นับถอยหลัง HLPF 2021 – การประชุม HLPF คืออะไร ?

– นับถอยหลังสู่การประชุม ‘HLPF 2021’ หมุดหมายสำคัญของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมความเข้าใจก่อนวันประชุมจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 6-15 กรกฎาคม 2564 เราจึงชวนมารู้จักว่าการประชุม HLPF คืออะไร สำคัญอย่างไร ความเกี่ยวข้องของไทยกับเวที ดังกล่าว รวมถึงว่าประชาคมโลกเขาพูดเรื่องอะไรกันจนถึงปัจจุบันนี้ –

HLPF 2021 – 01 – การประชุม HLPF คืออะไร ?

  • จุดกำเนิดของการประชุม HLPF เป็นผลมาจากผลลัพธ์การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Conference on Sustainable Development – UNCSD) ณ นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ในปี 2555 (หรือ Rio+20) โดยเริ่มมีการประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2556 ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ได้ให้การรับรองยอมรับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2573 ซึ่งประกาศสู่โลกในปี 2558 – หากนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นเมื่อปี 2556 จะทำให้การประชุม HLPF 2564 ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 9
  • ภายใต้ร่มของการประชุม HLPF มีการเตรียมการหลายช่วง และยังครอบคลุมถึงการประชุมระดับประมุขของรัฐภายใต้สมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติทุก ๆ 4 ปี เป็นเวลา 2 วัน อย่างไรก็ดี ที่เรามักพูดถึงกันคือการประชุม HLPF ที่จัดขึ้นทุกปีเป็นระยะเวลา 8 วัน (ซึ่งรวมถึงการประชุมระดับรัฐมนตรีเป็นเวลา 3 วัน) ในช่วงเดือนกรกฎาคม โดยคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council -ECOSOC) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
  • เอกสารประกอบการประชุมมี อาทิ รายงานความคืบหน้าประจำปีจัดทำโดยเลขาธิการสหประชาชาติ และรายงาน Global Sustainable Development Report (GSDR) โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์อิสระ

หากตั้งคำถามว่า เวทีใดที่เราจะสามารถเห็น ‘การลงมือทำ’ ของบรรดาประเทศต่าง ๆ ในโลกในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งหมด 17 เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นทางการที่สุด คำตอบคงจะไม่พ้นเวทีระดับโลกอย่าง ‘การประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน’ หรือ ‘การประชุม HLPF’ (High-Level Political Forum on Sustainable Development) ที่เรียกได้ว่าเป็น ‘สัญลักษณ์’ ของการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2573 เลยก็ว่าได้

โดยเฉพาะในแง่ของการเป็นเวทีที่ให้บรรดาประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries – LDCs) ประเทศที่ไม่มีอาณาเขตติดทะเล (Landlocked Developing Countries – LLDCs) รวมถึงกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะ (Small Island Developing States – SIDs) ใช้เป็นพื้นที่แสดงเจตจำนงทางการเมือง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถกแถลงประเด็น/เป้าหมายที่เชื่อมโยงกัน (cross-cutting issues) ประเด็น/เป้าหมายที่ต้องการเน้นย้ำเป็นการเฉพาะ หรือประเด็นใหม่ ๆ ตลอดจนแบ่งปันประสบการณ์การขับเคลื่อนเชิงประเด็นและเชิงกลไก ทั้งความสำเร็จและความท้าทายในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น กล่าวได้ว่าหน้าที่หนึ่งของเวที HLPF ก็คือ ‘การติดตามความก้าวหน้า’ ของการขับเคลื่อน SDGs ในภาพรวมของโลกเพื่อให้สอดประสานกันไปอย่างเป็นระบบ

โดยส่วนที่เป็นผลผลิตและผลลัพธ์ที่ใช้ในการติดตามความก้าวหน้าดังกล่าวนั้น เรารู้จักกันในชื่อ ‘รายงาน VNR’ (Voluntary National Review) หรือ รายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2573 ระดับชาติโดยสมัครใจ ที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้จัดทำตามบริบทของประเทศ/ท้องถิ่นและกลไก นำความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในดำเนินการขับเคลื่อน มารายงานและแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศสมาชิกและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่เข้าร่วมการประชุม ทำให้เวลาที่นึกถึงการประชุม HLPF ย่อมมีภาพของการรายงาน VNR ร่วมด้วย

ส่วนเรื่ององค์ประชุมและผู้เข้าร่วมนั้น นอกจากจะมีผู้นำและคณะผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ แล้ว ยังกอปรไปด้วยบรรดาองค์กรพิเศษภายใต้โครงสร้างของสหประชาชาติ และที่สำคัญคือ ‘ภาคประชาสังคม’ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ภาคเอกชน ภาควิชาการ สหภาพแรงงานหรือการค้า กลุ่มชนพื้นเมือง กลุ่มผู้พิการ สตรีและเยาวชน เป็นต้น ที่จะได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในกระบวนการหารืออย่างเป็นทางการ ในลักษณะการเข้าถึงข้อมูล การนำเสนอข้อมูล การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น-ข้อเท็จจริงในวงประชุมหลักและกิจกรรมที่จัดควบคู่กันไป ไปจนถึงนำเสนอข้อเสนอแนะต่าง ๆ

ในแง่นี้ การที่ที่ประชุม HLPF รวมไปด้วยคณะผู้แทนจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ตลอดจนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศ กล่าวคือทั้งผู้กำหนดนโยบาย ตัวแสดง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การประชุม HLPF จึงมีความสำคัญมากต่อการขับเคลื่อน SDGs ระดับโลกให้เป็นรูปธรรม

ติตตามข่าวสาร HLPF 2021 ได้ที่ : https://sustainabledevelopment.un.org/hlpf/2021
ข้อมูล HLPF ทั้งหมดที่ : https://sustainabledevelopment.un.org/hlpf
และ VNRs ที่ : https://sustainabledevelopment.un.org/vnrs/
หรือติดตามช่องทางของ SDG Move ที่ : https://www.sdgmove.com/?tag=hlpf และ https://www.sdgmove.com/tag/vnr/

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG17 หุ้นส่วนระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
https://sustainabledevelopment.un.org/hlpf
https://sustainabledevelopment.un.org/hlpf/2021
(SDG Move 2017) การประชุม High-Level Political Forum คืออะไร
(SDG Move 2021) การประชุม HLPF 2021 จะเกิดขึ้นในเดือน ก.ค. นี้
(กระทรวงการต่างประเทศ 2017) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน

Last Updated on มกราคม 4, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น