SDG Vocab | 14 – Unpaid Care Work – งานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้าง

Unpaid Care Work คือ งานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้าง หมายถึง งานดูแลและบริการที่ไม่ได้รับค่าจ้างทั้งหมดที่ทำเพื่อสมาชิกในครัวเรือน (domestic care) ทั้งการดูแลสมาชิกโดยตรง เช่น การดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ และการดูแลโดยอ้อม เช่น การทำอาหาร การทำความสะอาดบ้าน การไปตักน้ำหรือเก็บฟืนมาสำรองไว้ใช้ในครัวเรือน รวมถึงงานอาสาบริการชุมชนที่ทำโดยไม่รับเงิน โดยกิจกรรมเหล่านี้ถือเป็น ‘งาน’ เพราะเราสามารถจ้างบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนในบ้านมาเป็นผู้ดูแลได้

งานดูแลที่ไม่รับค่าจ้างนี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคล ครอบครัว ไปจนถึงสังคมโดยรวม งานเหล่านี้ต้องการเวลาและกำลังกายต่างกันไป ตามแต่สถานที่ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน รวมไปถึงอายุ สถานภาพการสมรส และจำนวนบุตร

ผู้หญิงและผู้ชายใช้เวลาทำงานดูแลโดยไม่ได้รับค่าจ้างคนละกี่นาทีต่อวัน ?

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ การแบ่งงานดูแลในบ้านนี้อย่างไม่เป็นสัดส่วนที่เหมาะสม โดยผู้หญิงทั่วโลกใช้เวลากับงานดูแลโดยไม่ได้รับค่าจ้างมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากค่านิยมของสังคมที่คาดหวังว่างานดูแลสมาชิกครอบครัวเป็นความรับผิดชอบของผู้หญิงเป็นหลัก แม้ว่าพวกเธอจะทำงานนอกบ้านเช่นกัน สิ่งนี้จึงเป็นการสร้าง ‘ภาระสองเท่า’ หรือ ‘Double Burden’ ให้ผู้หญิง

ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) พบว่าในระดับโลก ผู้หญิงทำงานเฉลี่ยวันละ 7.5 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นงานที่ได้รับค่าจ้าง 3 ชั่วโมง และที่เหลือคือการทำงานดูแลครัวเรือนที่ไม่ได้รับค่าจ้าง และหากพิจารณาตามระดับรายได้ของประเทศ (ต่ำ-ปานกลาง-สูง) เป็นที่น่าสนใจว่า ผู้หญิงใช้เวลาในการทำงานดูแลโดยไม่ได้รับค่าจ้างเท่าๆ กันทั้งหมด

ผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีชั่วโมงทำงานต่อวันนานที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงในภูมิภาคนี้ทำงาน 7.7 ชั่วโมงต่อวัน โดยได้รับค่าจ้างเพียง 3.3 ชั่วโมง และส่วนที่เหลืออุทิศให้กับงานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้าง หากนับรวมงานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างของผู้หญิงเหล่านี้เข้าไปในการวัดผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) จะทำให้ GDP ทั้งหมดในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น 3.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับค่าเฉลี่ยเวลาที่ใช้ในการทำงานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างและงานที่ได้รับค่าจ้างของหญิงไทย อยู่ที่ 2.9 และ 3.9 ชั่วโมงต่อวันตามลำดับ ซึ่งเวลาที่ใช้เพื่องานดูแลที่ไม่ได้ค่าจ้างของหญิงไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและของภูมิภาค ในขณะที่ชายไทยใช้เวลาทำงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างเพียง 1 ชั่วโมงต่อวัน แต่ทำงานที่ได้รับค่าจ้างถึง 7.1 ชั่วโมงต่อวันซึ่งเป็นชั่วโมงการทำงานที่นานกว่าค่าเฉลี่ยโลกซึ่งอยู่ที่ 5.4 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น

เวลาที่ใช้ในการทำงานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างและงานที่ได้รับค่าจ้างระหว่างหญิงและชายในระดับโลกและภูมิภาคต่างๆ
ที่มา: ILO

ผลกระทบต่อผู้หญิงหากต้องเป็นฝ่ายรับภาระงานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างอย่างไม่เท่าเทียม

  • ปัญหาสุขภาพ ความเครียดจากการต้องรับผิดชอบหน้าที่หลายอย่างพร้อมกันส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกายของผู้หญิง และในบางพื้นที่ที่ยังคงใช้เชื้อเพลิงที่ไม่สะอาด ผู้หญิงซึ่งทำหน้าที่ประกอบอาหารให้สมาชิกครัวเรือนเป็นประจำอาจได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศซึ่งเกิดขึ้นมากกว่าผู้อื่น
  • ขาดโอกาสในการศึกษา โดยเฉพาะในครอบครัวที่ยากจน ผู้หญิงมักจะเป็นฝ่ายที่ต้องออกจากการเรียนเพื่อมาทำหน้าที่ดูแลบ้านและดูแลคนในครอบครัวเสมอ
  • ขาดโอกาสในการเติบโตในอาชีพ เพราะเมื่อต้องใช้เวลาในงานดูแลบ้านเพิ่มขึ้น ทำให้มีเวลาเพื่องานที่ได้รับค่าจ้างน้อยลงไป ส่งผลให้ผู้หญิงขาดความมั่นคงทางรายได้ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคใหญ่ในการใช้ชีวิตในบั้นปลาย

การดำเนินการเพื่อช่วยลดภาระงานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างของผู้หญิง

  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาด สุขอนามัย ไฟฟ้า ระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย จะช่วยลดภาระของผู้หญิงในครอบครัวได้
  • รัฐต้องลงทุนในงานบริการด้านการดูแล เพื่อให้มีบริการดูแลเด็ก ผู้ป่วย และผู้สูงอายุที่มีคุณภาพและราคาเข้าถึงได้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลในครัวเรือน
  • ให้ทั้งพ่อและแม่ลาเลี้ยงบุตรโดยได้รับค่าจ้าง เพื่อให้สามารถแบ่งความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูบุตรซึ่งมักเป็นหน้าที่ฝ่ายแม่เป็นส่วนใหญ่ได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่กังวลถึงการสูญเสียรายได้

ศึกษาเพิ่มเติม รายงาน UNESCAP – Unpaid Work in Asia and the Pacific

คำว่า ‘งานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้าง’ อยู่ใน ‘#SDG5 เป้าประสงค์ที่ 5.4 – ยอมรับและให้คุณค่าต่องานดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดเตรียมบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคมให้ และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัวตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ’

Target: 5.4 Recognize and value unpaid care and domestic work through the provision of public services, infrastructure and social protection policies and the promotion of shared responsibility within the household and the family as nationally appropriate.


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา:
International Labour Organization. (2018, June). Care work and care jobs for the future of decent work. ILO. https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—dgreports/—dcomm/—publ/documents/publication/wcms_633135.pdf
Matters, D. (2019, March 21). Why you should care about unpaid care work. Development Matters. https://oecd-development-matters.org/2019/03/18/why-you-should-care-about-unpaid-care-work/
UN Women. (2019). PROGRESS OF THE WORLD’s WOMEN 2019–2020 FAMILIES IN a CHANGING WORLD. https://www.unwomen.org/-/media/headquarters/attachments/sections/library/publications/2019/progress-of-the-worlds-women-2019-2020-en.pdf?la=en&vs=3512

Last Updated on มกราคม 3, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น