ป่าอะเมซอนถูกทำลายเพิ่มขึ้น 17% ทำให้โลกสูญเสียป่าปฐมภูมิสูงสุดเป็นปีที่ 3 ขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซียทำผลงานได้ดีขึ้น

ข้อมูลใหม่จากโครงการดาวเทียมติดตามป่าอะเมซอน (Monitoring of the Andean Amazon Project: MAAP) ภายใต้องค์กรไม่แสวงผลกำไรของสหรัฐฯ ‘Amazon Conservation’ เมื่อ 7 เมษายน 2564 เผย การตัดไม้ทำลายป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างป่าอะเมซอน ในปี 2563 ทำลายพื้นที่ป่าไม้ไปเท่าขนาดของประเทศเอลซัลวาดอร์

ภาพจาก: MAAP และสามารถอ่านข้อมูลฉบับเต็มที่ได้ Amazon Deforestation 2020

ทำให้โลกได้สูญเสียป่าปฐมภูมิ (primary forest) หรือป่าดิบดั้งเดิม (intact forest) สูงสุดเป็นครั้งที่ 3 (2559, 2560, 2563) ตั้งแต่ปี 2543 ที่ประมาณ 2.3 ล้านเฮกเตอร์ (14.375 ล้านไร่) ที่ครอบคลุม 9 ประเทศโดยรอบป่าอะเมซอน โดยที่ประเทศโบลิเวีย เอกวาดอร์ และเปรูมีระดับการตัดไม้ทำลายป่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่บราซิลสูญเสียพื้นที่ป่าปฐมภูมิไปมากกว่า 1.5 ล้านเฮกเตอร์ (9.375 ล้านไร่) หรือ 65% ในปี 2563 มากที่สุดในกลุ่มประเทศรอบป่าอะเมซอน ตามมาด้วยโบลิเวีย (10%) เปรู (8%) โคลอมเบีย (6%) เวเนซูเอลา และเอกวาดอร์ ที่น้อยกว่า 2% ทั้งคู่

โดยประเทศที่สูญเสียป่าปฐมภูมิในปี 2563 มากที่สุดในโลก ได้แก่ บราซิล สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) และโบลิเวีย

สาเหตุหลักของการตัดไม้ทำลายป่าอะเมซอนมาจากภาคเกษตรกรรมและที่เกี่ยวกับการปศุสัตว์ ตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็ก เทคนิคการเผาหน้าดินในโบลิเวียที่อาจทำให้เกิดไฟป่าและภาวะแล้งขึ้น และ ‘ไฟป่า’ นี้เองที่เป็นตัวการของการสูญเสียป่าปฐมภูมิครั้งใหญ่ทั้ง 3 ครั้งดังที่กล่าวข้างต้น

นอกจากนี้ยังรวมถึงการทำเหมืองทองคำผิดกฎหมายในป่าอะเมซอนของเปรู และ ‘การแย่งยึดที่ดิน’ (land grabbing) ซึ่งสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้ขนาดพื้นที่ป่าลดลงนั้น ย่อมกระทบกับการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย โดยเฉพาะที่โลกได้สูญเสียแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญไป ทั้งยังกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่พึ่งพิงป่าและสัตว์ป่าที่ใช้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย

จากป่าฝนในอเมริกาใต้มองกลับมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าจะยังอยู่ในจุดที่เสี่ยง แต่ก็มีความพยายามอนุรักษ์พื้นที่ป่ามากขึ้น โดยในอินโดนีเซียซึ่งมีป่าฝนใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลกและยังเป็นแหล่งผลิตน้ำมันปาร์มขนาดใหญ่ที่สุดนั้น กลับมีการสูญเสียพื้นที่ป่าปฐมภูมิลดน้อยลงเป็นปีที่ 4 อันเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลที่จะ ‘ระงับ’ การทำลายป่าปฐมภูมิ ระงับใบอนุญาตการปลูกและผลิตน้ำมันปาร์ม การปรับปรุงกฎหมาย การคำนึงถึงสิทธิในที่ดิน และการใช้เทคโนโลยีจัดการปัญหาไฟป่า

เช่นเดียวกับมาเลเซียที่การสูญเสียป่าปฐมภูมิลดลงตกมาเป็นอันดับ 9 จากที่เคยสูญเสียป่าปฐมภูมิมาก โดยมีแผนจะออกกฎหมายป่าไม้ที่เข้มงวดขึ้น ทั้งการเพิ่มโทษปรับและจำคุกเมื่อมีการตัดไม้ทำลายป่าผิดกฎหมาย

ขณะที่ประเทศอื่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างกัมพูชา ลาว และเมียนมา ยังคงมีระดับการตัดไม้ทำลายป่าที่สูงอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ SDGs
#SDG13 ปฏิบัติการเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ
#SDG15 (15.1) หลักประกันการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ระบบนิเวศบนบกรวมถึงบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะป่าไม้ (15.2) การจัดการป่าไม้ หยุดการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่า (15.5) หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

แหล่งที่มา:
https://www.reuters.com/article/us-latam-deforestation-climate-change-tr/amazon-deforestation-rose-17-in-dire-2020-data-shows-idUSKBN2BU2O8
https://maaproject.org/2021/amazon-hotspots-2020-final/
https://www.eco-business.com/news/global-rainforest-loss-relentless-in-2020-but-southeast-asia-offers-hope/

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น