‘เกษตรกรรมที่ยั่งยืน’ หัวใจอธิปไตยทางอาหาร พลิกฟื้นติมอร์เลสเต

“อธิปไตยทางอาหารเป็นสิทธิในการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม โดยคำนึงถึงระบบนิเวศและวิธีการที่ยั่งยืน และสิทธิที่จะกำหนดระบบเกษตรกรรมและอาหารของชุมชนเอง”

ในหน้าประวัติศาสตร์ ภาวะสงครามและปฏิบัติการทางทหารอินโดนีเซียในติมอร์เลสเต นำมาซึ่งความอดอยาก คร่าชีวิตคนไปมากกว่า 100,000 ในประเทศที่มีประชากรประมาณ 680,000 คน ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงอาหารหรือมีที่ดินในการผลิตอาหาร มีคนเสียชีวิตทุกวันวันละ 10 – 15 คนจากความหิวโหย โรคท้องร่วง โรคบิด และวัณโรค ทำให้ ติมอร์เลสเต เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชียมาเป็นเวลากว่า 20 ปีภายหลังจากเป็นเอกราชแล้ว ที่ยังมีภาวะทุพโภชนาการและมากกว่าครึ่งของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีประสบภาวะขาดสารอาหารเรื้อรัง (stunting) สูงมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

ภาพจาก: fao.org

‘เกษตรกรรมที่ยั่งยืน’ (Sustainable agriculture) เป็นหัวใจสำคัญโดยการผลักดันของกระทรวงเกษตรกรรมและการประมงมาตั้งแต่ปี 2556 ที่จะฟื้นฟูฐานรากและสร้างสังคมติมอร์เลสเตให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ รวมทั้งยังมีภาคประชาสังคมหรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ร่วมกันส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายของพืชผล (crop diversity) และเมล็ดพันธุ์ สร้างสิ่งที่เรียกว่าอิสระทางอาหาร (food independence) และอธิปไตยทางอาหาร (food sovereignty)

ทว่าประชากรที่กว่า 80% เป็นเกษตรกรรายย่อยยังคงต้องอาศัยการสนับสนุนเงินทุนและการช่วยเหลือทางเทคนิคจากรัฐบาล องค์การหรือภาคประชาสังคมต่างประเทศ ไม่เพียงตอบโจทย์การมีอาหารและโภชนาการเท่านั้น แต่มีวิธีการที่พร้อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นตัวเร่งให้เกิดความยากจนและกระทบกับความเป็นชุมชนด้วย

องค์กรไม่แสวงผลกำไร ‘Raebia’ (Resilient Agriculture and Economy through Biodiversity in Action) เป็นหนึ่งในองค์กรภาคประชาสังคมที่มีบทบาทขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยจากหมู่บ้านสู่หมู่บ้าน อย่างความพยายามพลิกฟื้นองค์ความรู้เกี่ยวกับพืชผลท้องถิ่นในหมู่บ้าน Fadabloko ซึ่งเผชิญกับความอดอยากและการสูญเสียพืชพันธุ์ตามธรรมชาติจากภาวะสงคราม ให้กลับมาพร้อมกับสร้างธนาคารเมล็ดพันธุ์ (seed banks) ความร่วมมือระหว่างเกษตรกรในท้องถิ่น และใช้วิธีการทำการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ที่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ

ทั้งนี้ Raebia เป็นหุ้นส่วนกับองค์กร SeedChange Canada องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยทั่วโลก นอกจากภาคประชาสังคมแล้ว รัฐบาลแคนาดาได้แสดงความมุ่งมั่นและให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนากับติมอร์เลสเตมาเสมอในระยะยาวผ่านกองทุนแคนาดาประจำสถานทูตแคนาดา ณ อินโดนีเซีย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
● เป้าประสงค์ที่ 2.1 กล่าวถึงการยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคน โดยเฉพาะที่ยากจนและในภาวะเปราะบางได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการ และเพียงพอตลอดทั้งปี
● เป้าประสงค์ที่ 2.2 กล่าวถึงการยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ
● เป้าประสงค์ที่ 2.3 กล่าวถึงการเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็ก
● เป้าประสงค์ที่ 2.4 กล่าวถึงระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน แนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกัน รักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
● เป้าประสงค์ที่ 2.5 กล่าวถึงความหลากหลายทางพันธุกรรมของเมล็ดพันธุ์ ธนาคารเมล็ดพันธุ์ การใช้ทรัพยากรทางพันธุกรรมและองค์ความรู้ท้องถิ่น
#SDG17 เสริมความเข้มแข็งให้กลไกการดำเนินงาน หุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
● เป้าประสงค์ที่ 17.9 กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศรวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
● เป้าประสงค์ที่ 17.17 กล่าวถึงการสนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม

แหล่งอ้างอิง:
https://theconversation.com/how-traditional-seeds-and-crops-are-bringing-food-independence-to-timor-leste-147976
https://www.raebia.org/


อ่านเพิ่มเติมตัวอย่าง NGOs นอกเหนือจาก Raebia:
https://borgenproject.org/sustainable-agriculture-in-timor-leste/
https://www.gafspfund.org/projects/sustainable-agriculture-productivity-improvement-project-sapip

#SDGWatch #ihpp #SDG2 #SDG17

Last Updated on มีนาคม 4, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น