ราคาอาหารแพงขึ้นเร็วกว่าเงินเฟ้อและรายได้ เป็น New Normal ยุคโควิด-19

เมื่อเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ราคาธัญพืช เมล็ดทานตะวัน ถั่วเหลือง และน้ำตาลมีราคาสูงขึ้นมากในรอบ 6 ปีและไม่มีท่าทีว่าจะลดลงเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นผลมาจากอากาศที่ย่ำแย่ อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นแต่ห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาด ทำให้หลายประเทศไม่ว่ารวยหรือจนประสบกับราคาอาหารที่แพงขึ้น ไปจนถึงความกังวลเรื่องความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการจากการที่อาหารมีราคาแพง

เต้าหู้ในอินโดนีเซียมีราคาแพงขึ้นกว่า 30% จากช่วงเดือนธันวาคมปีก่อน ถั่วท้องถิ่นบางชนิดในบราซิลแพงขึ้นถึง 54% จากเดือนมกราคมที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจกำลังเติบโตที่ครัวเรือนต่างต้องแบกรับกับราคาอาหารเอง และอาจมีวิธีการจัดการอย่างรัสเซียที่ประสบกับราคาน้ำตาลแพงขึ้นมากกว่า 60% จากปี 2563 ทำให้หันมาใช้มาตรการควบคุมราคาอาหารหลักบางประเภท (staples) รวมทั้งควบคุมการส่งออกอาหาร

ขณะที่กลุ่มประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ แคนาดา และในยุโรปก็ไม่สามารถหยุดยั้งราคาอาหารไม่ให้เพิ่มขึ้นได้ ด้วยพิษผลกระทบจากโรคระบาดทำให้ราคาอาหารมาจากค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าน้ำมัน และค่าขนส่งที่แพงขึ้นและกระทบต่อกันเป็นทอด นอกจากอาหารแพงแล้วยังมีกรณีภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารที่กองทุนการกุศลด้านอาหารเพื่อสังคม ‘Trussell Trust’ ในสหราชอาณาจักรต้องแจกอาหารกว่า 2,600 กล่องให้กับเด็กในช่วง 6 เดือนแรกที่มีการระบาดของโรค และผลจากโรคระบาดทำให้ชาวอเมริกันกว่า 13.2 ล้านคนตกอยู่ในภาวะดังกล่าวเพิ่มขึ้น 35% จากปี 2561 โดยครัวเรือนอเมริกันที่ยากจนที่สุดกลับต้องใช้รายได้ที่มีไปกับค่าอาหารถึง 36% และชาวอเมริกันจำนวนมากที่มีรายได้เพียงเล็กน้อยจากงานในร้านค้าปลีกและการคมนาคมต้องตกงาน ยิ่งเพิ่มความกดดันว่าจะมีรายได้เพียงพอสำหรับซื้ออาหารที่มีราคาแพงขึ้นหรือไม่

ในทางกลับกัน วิธีการจัดการของประเทศกลุ่มที่สองต่างจากกลุ่มแรกที่ใช้วิธีการพึ่งพาตัวเองมากกว่าควบคุมราคาอาหาร อย่างประเทศฝรั่งเศสวางแผนผลิตพืชผลที่มีโปรตีนสูงเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าถั่วเหลือง ไปจนถึงกรณีอย่างสิงคโปร์ที่เป็นประเทศแรกที่ผลิตเนื้อสัตว์จากห้องแลป ถือว่าสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตอาหารตามบริบทของประเทศตนได้สำเร็จ

แม้ว่าผู้บริโภคอาจไม่ทันสังเกตว่าอาหารมีราคาสูงขึ้น เพราะมีการใช้วิธีการทางการตลาดอย่างการจัดโปรโมชั่นแทนที่ หรือการใช้กลยุทธ์ลดปริมาณและขนาดของอาหารลงแต่ราคายังเท่าเดิม ทว่าประเด็นเรื่องราคาอาหารที่สูงขึ้นยังต้องจับตามองเพราะเกี่ยวข้องกับปากท้องโดยตรง เป็นหนึ่ง New Normal ในยุคโควิด-19

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
เป้าประสงค์ที่ 2.1 กล่าวถึงการสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบางสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการและเพียงพอ
เป้าประสงค์ที่ 2.2 กล่าวถึงการยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ
เป้าประสงค์ที่ 2.c กล่าวถึงราคาอาหารและความผันผวน

แหล่งอ้างอิง:
https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-03-01/inflation-2021-malnutrition-and-hunger-fears-rise-as-food-prices-soar-globally

#SDGWatch #ihpp #SDG2

Last Updated on มีนาคม 2, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น