‘การนอนไม่พอ’ ในบุคลากรทางแพทย์ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ผลิตภาพของงาน และความปลอดภัยของคนไข้

– เพราะสุขภาพของบุคลากรทางการแพทย์ก็สำคัญ –

การนอนไม่เพียงพอ และ นอนไม่เต็มตื่นส่งผลเสียต่อร่างกายทุก ๆ คน ทำให้เสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม การเสียชีวิต และเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไม่ติดต่ออื่น อาทิ โรคอ้วน โรคหัวใจ รวมถึงปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งปัจจัยหนึ่งของปัญหาปริมาณและคุณภาพการนอนมาจาก ‘ความเครียดที่มาจากงาน’ โดยทั่วไป กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มักเป็นกลุ่มที่ประสบกับปัญหาการนอนมาตลอดและอยู่ในอันดับต้น ๆ ยิ่งปัจจุบันที่อยู่ในภาวะกดดันจากสถานการณ์โรคระบาด ทำให้ประสบกับปัญหาการนอนมากขึ้น กระทบต่อสุขภาพของตนเอง ความปลอดภัยของคนไข้ รวมถึงผลิตภาพของงานการสาธารณสุขและทางเศรษฐกิจด้วย

การศึกษาที่ผ่านมาหลายชิ้นเกี่ยวกับการนอนหลับไม่เพียงพอในกลุ่มพยาบาล มีการศึกษาในปี 2559 พบว่า พยาบาล 55% ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 30-70% นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน ในอีกการศึกษาหนึ่งพบว่า 57% ของกลุ่มผู้ให้บริการ-ดูแลสุขภาพโดยตรง ที่ต้องดูแลสุขภาพคนไข้ ‘ระยะยาว’ อย่างผู้ช่วยพยาบาล ผู้ดูแลส่วนบุคคล ผู้ดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน (home health aides) และพยาบาล 68% ในโรงพยาบาลมะเร็ง ประสบกับอาการ ‘นอนไม่หลับ’ (insomnia) หรือตื่นกลางดึก อีกการศึกษาหนึ่ง ที่ศึกษาเรื่องการนอนจากหลากหลายกลุ่มอาชีพ พบว่า อาชีพผู้ให้บริการ-ดูแลสุขภาพติดอันดับที่ 2 กลุ่มอาชีพที่มีช่วงเวลาการนอน (sleep duration) น้อยมาก กล่าวคือ นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง เช่นเดียวกับผลของการศึกษาเมื่อปี 2561

โดยปัญหาการนอนในมิติคุณภาพและปริมาณ ได้ส่งผลเสียต่อภาระทางเศรษฐกิจด้วยในแง่ของการสูญเสียผลิตภาพของงาน (productivity) เมื่อปี 2553 ปัญหาการนอนไม่หลับของแรงงานในสหรัฐฯ เท่ากับเสียผลิตภาพของงานคิดเป็น 252.7 วัน คิดเป็นเงิน 63.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ปัญหาการนอนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ยังมีผลเสียต่อการสาธารณสุขด้วย กล่าวคือ ส่งผลต่อความปลอดภัยของคนไข้ คุณภาพในการให้บริการสุขภาพ รวมทั้งอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดการทางแพทย์และการรักษา อย่างที่การศึกษาปี 2563 ระบุว่า มีกรณีที่แพทย์ไม่ได้นอนเลย ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการรักษาถึง 97%

การศึกษาเหล่านี้ได้ชี้ว่า สภาพแวดล้อม/เงื่อนไขการทำงานของบุคลาการทางการแพทย์ ทั้งชั่วโมงการทำงานที่ไม่เป็นเวลา การถูกเรียกให้เข้าทำงานขณะที่เป็นเวลานอนหลับ และการที่จะต้องจัดการกับโรคภัยซึ่งเป็นความเป็นความตายเร่งด่วน ล้วนส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณการนอนหลับของบุคลากร ไม่เพียงเท่านั้น หากบุคลากรในภาคส่วนนี้ต้องรับผิดชอบงานการดูแลนอกเหนือจากที่โรงพยาบาล ในฐานะผู้ปกครองที่ดูแลบุตร หรือบุตรที่ดูแลพ่อแม่ผู้สูงวัย ย่อมกระทบกับปัญหาการนอน ไปจนถึงปัญหาสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน

การศึกษาของทีม Soomi Lee ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้าน Aging Studies มหาวิทยาลัย South Florida พบว่าบรรดาบุคลากรทางการแพทย์มีความต้องการรับการรักษาแก้ไขปัญหาการนอนหลับ โดยสนใจวิธีการควบคุม/จัดการกับสติ (mindfulness-based strategies) ที่ให้โฟกัสกับการกระทำ-ความเป็นไปที่เกิดขึ้น ณ ขณะปัจจุบัน สังเกต เท่าทัน และยอมรับในสิ่งที่คิด สิ่งที่รู้สึก โดยเฉพาะที่การทำสมาธิทำให้ผ่อนคลายขึ้นซึ่งจะช่วยลดความเครียดจากการทำงานและลดปัญหาการนอนไม่หลับ

อย่างไรก็ดี วิธีการรักษาปัญหาการนอนหลับนั้นมีลักษณะเฉพาะตามแต่ละปัญหาของบุคคล วิธีการอื่น ๆ ที่อาจจะสามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนของบุคลาการทางแพทย์ได้มี อาทิ การควบคุมตารางเวลาชีวิต ไปจนถึงปัจจัยแวดล้อมอย่างการได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้างาน และการปรับสภาพแวดล้อม/เงื่อนไขของการทำงาน เป็นต้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี – (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายใน ปี 2573
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่ดีสำหรับทุกคน รวมถึงในด้านผลิตภาพของแรงงาน (productivity) และ (8.8) สิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน

แหล่งที่มา:
https://theconversation.com/lack-of-sleep-is-harming-health-care-workers-and-their-patients-160421

Last Updated on มิถุนายน 6, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น