การคุ้มครองทางสังคมและกฎหมายในยุคที่แรงงาน “ทำงานอยู่บ้าน” ควรเป็นอย่างไร ในรายงานล่าสุดของ ILO มีคำแนะนำ

เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2564
ถิรพร สิงห์ลอ

ตั้งแต่ที่นานาประเทศใช้มาตรการรักษาระยะห่าง จำกัดการเดินทางและกิจกรรมในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนคนที่ต้อง “ทำงานอยู่บ้าน” ทั่วโลกก็มีมากขึ้น ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ได้ประเมินไว้ว่ามีประมาณ 260 ล้านคนทั่วโลก และคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ ไป ดังนั้น จึงควรมีการพูดคุยกันถึงประเด็นแรงงานที่ทำงานอยู่บ้าน นายจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมและกฎหมายแรงงาน

ในรายงานล่าสุดของ ILO “Working from home. From invisibility to decent work” อธิบายว่า “แรงงานที่ทำงานอยู่บ้าน” (Homeworkers) หมายถึง คนที่ทำงานอยู่ที่บ้านหรือที่ที่ไม่ใช่สำนักงาน ซึ่งยังสามารถติดต่อทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานได้ผ่านทางโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ตและอื่น ๆ (Teleworkers) รวมถึงแรงงานจำนวนมากที่อยู่ในสายการผลิตสินค้าที่ไม่สามารถใช้เครื่องจักรทำงานทดแทนได้ อย่างเช่น งานเย็บปักถักร้อย งานช่าง การประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงคนที่ทำงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งเดินทางไปทำงานที่ไหนและเมื่อไรก็ได้ การให้บริการอย่างการดำเนินเรื่องเคลมประกัน การปรับปรุงแก้ไขงานเขียน ไปจนถึงงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างการเขียนข้อมูลเพื่อใช้ฝึกระบบปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ ได้อธิบายว่า “แรงงานที่มองไม่เห็น” (Invisible) มักอยู่ในภาคเอกชน ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ซึ่งกฎหมายแรงงานมักไม่ครอบคลุม และแรงงานเหล่านี้ต่างประสบกับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ค่อยดีนัก โดยเผชิญกับความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัย และมีรายได้ที่ต่ำลง

ตัวอย่างแรงงานที่มองไม่เห็น อย่างเช่น คนที่รับทำงานเป็นรายสัญญา (independent contractors) ซึ่งมักอยู่นอกเหนือจากขอบเขตของกฎหมายแรงงาน นั่นจึงนำมาสู่คำแนะนำของ ILO ว่า ควรทำให้การทำงานอยู่บ้านเป็นสิ่งที่ “มองเห็น” และได้รับการคุ้มครองทางสังคมและทางกฎหมาย เช่นว่า “โฮมเวิร์กเกอร์” ซึ่งอยู่ในภาคอุตสาหกรรมควรถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจทางการ และได้รับการคุ้มครองทั้งทางสังคมและกฎหมาย “แรงงานเทเลเวิร์ก” ควรมีสิทธิที่จะ “หยุดการเชื่อมต่อ” (disconnect) เพื่อขีดเส้นขอบเขตชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวซึ่งต้องได้รับการเคารพ ขณะที่ หากกฎหมายแรงงานไม่สามารถครอบคลุม “แรงงานที่ทำงานออนไลน์ซึ่งไม่มีที่ประจำสำหรับทำงาน” ก็อาจจะใช้ข้อมูลการทำงานที่ได้จากแรงงาน นำมาติดตามสภาพการทำงานและเครื่องมือที่ใช้ เพื่อกำหนดอัตราค่าจ้างที่เป็นธรรมต่อไป

ด้วยความที่โฮมเวิร์กเกอร์จะมีบทบาทสำคัญยิ่งในปีต่อจากนี้ รัฐบาลจึงควรทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรของแรงงานและนายจ้าง เพื่อให้โฮมเวิร์กเกอร์เป็นที่ “มองเห็น” อันนำมาซึ่งการจ้างงานที่ดีที่เคารพสิทธิแรงงาน (Decent work) ไม่ว่าเขาจะทำงานอะไร หรืออยู่ที่ใหนก็ตาม ซึ่งตรงกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 177 ที่ส่งเสริมการปฏิบัติที่เท่าเทียมระหว่างแรงงานที่ทำงานที่บ้านและผู้มีรายได้อื่น ๆ นอกจากนี้ ยังเป็นการดำเนินการสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 8 ในเรื่องเกี่ยวกับการจ้างงานที่ดี สิทธิแรงงาน และความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมในการทำงาน

แหล่งอ้างอิง:

http://www.ilo.org/global/about-the-ilo/newsroom/news/WCMS_765901/lang–en/index.htm
https://news.un.org/en/story/2021/01/1081942

อ่านเพิ่มเติม:

https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—ed_protect/—protrav/—travail/documents/publication/wcms_765806.pdf

#SDGWatch #IHPP #SDG8

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น