มลพิษทางอากาศเป็นพิษต่อทักษะการคิดของสมองตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงอีก 60 ปีให้หลัง

โรคภาวะสมองเสื่อม (Dementia) อาทิ การเป็นอัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อที่มักมีสัญญาณโรคในช่วงวัยกลางคนและแสดงอาการมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เป็นวิกฤตสาธารณสุขระดับโลก โดยเมื่อปี 2558 มีประชากรโลกเกือบ 47 ล้านคนที่มีภาวะดังกล่าว มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทุกปีปีละกว่า 10 ล้านคน และคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 130 ล้านคนในปี 2593

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสมองจนกระทั่งทำให้เกิดภาวะดังกล่าว มีทั้งที่เกี่ยวข้องกับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ระดับการศึกษาที่ได้รับมากหรือน้อย (education attainment) ตั้งแต่ในวัยเด็ก รูปแบบการใช้ชีวิต ไปจนถึงปัจจัยความเสี่ยง อาทิ ที่เกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคซึมเศร้า การสูญเสียการได้ยิน การสูบบุหรี่ และแม้จะมีข้อเท็จจริงว่าโรคภาวะสมองเสื่อมสัมพันธ์กับ ‘มลพิษทางอากาศ’ ทว่ายังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลมลพิษทางอากาศที่ชัดเจนว่าการอยู่กับมลพิษทางอากาศ ‘ตลอดช่วงชีวิต’ เป็นเวลานาน (life course air pollution exposure) ส่งผลต่อสุขภาพสมองหรือทำให้ทักษะการคิดเสื่อมถอยลงหรือไม่

นักวิจัยมหาวิทยาลัยเอดินเบอระจึงได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ของทักษะการคิด (Cognitive skills) กับมลพิษทางอากาศ  โดยทดสอบทักษะทางปัญญากับผู้เข้าร่วมการศึกษากว่า 500 คนที่อายุประมาณ 70 ปี ด้วยข้อสอบเดียวกันที่กลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษาเคยได้ทำเมื่ออายุ 11 ปี พร้อมกับประเมินระดับมลพิษทางอากาศที่เผชิญจากประวัติสถานที่อยู่ของพวกเขาในแต่ละช่วงเวลาชีวิต เพื่อให้เห็น ‘ความต่อเนื่อง’ ของกลุ่มคนและสถานที่ โดยผลพบว่า กลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษามีทักษะการคิดที่เสื่อมลงในช่วงอายุ 11 – 70 ปี แม้อาจจะมีข้อจำกัดในการตอบว่า ณ จุดใดของช่วงชีวิตที่ได้รับอันตรายจากมลพิษทางอากาศมากที่สุด ทว่าอาจกล่าวได้ในอีกแง่มุมว่าการสัมผัสมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะตั้งแต่ในวัยเยาว์สามารถส่งผลกระทบด้านลบต่อทักษะการคิดของสมองได้ต่อมาในอีก 60 ปีให้หลัง

ซึ่งการศึกษาครั้งนี้เป็นความก้าวหน้าครั้งแรกที่ชี้ว่า ‘มลพิษทางอากาศ’ มีผลกระทบและเป็นอันตรายต่อสุขภาพสมองและทักษะการคิด (cognitive skills) และหวังให้เห็นอีกหนึ่งปัจจัยเพื่อให้สามารถลดความเสี่ยงของโรคภาวะสมองเสื่อมได้

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การสร้างหลักประกันว่าด้วยคนมีชีวิตที่มีสุขภาพและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย
3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค รวมถึงการสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีภายในปี 2573
3.9 ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตราย การปนเปื้อน และมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงภายในปี 2573

แหล่งอ้างอิง:
https://www.ed.ac.uk/news/2021/air-pollution-poses-risk-to-thinking-skills
https://content.iospress.com/articles/journal-of-alzheimers-disease/jad200910

#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3

Last Updated on เมษายน 6, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น