Director’s Note: 02 – ว่าด้วยเครือข่าย SDSN Thailand

สวัสดีครับทุกคน

สัปดาห์ที่แล้วเว้นไปสัปดาห์หนึ่งเนื่องจากตรงกับ Holiday ของผมดี เลยขอมารายงานตัวรวบยอดในสัปดาห์นี้ครับ 

สัปดาห์นี้นอกจากจะสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นกับ SDG Move ในช่วงระหว่างวันที่ 3 พฤษภาคม ถึง 14 พฤษภาคม แล้ว ยังใช้โอกาสนี้ในการเล่าให้ฟังถึงเครือข่าย SDSN ประเทศไทยด้วย ทั้งความเป็นมา หน่วยงานที่ร่วมหัวจมท้ายกันมา และทิศทางของเครือข่ายในปีนี้อีกด้วย 

1) Weekly Update: 03-14 พฤษภาคม 2564

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานับตั้งแต่ Director’s Note 01 นั้น SDG Move มีการดำเนินการหลายอย่างในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟังครับ

ในช่วงสัปดาห์วันที่ 3 ถึง 7 พฤษภาคม เราได้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ Foresight ใน 2 ภาคสุดท้าย คือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือสำหรับโครงการ Area-Needs ที่เราช่วย สกสว. ทำโครงการตามเล่าให้ฟังไปในคราวก่อน นับจากนี้จะเป็นการประมวลผลของทีมส่วนกลางเพื่อนำเสนอกับทาง สกสว. ในสัปดาห์นี้คือวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ พร้อม ๆ กับทีมภาค ส่วนทีมภาคเองก็อยู่ในช่วงของการทำการบ้านต่อจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ คือ ทำการสำรวจองค์ความรู้ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยกประเด็นขึ้นมาว่ามันมีการทำวิจัยในเรื่องเหล่านี้หรือยัง ถ้ามีแล้วมีการนำไปใช้หรือยัง ผู้เล่นด้านความรู้ที่เกี่ยวข้องมีใครบ้าง ทั้งผู้ผลิต ผู้เผยแพร่/ส่งต่อ และผู้ใช้ความรู้ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปเพื่อใช้ในการจัดทำแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศต่อไป และท้ายที่สุด เมื่อผ่านช่วงนี้ไปก็จะเป็นช่วงของการจัดทำรายงานระดับกลุ่มจังหวัด และการพัฒนาเครือข่ายเชิงยุทธศาสตร์ในระดับพื้นที่ต่อไป

สัปดาห์ที่แล้ว วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม 2564 เรามีการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่รับผิดชอบการดำเนินการเกี่ยวกับตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับทางนักวิจัยจากมูลนิธิพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ในโครงการของIHPP ร่วมกับ SDG Move เป็นหลัก และทีมวิจัยที่กำลังทำงานกับ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ก็ขอเข้าร่วมเพื่อสัมภาษณ์ด้วย โดยสัมภาษณ์เพิ่มเติมจากประเด็นการจัดทำตัวชี้วัด SDGs เชื่อมโยงไปยังประเด็นว่าการประเมินตามตัวชี้วัดมีส่วนในกระบวนการงบประมาณอย่างไร และในการจัดทำข้อมูลตัวชี้วัดเหล่านี้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดทำอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ ในวันที่ 6 พฤษภาคม มีการประชุม Global Manager Team ของเครือข่าย Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ในระดับโลก ที่คุยเรื่องการจัดทำ Network Action Report 2021 (อ่านของปี 2020 ที่นี่)  และวันที่ 7 พฤษภาคม มีการนัดประชุมปรึกษาหารือเฉพาะเครือข่าย SDSN Thailand กับทีมเครือข่ายของระดับโลกที่ช่วยกระตุ้นเตือนและแนะนำเครือข่ายใหม่ ๆ อย่างเรา 

เรื่องราวของ SDG Move กับสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และมูลนิธิพัฒนานโยบายระหว่างประเทศ (IHPP) เป็นประเด็นที่น่าสนใจควรแก่การเล่าสู่กันฟังและบันทึกไว้ แต่เนื่องจากอาจจะใช้พื้นที่มากจึงขอแบ่งเล่าในโอกาสหน้า วันนี้ขอเล่าถึงเครือข่าย SDSN และ SDSN Thailand สักนิด

2) ว่าด้วยเครือข่าย SDSN Thailand

เครือข่าย SDSN เป็นเครือข่ายนักวิชาการที่นำโดย Prof. Jeffrey Sachs จาก Columbia University ที่นครนิวยอร์ก ตั้งแต่ปี 2012 โดยเป็นเครือข่ายวิชาการที่ทำงานกับองค์การสหประชาชาติ ทำหน้าที่ “Mobilizing Experts” เพื่อมาช่วยกันหาทางออกให้กับการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัจจุบันมีเครือข่ายมากกว่า 800 สถาบันทั่วโลก และในหลายประเทศมีเครือข่ายระดับชาติ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีเครือข่าย SDSN ระดับชาติตั้งแต่ปี 2012 ผลงานเด่นที่สุดของ SDSN เห็นจะเป็น SDG Index ที่กระทั่งประเทศไทยใช้เป็นดัชนีที่ชี้สถานะของ SDGs ของไทย 

เครือข่าย SDSN ประเทศไทย เพิ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม 2020 โดยหน่วยงานเจ้าภาพคือ SDG Move นี่เองในนามคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ท่าน ศ.สุริชัย หวันแก้ว เป็นผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทย.) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.จิตติ มังคละศิริ และปัจจุบันทาง มูลนิธิพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ก็อยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือมาเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนร่วมกัน

SDSN Thailand มีเป้าหมายเพื่อการสร้างการปรึกษาหารือแบบหลายภาคส่วนเรื่อง SDGs (Multi-stakeholder Dialogue) ทำงานวิจัยเชิงนโยบายและผลิตขอเสนอในการขับเคลื่อน SDGs สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายเชิงประเด็นเพื่อการขับเคลื่อน SDGs และการส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ดี ในช่วงปีที่ผ่านมา มีข้อติดขัดทั้งเรื่องของวิกฤติ COVID-19 และเรื่องของแผนงบประมาณในการขับเคลื่อน แต่ปีนี้รับรองว่าจะมีการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมกับสมาชิก และจะมีผลงานที่ดำเนินการมาตลอดปีที่ผ่านมาออกมาเผยแพร่กันบ้างแน่นอน

การจัดตั้ง SDSN Thailand นั้นเกิดขึ้นจากความอนุเคราะห์ของหลายองค์กร ที่ต้องกล่าวถึงเลยคือ กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ท่านทูตกาญจนา ภัทรโชค เป็นอธิบดี (ปัจจุบันเป็นเอกอัคราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม) ได้ช่วยผลักดันอย่างแข็งขันเสมอมาไม่ขาดตอน สถาบันคลังสมองของชาติ ที่เป็นตัวกลางจัดให้เกิดการประชุมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ในช่วงปี พ.ศ. 2561 และสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ที่อำนวยความสะดวกให้เรามีโอกาสพูดคุยกับ SDSN สวิตเซอร์แลนด์

อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนเพื่อการจัดตั้ง SDSN ประเทศไทยมีอุปสรรคหลายอย่าง ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเป็นภาพสะท้อนของการขับเคลื่อนใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับ SDGs ในประเทศไทยด้วย ปัญหาสำคัญคือ ปัญหาเรื่อง Legitimacy หรือความชอบธรรม เวลาที่เราจะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง คำถามที่ผู้คนโดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐถามเสมอคือ “คุณเป็นใคร จะมาขับเคลื่อนเรื่องนี้” และยิ่งในการขับเคลื่อน SDGs นั้น ภาครัฐเป็นเจ้าภาพหลักด้วยแล้ว ทำให้การลุกมาขับเคลื่อน SDGs ในภาพใหญ่ไม่ง่ายนักหากรัฐบาลไม่ได้มีส่วนร่วมในการรับรอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในการวางตัวโดยเฉพาะในยุคที่รัฐบาลที่มีการดำเนินการหลายประการที่น่ากังขาว่าอาจขัดแย้งกับเป้าหมาย SDGs ในแบบที่ยอมรับได้ไม่ง่ายนัก และการได้รับการรับรองโดยรัฐอาจทำให้การทำงานกับภาคส่วนอื่นที่สำคัญโดยเฉพาะภาคประชาสังคมเป็นไปได้ยากขึ้นไปอีก ดังนั้นการสร้างสมดุลเชิงความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นฝ่ายต่าง ๆ จีงเป็นสิ่งที่ท้าทายตามมา

เราจึงมองว่า ในฐานะที่สิ่งที่เราพยายามทำใกล้เคียงกับ SDSN มาก และ SDSN มีความเกี่ยวข้องกับ UN ด้วย น่าจะทำให้มีความชอบธรรมในการขับเคลื่อนไม่น้อยทีเดียว ซึ่งก็ไม่ผิดคาดมากนักเมื่อหน่วยงานต่าง ๆ เริ่มมีความสนใจที่จะร่วมมือกับเราในนาม SDSN Thailand พร้อม ๆ กับ SDG Move (หรือไม่ก็นิยม SDSN Thailand มากกว่าเสียด้วยซ้ำ)

เรื่องงบประมาณสำหรับการขับเคลื่อนเครือข่ายหรือ Platform ลักษณะนี้ในระบบวิจัยของประเทศไทยนั้นไม่ง่ายนัก แหล่งทุนที่สนใจให้ทุนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเครือข่ายดูจะไปอยู่ทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มากกว่า แต่ทาง สสส. เองก็ต่างมี Agenda เฉพาะของตนเช่นกัน ทำให้เราต้องปรับยุทธศาสตร์การทำงาน

ตอนนี้เราปรับยุทธศาสตร์โดยมุ่ง 2 ประการคือ ประการแรก ทำงานผ่านเครือข่าย และประการที่สอง เลือกทำงานในประเด็นที่แหล่งทุนให้ทุนและนำทุนมาจุนเจือการขับเคลื่อนเครือข่ายในส่วนอื่น ประการแรก การทำงานผ่านเครือข่ายหมายถึง เน้นไปที่การอำนวยการและดึงสมาชิกที่มีอยู่และขยายสมาชิกในอนาคตให้เข้ามาในเครือข่ายและอำนวยการให้เกิดการพูดคุย นำไปสู่ความริเริ่มโดยสมาชิกที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเครือข่ายและเจ้าภาพหลักก็ช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดความร่วมมือต่อไป ประการที่สองคือ หาเงินมาจ้างคนทำส่วนแรกด้วยการรับงานในประเด็นที่แหล่งทุนให้ความสนใจ ตอนนี้มีหลายหน่วยงานที่ดูมีศักยภาพที่จะสร้างความร่วมมือ ก็เป็นหน้าที่ของเราเองที่ต้องคว้าโอกาสเหล่านั้นมาให้ได้

ปัจจุบัน SDSN ประเทศไทยมีสมาชิก 12 แห่งประกอบด้วย 

1. สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

2. สถาบันไทยพัฒน์

3. มูลนิธิมั่นพัฒนา

4. มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

5. สาขาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

6. Freeland

7. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

8. สาขารัฐประสาศนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

9. สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

10. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

11. วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 

12. มหาวิทยาลัยสยาม

https://www.unsdsn.org/sdsn-members

Last Updated on พฤษภาคม 17, 2021

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น