SDG Updates | กระแสน้ำกัลฟ์สตรีมที่อ่อนกำลังจะส่งผลอย่างไรกับระบบทะเลโลก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปกรณ์ เมฆแสงสวย
ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งทั่วโลก เช่น BBC, The Guardian, Washington Post นำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับบทความวิจัยเรื่อง Current Atlantic Meridional Overturning Circulation Weakest in Last Millenniumจากคณะผู้วิจัยจาก Maynooth University ในไอร์แลนด์ Potsdam Institute for Climate Impact Research ในเยอรมนี และ University College London ในสหราชอาณาจักร ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Geoscience เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2564 (Caesar et al. 2021) ใจความสำคัญ คือ การไหลเวียนของหนึ่งในกระแสน้ำหลักของโลก ได้แก่ The Atlantic Meridional Overturning Circulation (AMOC) หรือเรารู้จักกันในนาม “กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม (The Gulf Steam)” อ่อนกำลังลงมากที่สุดในรอบพันปี และทีมนักวิทยาศาสตร์มีการคาดการณ์ว่าหากสถานการณ์โลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป การไหลของกระแสน้ำอุ่นสายนี้จะยิ่งเคลื่อนตัวช้าลงและอาจจะหยุดการเคลื่อนตัวใน ค.ศ. 2100[1]  การนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมทางสมุทรศาสตร์ในครั้งนี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาเป็นวงกว้างที่เน้นย้ำถึงความรุนแรงของปัญหาปรากฏการณ์โลกร้อนที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในศตวรรษนี้

The Great Ocean Conveyor Belt คืออะไร

ระบบการไหลของกระแสน้ำในโลกเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีการไหลเวียนกันตลอดเวลาทั้ง 5 มหาสมุทรทั่วโลก กระบวนการนี้เรียกว่า “การไหลเวียนของเทอร์โมฮาร์ไลน์ (Thermohaline circulation)” ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ “สายพานลำเลียงขนาดยักษ์แห่งมหาสมุทรของโลก (The Great Ocean Conveyor Belt)” ทั้งนี้การเคลื่อนตัวของกระแสน้ำ ในโลกทำให้เกิดกระแสน้ำ 2 ประเภท คือ กระแสน้ำอุ่น (warm currents) และ กระแสน้ำเย็น (cold currents) (ดังภาพที่ 1)

ภาพที่ 1: สายพานลำเลียงขนาดยักษ์แห่งมหาสมุทรของโลก (The Great Ocean Conveyor Belt)
ที่มา Encyclopædia Britannica (2021a)

National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) (2021) อธิบายถึงกระบวนการการไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติก (ดังภาพที่ 2) โดยเริ่มต้นจากพื้นผิวของมหาสมุทรบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ บริเวณนี้น้ำจะนิ่งเนื่องมาจากอุณหภูมิแบบขั้วโลก ระดับความเค็มของน้ำสูงกว่าเพราะว่าน้ำแข็งในบริเวณขั้วโลกประกอบด้วยน้ำจืด ในขณะที่ความเค็มจะเข้มข้นอยู่บริเวณโดยรอบ ดังนั้นความหนาแน่นของน้ำเย็นจะเพิ่มมากขึ้นและจมลงสู่ใต้มหาสมุทร และน้ำบนพื้นผิวก็จะไหลเข้าแทนที่ปริมาณน้ำที่จมลงไปแล้ว เกิดกลายเป็นการไหลของกระแสน้ำเย็น (Labrador Current) ทั้งนี้การไหลของกระแสน้ำเย็นจะเคลื่อนตัวลงทางตอนใต้บริเวณขั้วโลกใต้ก่อนแยกเป็นสองทาง คือ มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อกระแสน้ำผ่านบริเวณศูนย์สูตรจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นและยกตัวขึ้นสู่ผิวน้ำกลายเป็นกระแสน้ำอุ่น (Gulf Steam) บางส่วนหมุนตัวทางตะวันตกกลับสู่วงรอบของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ และบางส่วนมุ่งสู่มหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้

ภาพที่ 2: กระแสน้ำหลักในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ
ที่มา Encyclopædia Britannica (2021b)

The Great Ocean Conveyor Belt กับวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของโลก

กล่าวได้ว่าสิ่งที่มนุษย์ได้จากปรากฏการณ์การเคลื่อนตัวของกระแสน้ำในโลกมีหลายประการ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์บนภาคพื้นทวีป คือ การดำรงชีวิตและการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 

ประการแรก การพบกันของกระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็นบริเวณเขตละติจูดกลางทำให้สภาพภูมิอากาศในบริเวณดังกล่าวไม่หนาวเย็นจนเกินไป จากการที่พื้นผิวน้ำทะเลบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตรอุ่นขึ้นเนื่องจากได้รับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ และกระแสน้ำอุ่นเหล่านี้ไหลไปสู่ขั้วโลกนำพาเอาความอบอุ่นจากเส้นศูนย์สูตรขึ้นไปยังละติจูดที่สูงขึ้นและปลดปล่อยสู่บรรยากาศส่งผลให้อุณหภูมิในเขตละตุจูดกลางไม่หนาวเกินไป เช่น การที่กระแสน้ำอุ่นที่ไหลไปถึงบริเวณฝั่งตะวันตกของสกอตแลนด์จะช่วยทำให้ฤดูหนาวของเกาะบริเตนใหญ่ไม่หนาวจัดจนเกินไปเมื่อเทียบกับเมืองที่อยู่ในระดับละติจูดเดียวกัน ในรัฐ Newfoundland and Labrador ของประเทศแคนาดา (อนุชา ศรีเริงหล้า. 2564 อ้างถึงใน Bell. 2007) 

ประการที่สอง การไหลเวียนของกระแสน้ำทำให้เกิดการพัดพาแร่ธาตุต่างๆ ในมหาสมุทรไปด้วย และในบริเวณใดก็ตามที่มีการพบกันของกระแสน้ำ เช่น การพบกันของกระแสน้ำอุ่น Gulf Steam และกระแสน้ำเย็น Labrador บริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา และบริเวณทะเลเหนือของทวีปยุโรป ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักอย่างหนึ่งที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประชากรบริเวณนี้ คือ การประมง จากรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ในตารางที่ 1 พบว่า ผลผลิตจากการทำประมงแบบจับตามธรรมชาติในมหาสมุทรแอตแลนติกเกือบครึ่งหนึ่งมาจากฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 41) และฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 7) นอกจากนั้นยังพบว่าในเขตละติจูดกลาง และเขตบริเวณที่มีการยกตัวของกระแสน้ำในโลกก็มีความสำคัญต่อการทำการประมง เพราะเป็นแหล่งที่มีการทำประมงมากถึง 2 ใน 3 ของโลก คือ ร้อยละ 45 และร้อยละ 23 ตามลำดับ

ตารางที่ 1: สถิติการทำประมงแบบจับตามธรรมชาติในมหาสมุทรแอตแลนติก และพื้นที่ประมงสำคัญของโลก
ที่มา: FAO (2020: 16)

ประการที่สาม ความสามารถในการเข้าถึงอาหาร (food accessibility) โดยเฉพาะแหล่งอาหารโปรตีนได้โดยง่ายของประชากร FAO (2020: 68-70) รายงานว่าการบริโภคอาหารโปรตีนจากปลาของประชากรโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.90 ในช่วง ค.ศ. 1997 – 2017 เช่น ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นจาก 17.4 กิโลกรัมต่อคน ใน ค.ศ. 1961 เป็น 24.4 กิโลกรัมต่อคน ใน ค.ศ. 2017 ส่วนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นจาก 5.2 กิโลกรัมต่อคน ใน ค.ศ. 1961 เป็น 19.4 กิโลกรัมต่อคน ใน ค.ศ. 2017 และกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา เช่น ทวีปแอฟริกา เพิ่มขึ้นจาก 6.1 กิโลกรัมต่อคน ใน ค.ศ. 1961 เป็น 12.6 กิโลกรัมต่อคน ใน ค.ศ. 2017 และในภาพรวมพบว่าประชากรในโลกมีความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะอาหารโปรตีนจากปลาเพิ่มมากขึ้น ภาพที่ 3 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการกระจายตัวของการบริโภคโปรตีนจากปลาต่อประชากรในโลกพบว่า ประชากรที่อาศัยในเขตใกล้กับมหาสมุทร โดยเฉพาะบริเวณที่มีการทำการประมงในปริมาณมาก เช่น เขตมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ จะได้รับประโยชน์มากกว่าประชากรในพื้นที่ที่มีดินแดนในภาคพื้นทวีป

ภาพที่ 3: การบริโภคแหล่งอาหารโปรตีนจากปลาเฉลี่ยต่อหัวประชากร ค.ศ. 2015 – 2017
ที่มา FAO (2020: 69)

จากตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่าปรากฏการณ์การไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทรตามธรรมชาติส่งผลดีต่อการดำรงชีวิต และการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ใกล้กับมหาสมุทรที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากอิทธิพลภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้นภาคพื้นสมุทร (Oceanic Climate) และการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาล อีกประการหนึ่ง คือ ความสามารถในการเข้าถึงอาหาร (food accessibility) ซึ่งจัดว่าเป็นหนึ่งใน 5 องค์ประกอบหลักแห่งความมั่นคงทางอาหาร (food security) ที่กำหนดโดยสหประชาชาติ และเชื่อมโยงถึง SDG 2: Zero Hunger อีกด้วย

เกิดอะไรขึ้นเมื่อกระแสน้ำ Gulf Steam อ่อนกำลัง

จากการคาดการณ์โดยแบบจำลองของ Caesar et al. (2021) ทีมนักสมุทรศาสตร์ข้างต้นได้อภิปรายไว้ว่าหากปรากฏการณ์โลกร้อนยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ ที่ส่งผลให้เกิดการละลายของน้ำแข็งที่เกาะกรีนแลนด์ใกล้เขตขั้วโลกเหนือ น้ำเย็นที่ละลายเป็นจำนวนมากจะส่งผลรบกวนต่อการไหลของกระแสน้ำ AMOC (กระแสน้ำอุ่น Gulf Steam) ที่ไหลมาจากตอนใต้ ทำให้เกิดการอ่อนกำลังลงของกระแสน้ำ Gulf Steam และกรณีเลวร้ายที่สุด คือ การหยุดไหลของกระแสน้ำ Gulf Steam ในศตวรรษหน้า เป็นการศึกษาอีกครั้งที่ทำให้ทั่วโลกต้องตระหนักถึงความไม่มั่นคงของโลกจากภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นทั่วโลกในอนาคตทั้งทางตรงและทางอ้อม

ผลกระทบทางตรง คือ ความหนาวเย็นมากขึ้นและยาวนานขึ้นของประเทศในเขตละติจูดกลาง ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าการไหลเวียนของกระแสน้ำอุ่น เช่นกระแสน้ำอุ่น Gulf Steam ทำให้เกิดการปลดปล่อยความร้อนออกสู่ชั้นบรรยากาศในเขตละติจูดกลาง ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวไม่หนาวเย็นจนเกินไป Stefan Rahmstorf นักวิจัยร่วมจาก the Potsdam Institute for Climate Impact Research ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ The Guardian ว่าการอ่อนกำลังลงของกระแสน้ำ AMOC น่าจะส่งผลทำให้เกิดความรุนแรงของพายุที่พัดเข้าสู่สหราชอาณาจักรมากขึ้น ตลอดจนปัญหาคลื่นความร้อน (heatwave) ในภาคพื้นยุโรปเพิ่มมากขึ้น และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นในบริเวณชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ในอีก 20 – 30 ปีข้างหน้า (Harvey. 2021)

ผลกระทบทางอ้อม ได้แก่ ความไม่มั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะแหล่งโปรตีนที่ได้จากการทำการประมงในอนาคต จากรายงานของ FAO (2020. 4-6) ในภาพที่ 4 ที่เกี่ยวข้องกับการประมงแบบจับตามธรรมชาติและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของโลกตั้งแต่ ค.ศ. 1950 เป็นต้นมาพบว่าในภาพรวมแม้การทำการประมงในเขตภูมิภาคต่างๆ ของโลกจะเพิ่มขึ้น แต่การทำประมงแบบจับตามธรรมชาติเริ่มมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปอเมริกา และทวีปยุโรป ที่มีการลดลงของการทำการประมงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง ค.ศ. 2010 – 2018 สอดคล้องกับตารางที่ 1 ที่แสดงให้เห็นถึงปริมาณการทำประมงที่ลดลงของพื้นที่ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนืออย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ซึ่งการลดลงของหนึ่งในภูมิภาคหลักของการทำประมงของโลกในบริเวณดังกล่าว อาจเป็นภาพสะท้อนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่ส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์ลดลงได้ ทั้งนี้จากงานวิจัยของ Greenan และคณะ ได้สรุปว่าภาวะโลกร้อนส่งผลถึงชาวประมงที่เลี้ยงกุ้งมังกร (lobsters) ในเขตชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของประเทศแคนาดาเช่นกัน (Greenan et al. 2019)

ภาพที่ 4: การกระจายตัวของผลผลิตทางการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในแต่ละภูมิภาคของโลก ระหว่าง ค.ศ.1950 – 2018
ที่มา FAO (2020: 5)

บทสรุป

การอ่อนกำลังลงของกระแสน้ำ Gulf Steam ทำให้ทั่วโลกต้องตระหนักถึงปรากฏการณ์โลกร้อนที่เริ่มส่งผลกระทบต่อมนุษย์โลกมากขึ้นทุกที (SDG 13) จากการเคลื่อนตัวของกระแสน้ำของโลกผ่าน “สายพานลำเลียงขนาดยักษ์แห่งมหาสมุทรของโลก (The Great Ocean Conveyor Belt)” ทำให้มนุษย์ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสมดุลของสภาพภูมิอากาศไม่ให้หนาวจนเกินไป ส่งผลให้เกิดการลดการใช้พลังงานเพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ประชากรในเขตละติจูดกลางได้ หรือความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงชายฝั่งที่มีการพบกันของกระแสน้ำทำให้ประชากรในบริเวณนั้นมีรายได้จากการประกอบกิจกรรมการประมง (SDG 1) และประชากรในบริเวณดังกล่าวสามารถเข้าถึงอาหารประเภทโปรตีนได้สะดวก ก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น (SDG 2; SDG 3) ในทางตรงกันข้าม หากปรากฏการณ์ดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่เลวร้ายที่สุด (tipping point) เช่น ความเป็นไปได้ของการเข้าสู่สภาวะการหยุดไหลของกระแสน้ำอุ่น Gulf Steam ก็จะส่งผลถึงการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งสภาวะภัยธรรมชาติที่เลวร้ายขึ้น เช่น สภาวะอากาศหนาวที่มากขึ้นและยาวนานขึ้น สภาวะคลื่นความร้อนที่รุนแรงมากขึ้นในยุโรป และสภาวะระดับน้ำทะเลสูงขึ้นในทางชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ในอนาคตอันไม่ช้านี้ นอกจากนั้นอาจส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารของโลกเพิ่มมากขึ้นตลอดจนการทำกิจกรรมการประมงอย่างไม่ยั่งยืนอันเนื่องมาจากทรัพยากรประมงที่ลดลงในอนาคตอันใกล้ก็เป็นได้


[1] สามารถตามอ่านเพิ่มเติมได้จาก BBC News ภาษาไทย วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2021 หัวข้อ กระแสน้ำอุ่น “กัลฟ์สตรีม” อ่อนกำลังที่สุดในรอบพันปี ชี้เข้าใกล้จุดวิกฤตหยุดไหลถาวรหลังสิ้นศตวรรษนี้ https://www.bbc.com/thai/international-56215058?


เอกสารอ้างอิง

อนุชา ศรีเริงหล้า. (2564). สายพานลำเลียงแห่งมหาสมุทร – The Ocean Conveyor Belt. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2564, จาก http://www.marine.tmd.go.th/gocb01.html

Caesar, L., McCarthy, G.D., Thornalley, D.J.R. et al. (2021). Current Atlantic Meridional Overturning Circulation Weakest in Last Millennium. Nat. Geosci. https://doi.org/10.1038/s41561-021-00699-z

Encyclopædia Britannica. (2021a). Thermohaline Circulation. Retrieved on March 4, 2021, from https://www.britannica.com/science/thermohaline-circulation

_____________________. (2021b). The Gulf Steam. Retrieved on March 4, 2021, from https://www.britannica.com/science/climate-meteorology/The-Gulf-Stream#/media/1/121560/157706

FAO. (2020). The State of World Fisheries and Aquaculture 2020: Sustainability in action. Rome: FAO.

Greenan, Blair J.W., Shackell, Nancy L., Ferguson, Kiyomi., Greyson, Philip., Cogswell, Andrew., Brickman, David., Wang, Zeliang., Cook, Adam., Brennan, Catherine E., & Saba, Vincent S. (2019). Climate Change Vulnerability of American Lobster Fishing Communities in Atlantic Canada. Frontiers in Marine Science, 13(6): 579.

Harvey, Fiona. (2021, February 26). Atlantic Ocean Circulation at Weakest in a Millennium, Say Scientists. The Guardian. https://www.theguardian.com/environment/2021/feb/25/atlantic-ocean-circulation-at-weakest-in-a-millennium-say-scientists

National Geographic Society. (2019). The Global Conveyor Belt. Retrieved on March 4, 2021, from https://www.nationalgeographic.org/media/global-conveyor-belt/

National Oceanic and Atmospheric Administration. (2021). The Global Conveyor Belt. Retrieved on March 4, 2021, from https://oceanservice.noaa.gov/education/tutorial_currents/05conveyor2.html

Author: Pakorn Meksangsouy is an assistant professor of human geography at Department of Geography, Faculty of Social Sciences, Srinakharinwirot University, Bangkok, Thailand. He received Ph.D. (Geography) from School of Geography, University of Leeds, UK. His research interests focus on economic geography, retail geography, geography of food, geography of tourism, geoinformatics application for socioeconomic. He is also working as an acting assistant to the dean as well as an editor-in-chief of the Journal of Social Sciences, Srinakharinwirot University.

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น