มลพิษในมหาสมุทร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ทั้งโลกอย่างชัดเจน

มลพิษในมหาสมุทรแพร่วงกว้างและรุนแรงขึ้น ทั้งยังก่อให้เกิดอันตรายกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ในรายงาน Human Health and Ocean Pollution ใน Annals of Global Health ได้มีการประเมินผลกระทบของมลพิษในมหาสมุทรต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างครอบคลุมเป็นครั้งแรก

มลพิษในมหาสมุทร ประกอบไปด้วย โลหะที่เป็นพิษ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียม ของเสียจากเมืองและอุตสาหกรรม ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี สารเคมีที่ใช้ในวงการยา น้ำทิ้งจากการทำเกษตร และสิ่งปฏิกูล มากกว่า 80% เป็นของเสียที่มาจากบนบกลงสู่มหาสมุทรทางแม่น้ำ น้ำไหลบ่า การปลดปล่อยจากชั้นบรรยากาศ ที่ทำให้มลพิษทางอากาศถูกชะล้างลงมหาสมุทรด้วยฝนและหิมะ หรือการทิ้งของเสียลงมหาสมุทรโดยตรง เช่น มลพิษจากโรงบำบัดน้ำเสีย โดยมลพิษในมหาสมุทรจะเข้มข้นที่สุดในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งและกระจุกตัวมากที่สุดตามแนวชายฝั่งของประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง

มลพิษทางทะเลที่อันตรายที่สุด

ขยะพลาสติก ปริมาณมากกว่า 10 ล้านตัน ถูกทิ้งลงสู่ทะเลทุกปี ขยะพลาสติกส่วนใหญ่แตกตัวเป็นอนุภาคไมโครพลาสติกและสะสมอยู่ในทั้งชายฝั่งและทะเลลึก ไมโครพลาสติกมีสารเคมีที่เป็นพิษหลายชนิด ซึ่งเป็นสารเคมีที่รบกวนระบบฮอร์โมนและอาจทำให้เกิดมะเร็ง ความผิดปกติโดยกำเนิด และลดโอกาสการมีบุตร
อนุภาคไมโครพลาสติกเหล่านี้เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและสะสมในสัตว์ทะเล เมื่อเราบริโภคอาหารทะเลที่ปนเปื้อน สารเครมีก็จะเข้าสู่ร่างกายเราด้วย

สารปรอท มีอยู่ทั่วไปในมหาสมุทร และมีที่มาจากการเผาถ่านหินในบ้านและในอุตสาหกรรม ถ่านหินทั้งหมดมีสารปรอทและเมื่อเผาไหม้ไอปรอทจะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและในที่สุดก็ถูกชะล้างลงสู่ทะเล สารปรอทสะสมระดับสูงในปลานักล่า เช่น ทูน่า ปลาที่ปนเปื้อนนี้อาจเป็นอันตรายอย่างมากสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพราะสารปรอททำความเสียหายต่อการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงการเป็นออทิสติกและโรคสมาธิสั้น รวมถึงความผิดปกติทางการเรียนู้อื่นๆ

มลพิษจากปิโตรเลียม จากการรั่วไหลของน้ำมันเป็นภัยต่อจุลินทรีย์ในทะเลที่ทำหน้าที่ผลิตออกซิเจนให้โลก เนื่องจากไปลดความสามารถในการสังเคราะห์แสง

มลพิษทางชายฝั่ง จากของเสียจากอุตสาหกรรม น้ำทิ้งจากการเกษตร ยาฆ่าแมง และสิ่งปฏิกูล ทำให้สาหร่ายที่เป็นอันตรายเพิ่มจำนวนเร็วขึ้น ในสาหร่ายดังกล่าวมีสารพิษ เช่น ซิกัวเตรา และกรดโดโมอิค และจะสะสมอยู่ในตัวปลา เมื่อมนุษย์บริโภคสารพิษเหล่านี้อาจทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม อัมพาต และถึงขั้นเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว และอาจทำให้เกิดโรคหอบหืดได้เมื่อสูดดมเข้าไป

จุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย เกิดจากการรวมตัวกันของมลพิษชายฝั่งและน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นซึ่งกระตุ้นให้เกิดการแพร่กระจายของจุลินทรีย์บางชนิด เช่น แบคทีเรีย วิบริโอ สปีชีส์ เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อวิบริโอซิส ซึ่งมีความรุนแรงถึงชีวิต และเนื่องจากน้ำอุ่นขึ้นเรื่อยๆ จึงส่งผลกระทบขยายถึงพื้นที่ทางเหนือขึ้นไปเรื่อยๆ และผลกระทบทางสุขภาพเหล่านี้ตกอยู่กับชนพื้นเมือง ชุมชนชายฝั่ง และประชากรกลุ่มเปราะบางที่อยู่ซีกโลกใต้มากกว่าประชากรกลุ่มอื่นบนโลก

มลพิษในมหาสมุทรสามารถควบคุมและป้องกันได้ เช่นเดียวกับมลพิษทุกรูปแบบ การห้ามใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวททิ้ง และการคัดแยกขยะที่ดีขึ้นสามารถลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดได้โดยตรง โดยเฉพาะขยะพลาสติกทั้งบนบกและในทะเล จะเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันมลพิษในมหาสมุทรและปกป้องสุขภาพของเราเอง

มลพิษในมหาสมุทรและผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนา (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย ในเป้าประสงค์ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2030 และ เป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเป้าประสงค์ 14.1 ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทโดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษของสารอาหาร ในปี 2025

ที่มา: The Conversation


Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น