โลกต้องใช้เงินลงทุนกับ ‘Nature-based Solutions’ มากกว่าเดิม 3 เท่าภายในปี 2573 เพื่อสุขภาวะที่ดีของเราและโลก

สถานภาพของระบบนิเวศปัจจุบันที่เสื่อมโทรมเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ที่เน้น ‘การเติบโตเศรษฐกิจ’ เป็นเป้าหมายมากกว่าคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ถึงแม้จะไม่สามารถตีมูลค่าของธรรมชาติเป็นเงินได้ แต่มากกว่าครึ่งของ GDP โลกต่างพึ่งพาธรรมชาติเป็นรากฐาน อาทิ ภาคเกษตรกรรม อาหาร เครื่องดื่ม และความอยู่ดีมีสุขของคน ทำให้การละเลยธรรมชาติย่อมจะนำมาซึ่งความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ

ดังนั้น เพื่อสร้างหลักประกันว่ามนุษย์จะไม่ล้ำเส้นธรรมชาติจนเกินไป จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่อง ‘ความสัมพันธ์กับธรรมชาติ’ ตั้งแต่นโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดซื้อ ภาษี การค้าและระเบียบการค้า จนถึงการตัดสินใจของภาคธุรกิจและสถาบันทางการเงินในด้าน ‘การลงทุน’ ให้สอดคล้องกับธรรมชาติและเพื่อธรรมชาติ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ข้อริเริ่มเศรษฐศาสตร์ความเสื่อมโทรมของดิน (Economics of Land Degradation Initiative: ELD) และบริษัท Vivid Economics โดยการสนับสนุนของรัฐบาลเยอรมันและลักเซมเบิร์ก จึงได้ออกรายงาน ‘State of Finance for Nature: Tripling investments in Nature-based Solutions by 2030’ ที่มีใจความเน้นให้มีการลงทุนกับ ‘การแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน’ (Nature-based Solutions: NbS) ให้ได้อีก 3 เท่าภายในปี 2573 หรืออีก 4 เท่าภายในปี 2593 โดยชี้จุดให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเงิน ลงทุนเพื่อฟื้นฟูดิน จัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ไปพร้อมกับสนับสนุนการสร้างงาน

โดยเฉพาะว่าการลงมือเปลี่ยนแปลง ณ วันนี้ จะช่วยให้โลก – ทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม – ฟื้นกลับมาดีขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาดได้

เข้าถึงรายงานได้ที่ : ‘State of Finance for Nature: Tripling investments in Nature-based Solutions by 2030

ปัจจุบัน (ฐานปี 2563) โลกมีการลงทุนใน NbS 133 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี โดยส่วนใหญ่ 86% หรือ 115 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาจากภาครัฐ และอีก 14% หรือ 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  มาจากภาคเอกชน โดยสำหรับภาครัฐนั้น การลงทุนจำนวนนี้ใช้ไปกับการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิประเทศ และเกือบ 2 ใน 3 ใช้ไปกับการฟื้นฟูผืนป่า การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ และเกษตรกรรมแนวใหม่ที่เน้นการฟื้นฟูดินให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิมอย่าง ‘Regenerative Agriculture’ ตลอดจนการอนุรักษ์น้ำและระบบการควบคุมมลพิษ

แต่ถึงกระนั้นเงินลงทุนใน NbS 133 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นี้ ยังไม่เพียงพอและยังน้อยกว่างบประมาณลงทุนในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น จึงจะต้องเพิ่มให้มากขึ้นอีก 3 เท่า หรือ 354 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือคิดเป็นการลงทุนทั้งหมด 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะต้องเติมเต็มให้ได้ภายในปี 2573 และ 4 เท่า หรือ 536 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือคิดเป็นการลงทุนทั้งหมด 8.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2593 โดยครึ่งหนึ่งของการลงทุนจำนวนนี้ ควรนำไปใช้กับการบริหารจัดการ การปกป้อง การอนุรักษ์ และการฟื้นฟูอาณาบริเวณของทรัพยากรป่าไม้ อาทิ การปลูกป่า การฟื้นฟูป่าชายเลน การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ การทำวนเกษตรแบบ ‘Silvopasture’ ซึ่งเป็นการรวมต้นไม้และการปศุสัตว์ไว้ในที่เดียวกัน อันเป็น ‘การแก้ปัญหาแบบมีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน’ (NbS) ทั้งสิ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อหยุดวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวิภาพ และความเสื่อมโทรมของดิน

อ่านต่อในรูปแบบ Infographic ที่ : State of Finance for Nature – infographics

ทั้งนี้ ในรายงานเน้นย้ำความสำคัญของการเปิดกระบวนการหารือกับหลากหลายภาคส่วน เพื่อปรับปรุงกระบวนการตัดสินใจ และระบบและกรอบการทำงานที่ใช้ติดตาม-รายงานสถานะการเคลื่อนไหวของเงินลงทุน ไปจนถึงการลดการไหลเวียนของเงินในกิจกรรมที่เป็นอันตราย

โดยเฉพาะต้องให้ความสำคัญกับบทบาทของภาคเอกชนและภาคการเงิน กระตุ้น/สร้างแรงจูงใจให้ลงทุนใน NbS มากขึ้น และให้การเงินของภาคเอกชนสอดคล้องกับนโยบายสาธารณะ เพราะการลงทุนใน NbS เพื่อส่งเสริมความสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลง (resilience) ย่อมนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อภาคเอกชนและภาคการเงิน อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่จะขยายการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนด้วย

อย่างไรก็ดี การลงทุนใน NbS ก็ดีและการใช้งบประมาณหลังโควิด-19 ก็ดี ควรจะสอดคล้องไปกับวัตถุประสงค์ของข้อตกลงปารีสว่าด้วยเรื่องสภาพภูมิอากาศ (2558) เป้าหมายของอนุสัญญาริโอทั้ง 3 ฉบับ (ร่าง) ข้อตกลงคุณหมิงว่าด้วยเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ และข้อตกลงอื่นที่เกี่ยวข้อง

หากสามารถลงมือทำในตอนนี้ ผลลัพธ์โดยเร็วที่สุด จะเห็นว่ามีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ที่ดินลดลง และความหลากหลายทางชีวิภาพจะกลับมาคงที่ที่ระดับเดิม ในทางกลับกัน หากไม่ลงทุนในตอนนี้ ในภายภาคหน้า โลกจะประสบกับภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร ความไม่มั่นคงทางน้ำ และภัยคุกคามต่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์เอง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 – (13.3) การศึกษา ความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และสถาบันในการลดปัญหา Climate Change การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG15 – (15.1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง
– (15.2) บริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม เพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลก
– (15.3) ฟื้นฟูแผ่นดินและดินที่เสื่อมโทรม พยายามบรรลุโลกที่ไร้ความเสื่อมโทรมของที่ดิน
– (15.5) หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
– (15.9) บูรณาการมูลค่าของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปสู่การวางแผน /กระบวนการพัฒนา
– (15.a) ระดมและเพิ่มทรัพยากรทางการเงินจากทุกแหล่งเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
ประเด็นนี้ยังเกี่ยวข้องกับ #SDG2 ความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรมที่ยั่งยืน #SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี และ #SDG6 การมีน้ำสะอาด/ความมั่นคงทางน้ำ โดยมีส่วนที่พูดถึง ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ (6.6)

แหล่งที่มา:
https://www.aljazeera.com/economy/2021/5/27/green-investments-must-triple-by-2030-report-urges
https://www.unep.org/resources/state-finance-nature

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น