สุขภาพหัวใจของคนทำงาน ‘เป็นกะ’ จะดีจะร้ายขึ้นอยู่กับว่าชั่วโมงทำงานสัมพันธ์กับนาฬิกาชีวภาพ (ร่างกาย) หรือไม่

ทีม Dr. Sara Gamboa Madeira จากมหาวิทยาลัยลิสบอน ประเทศโปรตุเกส นำเสนองานวิจัย ในที่ประชุม ESC (European Society of Cardiology) Preventive Cardiology 2021 ว่าด้วยเรื่อง ‘โรคหัวใจที่ป้องกันได้’ ระบุว่า ชั่วโมงการทำงานที่ไม่สอดคล้องกับนาฬิกาชีวภาพ-เวลาการทำงานของร่างกาย (circadian misalignment) ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น โดยเฉพาะเป็นอันตรายต่อกลุ่มที่ทำงาน ‘เป็นกะ’ หรือมีชั่วโมงทำงานไม่ปกติ ดังนั้น แรงงานกลุ่มนี้จึงสมควรจะได้รับการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจอย่างใกล้ชิด

ท่ามกลางงานวิจัยที่ศึกษาในประเด็นดังกล่าวที่เพิ่มมากขึ้น งานวิจัยชิ้นนี้เป็นอีกชิ้นหนึ่งที่ย้ำบทบาทสำคัญของ ‘ความไม่สัมพันธ์’ ของนาฬิกาชีวภาพในสมองและร่างกายกับชั่วโมงการทำงานหรือใช้ชีวิตในสังคม ที่มีผลต่อสุขภาพโดยเฉพาะความเสี่ยงต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งได้พูดถึง ‘chronotype’ โครโนไทป์ หรือ ประเภทของคนแต่ละกลุ่มที่มีเวลาการตื่น การทำงาน  และการเข้านอนที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มหนึ่งรู้สึกกระฉับกระเฉงที่จะทำงานในตอนเช้าและหลับในหัวค่ำ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งอาจตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง เป็นต้น ทำให้นาฬิกาของร่างกายแต่ละคนอาจจะ ‘ฝืน’ หรือต่างไปจากนาฬิกาตามชั่วโมงการทำงาน

โดยงานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษากับกลุ่มคนที่ใช้แรงงาน 301 คน ที่ทำงานแยกประเภทสินค้าในโกดังของบริษัทค้าปลีกโปรตุเกส กับชั่วโมงการทำงานที่สลับกันอยู่ 3 กะเป็นประจำ ได้แก่ ในช่วงเช้า (6.00 – 15.00 น.) ช่วงค่ำถึงดึก (15.00 – 24.00 น.) และช่วงดึก (21.00 – 6.00 น.) โดยผู้เข้าร่วมได้ตอบแบบสอบถามระบุอายุ เพศ การศึกษา ชั่วโมงการทำงาน ระดับตำแหน่ง ปัจจัยการใช้ชีวิต พร้อมกับได้รับการวัดความดันโลหิต ระดับคลอเรสเตอรอล ระยะเวลาการนอนหลับเพื่อนำไปประเมินนาฬิกาชีวภาพของแต่ละคนที่ต่างกันไปตามกลุ่มโครโนไทป์ด้วย

ซึ่งในภาพรวม อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมอยู่ที่ 33 ปีที่ 56% เป็นผู้ชาย มากกว่าครึ่ง (51%) สูบบุหรี่ 49% มีระดับคลอเรสเตอรอลสูง 10% มีความดันโลหิตสูง (hypertension) และประมาณ 40% มีระยะเวลานอนในวันทำงานเพียง 6 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น ทั้งนี้ มีการใช้ปัจจัยการสูบบุหรี่ ความดันโลหิต และระดับคลอเรสเตอรอล มาประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยจัดเป็นสเกลที่ 1 กลุ่มคนไม่สูบบุหรี่ที่มีความดันโลหิตและคลอเรสเตอรอลปกติดี จนถึงสเกลที่ 12 คนสูบบุหรี่ที่มีความดันโลหิตและคลอเรสเตอรอลสูง ซึ่งสำหรับงานวิจัยนี้ หากตกอยู่ในความเสี่ยงตั้งแต่สเกลที่ 3 หรือมากกว่า ก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่อโรคสูงแล้ว

จากนั้น จึงนำข้อมูลไปสำรวจหาความสัมพันธ์ระหว่าง ‘social jetleg’ กับความเสี่ยงต่อโรคต่อไป ซึ่งผู้เข้าร่วมก็ได้ถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่มตาม ‘social jetleg’ หรือ ชั่วโมงการทำงานและนาฬิการ่างกายที่ไม่สัมพันธ์กัน กล่าวคือ ชั่วโมงที่รู้สึกอ่อนเพลียเพราะไม่สามารถปรับนาฬิการ่างกายได้ตามชั่วโมงการทำงาน โดยพบว่า มี 59% ที่มี social jetleg อยู่ 2 ชั่วโมงหรือน้อยกว่า 33% ที่ 2 – 4 ชั่วโมง และ 8% ที่ 4 ชั่วโมงหรือมากกว่า และโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่เกือบ 2 ชั่วโมง

โดยสรุป ตามงานวิจัยนี้จึงชี้ว่าคนที่มีจำนวนชั่วโมง ‘social jetleg’ มาก ที่นาฬิการ่างกายและนาฬิกาทำงานไม่สัมพันธ์กัน ทำให้ยิ่งมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้นไปด้วย ดังนั้นจึงต้องทำการศึกษาประเภทคนตามโครโนไทป์ที่ต่างกัน เพื่อให้สามารถจัดสรรและจัดการเวลา สภาพร่างกาย และจิตใจได้ตาม ‘กะ’ ที่ต้องรับผิดชอบ รวมทั้งได้รับการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจอย่างใกล้ชิดด้วย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 – (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ ป้องกัน รักษาโรค สนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
#SDG8 ทั่วไปในเรื่องของงานที่ดี สิทธิแรงงาน และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

แหล่งที่มา:
https://www.escardio.org/The-ESC/Press-Office/Press-releases/Heart-health-of-shift-workers-linked-to-body-clock

Last Updated on เมษายน 29, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น