่มีความเกี่ยวข้องกับภูมิอากาศมากขึ้นทุกปี

ด้านประเทศไทยเอง เราเผชิญไฟป่าที่รุนแรงมากขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความร้อนในหลายพื้นที่ที่มากขึ้น ฝนที่ตกไม่ตรงฤดูกาลและความแห้งแล้งที่รุนแรงขึ้น ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่เสื่อมโทรมอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ในช่วง 2 ปีมานี้หลายประเทศได้ตั้งเป้าหมายทะเยอทะยานมากขึ้นในการมุ่งสู่คาร์บอนศูนย์ (Zero Carbon) ในปี 2050 เช่น สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ในขณะที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสูงที่สุดในโลกก็มีเป้าหมายเดียวกันนี้ ในปี ค.ศ. 2060 ด้านสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ปล่อยคาร์บอนมากเป็นอันดับที่สองของโลก นายโจ ไบเด็น ซึ่งจะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีก็กำลังจะกลับเข้าขบวนความตกลงปารีสและตั้งเป้าหมายคาร์บอนศูนย์เช่นกัน นอกจากนี้ หลายประเทศก็ได้มีการออกมาตรการต่าง ๆ ในการต่อสู้วิกฤตภูมิอากาศ เช่น การผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปจนถึงการฟื้นฟูธรรมชาติเพิ่มพื้นที่สีเขียว สำหรับในประเทศไทยเอง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่าเราสามารถบรรลุเป้าหมาย  สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ร้อยละ 7 ถึง 20 หรือ ประมาณ 25 ถึง 73 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) และได้ตั้งเป้าหมายว่าจะลดก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)

อย่างไรก็ตาม ประเทศส่วนใหญ่กำลังแก้ปัญหาแบบประเทศใครประเทศมัน และยังไม่ได้คำนึงถึงส่วนรวมเท่าที่นี้ควร เราจะผลักภาระให้ประเทศอุตสาหกรรมยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ได้ ประเทศกำลังพัฒนาต้องเร่งดำเนินการด้วย แต่หากลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศกำลังพัฒนาอาจต้องแบกรับภาระหนักเนื่องจากประเทศเหล่านี้ยังคงต้องพึ่งพารายได้จากกิจการที่ปล่อยก๊ายเรือนกระจก อาทิ ประเทศไทยยังคงต้องพึ่งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกซ์ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำคัญ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราทุกคนมีส่วนส่งผลกระทบต่อโลก และเมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเราจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้เช่น เพราะเราทุกคนจะเผชิญวิกฤตินี้ร่วมกันหากไม่มีการทำอะไรเลย เกรียตา ทืนแบร์ย (Greta Thunberg) นักกิจกรรมภูมิอากาศชาวสวีเดน “…ความหวัง [ในการรับมือวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ] อยู่ที่ประชาธิปไตยนั่นคือการที่ประชาชนทุกมีมีอำนาจ ถ้าเรามีคนจำนวนมากพอที่จะยืนหยัดร่วมกัน พวกเราก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้”

อ้างอิง:

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก,สถานการณ์ก๊าซเรือนกระจก / อนุสัญญา UNFCCC & กฎกติการะหว่างประเทศ

โพสต์ทูเดย์, เตรียมใจไว้เลย โลกเรายังร้อนได้มากกว่านี้อีก

The guardian, Greta Thunberg: ‘We are speeding in the wrong direction’ on climate crisis
BBC News Thai, เจาะเนื้อหาข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

Last Updated on มกราคม 4, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น