นักสังคมวิทยาแนะ 5 วิธีเลี้ยงเด็ก เพื่อลบล้าง ‘ภาพเหมารวมทางเพศ’ หรือ Gender Stereotype ตั้งแต่ที่บ้าน

Kyl Myers ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Utah กล่าวว่า ในศตวรรษที่ผ่านมาความเท่าเทียมทางเพศมีความก้าวหน้ามากขึ้นอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ผู้หญิงมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง คุณพ่อมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูบุตรมากขึ้น คนทั่วไปและสถาบันฯ ต่างๆ มีความเข้าใจเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศที่มีมากกว่าหญิงและชาย แต่ช่องว่างทางเพศก็ยังคงปรากฏให้เห็น การท้าทายภาพเหมารวมเรื่องเพศเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราและลูกๆ เติบโตในสังคมที่ยุติธรรมและเท่าเทียมกันมากขึ้น

Kyl Myers ได้ศึกษาถึงความสำคัญของการยุติการกีดกันทางเพศตั้งแต่วัยเด็ก และเสนอ 5 วิธีที่ผู้ปกครองสามารถช่วยลบล้าง ‘ภาพเหมารวมทางเพศ’ หรือ gender stereotype ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่ที่บ้าน

1. ระลึกไว้ว่าเด็กสามารถเป็นเพศทางเลือก (LGBTQI+) ได้

อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) และเพศวิถี (sexuality) นั้นมีความหลากหลายและขึ้นอยู่กับประสบการณ์ส่วนบุคคล อย่างไรก็ตามแพทย์และผู้ปกครองมักกำหนดเพศให้เด็กแรกเกิดตามลักษณะทางกายภาพและให้เด็กเข้าสังคมตามเพศใดเพศหนึ่งในระบบ 2 ขั้ว แบบชาย–หญิง (binary gender) เช่น เด็กที่มีช่องคลอด (vulva) จะถูกกำหนดว่าเป็นเพศหญิงและถูกเลี้ยงดูแบบเด็กผู้หญิง ในขณะที่เด็กที่เกิดมาพร้อมกับองคชาติ (penis) ก็ถูกกำหนดว่าเป็นผู้ชายและถูกเลี้ยงดูแบบเด็กผู้ชาย

แม้ว่าเด็กส่วนใหญ่จะเติบโตมามีเพศสภาวะตรงกับเพศกำเนิด (cisgender) แต่จำนวนวัยรุ่นในอเมริกาที่นิยามตนเองว่าเป็น ‘คนข้ามเพศ (transgender)’ หรือ ‘ไม่มีสำนึกทางเพศแบบสองขั้ว ชาย- หญิง (non-binary)’ นั้นมีเพิ่มมากขึ้น เด็กไฮสคูลทั่วสหรัฐฯ มากกว่า 11% บอกว่าตนเองเป็นเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล หรือยังคงตั้งคำถามกับเพศวิถีของตนเองอยู่ ปัจจุบัน LGBTQ วัยรุ่นเปิดตัวกับครอบครัวเร็วกว่าคนรุ่นก่อน มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการยอมรับจากครอบครัวของวัยรุ่น LGBTQ มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับสุขภาพกายและสุขภาพจิต และเป็นการป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้า การใช้สารเสพติดและการฆ่าตัวตายของบุคคลเพศทางเลือก

2. ระวังการตลาดแบบแบ่งเพศ

การแบ่งเพศของของเล่นและเสื้อผ้าสำหรับเด็กมีให้เห็นอยู่ทั่วไป เช่น ของเล่นตัวต่อและรถของเล่นจะถูกทำการตลาดให้เด็กผู้ชาย และตุ๊กตากับชุดแต่งหน้าจะถูกทำการตลาดเพื่อเด็กผู้หญิง ในห้างสรรพสินค้า เสื้อผ้าสีพาสเทล ลายดอกไม้ จะวางขายคนละฝั่งอย่างชัดเจนกับเสื้อผ้าสีเข้ม ลายกราฟิกรถหรือกีฬา

เด็กๆ เรียนรู้ทักษะชีวิตทางสังคม ทางอารมณ์ ทางกายภาพผ่านการเล่น การเล่นของเล่นที่หลากหลายเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะอย่างรอบด้าน รวมถึงการรับรู้มิติสัมพันธ์ (Spatial awareness) หรือความสัมพันธ์ของตนเองต่อสิ่งแวดล้อม และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) การทำการตลาดแบบแบ่งเพศเช่นนี้เป็นการจำกัดประสบการณ์ของเด็ก

ผู้ปกครองและคนที่ดูแลเด็กสามารถช้อปปิ้งของเล่นและเสื้อผ้าเด็กจากทุกๆ โซนเพื่อแสดงให้เด็กๆ เห็นว่าขอบเขตของการตลาดแบบแบ่งเพศแบบนี้เป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นมาทีหลังและเราไม่จำเป็นต้องทำตาม หรือเราจะปล่อยให้เด็กๆ สำรวจจนทั่วและเลือกสิ่งของที่เขาต้องการด้วยตัวเองก็ได้

3. หยุดภาพเหมารวมทางเพศตั้งแต่ในบ้าน

ผู้ปกครองและคนที่เลี้ยงเด็กเป็นตัวอย่างแรกที่จะทำให้เด็กๆ เห็นว่าแต่ละเพศสภาพแสดงออกอย่างไร ผู้ใหญ่สามารถเป็นแบบจำลองทางพฤติกรรมที่ต่อต้านการเหมารวมและการกีดกันทางเพศ เช่นความคิดที่ว่าผู้หญิงต้องทำงานบ้านมากกว่าผู้ชายไม่ว่าจะทำงานนอกบ้านด้วยหรือไม่ ด้วยการแบ่งความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูเด็กและทำงานบ้านอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีมากโดยเฉพาะในบ้านที่มีผู้ปกครองเป็นคนต่างเพศกัน

ดังคำที่บอกว่าการกระทำนั้นสำคัญกว่าคำพูด เด็กๆ มีแนวโน้มที่จะปฏิเสธบรรทัดฐานทางเพศแบบเดิมๆ นี้ หากพ่อแม่แสดงเป็นตัวอย่างให้เห็นที่บ้านอย่างชัดเจน ด้วยการแบ่งงานบ้านกันทำอย่างเท่าเทียมและไม่กีดกันทางเพศ ไม่ใช่เพียงพูดว่าความเท่าเทียมทางเพศนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากเพียงใดแต่ปฏิบัติตรงกันข้าม

ผู้ปกครองสามารถสลับให้เด็กๆ ในบ้านทำงานบ้านอย่างหลากหลาย เพื่อให้เรียนรู้ว่างานบ้านนั้นไม่แบ่งเพศ เด็กชายสามารถล้างจานได้และเด็กหญิงสามารถเป็นคนไปทิ้งขยะได้ อีกทั้งยังสามารถให้เงินค่าขนมในการช่วยเหลืองานบ้านในจำนวนที่เท่ากันไม่ว่าจะเป็นลูกชายหรือลูกสาว ผลวิจัยหนึ่งเคยนำเสนอว่าเด็กหญิงได้ค่าขนมน้อยกว่าแม้จะทำงานบ้านมากกว่า

4. ใช้ภาษาที่เป็นกลางทางเพศ (gender neutral language)

การใช้ภาษาและสรรพนามที่เป็นกลางทางเพศสามารถช่วยลดอคติทางเพศ (gender bias) และเพิ่มทัศนคติที่ดีต่อเพศหญิงและเพศทางเลือกได้ เช่น ตัวอย่างการใช้ภาษาทางกายวิภาคสอนเด็กๆ แทนคำที่แสดงถึงเพศเช่น “ช่องคลอด” แทนที่จะเป็น “อวัยวะเพศหญิง” เพราะในความเป็นจริงไม่ใช่เด็กทุกคนที่มีช่องคลอดจะเป็นเด็กผู้หญิง สิ่งนี้จะทำให้เด็กผู้ชายข้ามเพศและเด็กที่ไม่เป็นทั้งหญิงหรือชายลดความรู้สึกแปลกแยกลงได้ หรือการแทนคำว่า “พ่อ และ แม่” ด้วย “ผู้ปกครอง และ ผู้ดูแลเด็ก” ที่ไม่เพียงแต่รวมถึงพ่อแม่ที่เป็นเพศเดียวกัน หรือไม่เป็นทั้งหญิงและชายเท่านั้น แต่ยังยอมรับครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว และผู้ดูแลเด็กอีกหลายล้านคนที่เป็นปู่ย่า หรือไม่มีความเกี่ยวพันทางสายเลือดด้วย

ในหนังสือสำหรับเด็กซึ่งมักมีตัวละครเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงและเพศอื่นๆ ผู้ปกครองสามารถเปลี่ยนสรรพนามจาก เขา (he/him) เป็น เธอ (she/her) และ พวกเขา (they/them) ได้ ผู้ใหญ่ยังสามารถเลือกหนังสือและสื่อที่แสดงเด็กๆ ในรูปลักษณ์ที่หลากหลายและครอบคลุม และยังชี้ให้เด็กๆ เห็นถึงภาพเหมารวมทางเพศเมื่อปรากฏขึ้นในหนังสือ

5. สนับสนุนให้เด็กต่างเพศเล่นด้วยกัน

การแบ่งแยกเพศ (gender segregation) ฝังลึกในสังคมและสร้างทัศนคติเชิงลบต่อคนในเพศอื่นๆ เด็กๆ มักจะถูกจัดกลุ่มตามเพศ เช่น การเข้าแถวตามเพศ หรือ การมีโรงเรียนชายล้วน/หญิงล้วน

งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า เด็กจะมีทัศนคติที่ดีต่อคนที่เป็นเพศเดียวกันกับเพื่อนสนิทตนเองมากกว่า

ผู้ปกครองและคุณครูควรสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กต่างเพศ หยุดการแบ่งกลุ่มเด็กตามเพศ มีทีมกีฬาหรือกิจกรรมนอกห้องเรียนอื่นๆ ที่เปิดให้ทุกเพศเข้าร่วมได้ กิจกรรมที่ให้เด็กต่างเพศทำร่วมกันจะทำให้พวกเขาเรียนรู้ถึงความเหมือนและยอมรับความแตกต่างของทุกเพศ และไม่ทำให้เด็กที่ไม่ใช่ทั้งหญิงและชายรู้สึกเป็นคนนอก

ภาพเหมารวมทางเพศ นำมาซึ่งความไม่เท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องพัฒนา ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน

ที่มา: https://www.weforum.org/agenda/2021/03/parents-children-gender-stereotypes-home/

Last Updated on มีนาคม 3, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น