‘Zero Malaria’ เพราะทุกการตายจากโรคมาลาเรียป้องกันได้

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2564 ที่ผ่านมาเป็น ‘วันมาลาเรียโลก’ กับธีม ‘Zero Malaria’ อีกครั้งที่ย้ำเตือนข้อเท็จจริงว่า ไม่ควรมีใครตายจากโรคมาลาเรียที่สามารถป้องกันได้ และเราควรเดินหน้าลดจำนวนเคสและการตายจากโรคมาเรียลง 90% จนสามารถยุติได้ภายในปี 2573 ตาม #SDG3 (3.3) ที่ระบุให้ ‘ยุติการแพร่กระจายของโรคมาลาเรีย’ ไว้อย่างชัดเจน

เข้าถึงได้ที่: https://endmalaria.org/worldmalariaday2021

ปัจจุบัน มีหลายประเทศทั่วโลกที่สามารถยุติโรคมาลาเรียลงได้ด้วยวิธีการป้องกันจากการมีบริการทางสาธารณสุขที่ครอบคลุมการตรวจโรคและการรักษาสำหรับทุกคน ส่วนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็มีพัฒนาการไปในทางที่ดีในห้วง 20 ปีที่ผ่านมา ที่ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงสามารถลดจำนวนเคสลงได้ 97% และลดจำนวนการตายลงได้มากกว่า 99% ระหว่างปี 2000-2020 แต่นั่นก็ไม่ใช่จุดสิ้นสุด หากมองภาพใหญ่ระดับโลก ยังคงมีประเทศที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะภูมิภาคที่ยังคงเป็นที่น่ากังวลก็คือแถบแอฟริกาที่แม้เมื่อปี 2020 จะมีหมุดหมายลดจำนวนเคสและการตายลง 40% จากปี 2015 และภาพรวมมีจำนวนเคสลดลง 9-10% ในทุก 5 ปี ระหว่างปี 2000-2015 แต่ก็ยังคงมี 36 ประเทศจาก 44 ประเทศที่ไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้ โดยระยะ 5 ปีหลังระหว่างปี 2016–2020 จำนวนเคสกลับลดลงน้อยกว่า 2% และในปี 2020 มีจำนวนการตาย 384,000 คนซึ่งรวมถึงเด็กและผู้หญิงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การตายจากโรคมาลาเรียยังกระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ลดลง 1.3% ด้วย ทำให้ประเด็นการยุติโรคมาลาเรียยังคงสำคัญและจำเป็นสำหรับแอฟริกา

ข้อมูลจาก WHO ระบุว่าปัจจัยที่ทำให้ความสำเร็จอาจล่าช้าเกี่ยวข้องกับการมี/ไม่มีงบประมาณสำหรับโครงการโรคมาลาเรีย ระบบสุขภาพถ้วนหน้าที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการเปลี่ยนผ่านวิธีการแบบบนลงล่างมาให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้ดำเนินการ ขณะที่ความท้าทายของภูมิภาคแอฟริกามีประเด็นการกลายพันธุ์ของโรคที่ทำให้การแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นในเมืองด้วย

ซึ่งการจะเดินหน้าเพื่อยุติโรคมาลาเรียได้จะต้องทำความเข้าใจว่า มันไม่สามารถแก้ปัญหาทาง ‘โรค’ ได้อย่างเดียว WHO ย้ำว่าจะต้องมีการทำงานร่วมกันข้ามสาขา คำนึงทั้งในเชิงการเมือง ระบบสุขภาพ และคนเป็นศูนย์กลาง โดยให้หลักฐานและองค์ความรู้จากงานวิจัยและวิชาการได้ถูกนำมาใช้ถกเถียงกัน ควบคู่ไปกับเครื่องมือเดิมที่ใช้อยู่แต่ให้ครอบคลุมมากขึ้น อาทิ มุ้งกันยุงภายในครัวเรือน การบริการตรวจไข้ในทุกกรณีภายในพื้นที่โรคประจำถิ่นนั้น (endemic areas)  และการใช้ ‘intermittent preventive’ รักษาในกลุ่มสตรีมีครรภ์ มิเช่นนั้น อาจมีสตรีมีครรภ์ถึง 11.6 ล้านคนที่เป็นโรคมาลาเรีย และเด็กเกิดใหม่ 822,000 คนจะมีน้ำหนักน้อย

โดยสำหรับ WHO ก็เริ่มนำร่องฉีดวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย RTS,S และคาดว่าภายในอีก 18 เดือน จะมีการฉีดวัคซีนมากกว่า 1.7 ล้านโดสให้ครอบคลุมจำนวนประชากรในประเทศกานา เคนยา และมาลาวี รวมทั้ง WHO จะมีการออก ‘ใบรับรองยุติโรคมาลาเรีย’ (Certification of malaria elimination) ให้กับประเทศที่ปลอดจากโรคมาลาเรียอย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน เฉกเช่นที่จีนได้ลงทะเบียนเมื่อปี 2016 และปลอดจากโรคมาลาเรียมาจนถึงปัจจุบัน จนได้ใบรับรองยุติโรคมาลาเรียจาก WHO ไปเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG3 (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรียและโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยและต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
https://news.un.org/en/story/2021/04/1090542
https://www.who.int/news-room/events/detail/2021/04/25/default-calendar/world-malaria-day-2021
https://reliefweb.int/report/world/getting-malaria-prevention-back-track

Last Updated on เมษายน 25, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น