SDG Insights | Inside SDG Index : เจาะลึก SDG Index 2021 ของประเทศไทย

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเครือข่าย Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ระดับโลก ได้มีการเปิดตัว Sustainable Development Report 2021 และ SDG Index 2021 ซึ่งเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) ร่วมกับศูนย์วิจัยและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดทำ Press Release และเผยแพร่ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานะประเทศไทยใน SDG Index 2021 ประกอบการเปิดตัวรายงานฉบับนี้ด้วย

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาทุกท่านเจาะลึกลงไปใน SDG Index เพื่อทำความเข้าใจวิธีการประเมิน และสถานะของประเทศไทยในรายละเอียดที่ทำให้เห็นความท้าทายสำคัญที่ประเทศไทยควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ บทความนี้จะชี้ให้เห็นว่า แม้ประเทศไทยจะเดินบนเส้นทางของการบรรลุเป้าหมาย SDGs ผ่านมาแล้วเกือบ 3 ใน 4 ของเส้นทางทั้งหมด โดยสะท้อนจากคะแนน SDG Index ปีนี้ที่ 74.12 คะแนน จาก 100 คะแนน แต่ช่วงสุดท้ายอีก 1 ใน 4 นี้ไม่ใช่งานที่ง่ายเลย 

ความท้าทายสำคัญของประเทศไทยที่สะท้อนจากตัวชี้วัด SDG Index 2021 ยังคงกระจุกตัวอยู่ในประเด็น ‘ความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรม’ ‘ประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ และ ‘ประเด็นธรรมาภิบาลและสิทธิเสรีภาพ’ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ส่วนใหญ่มีแนวโน้มถดถอยหรือยังคงติดขัดพัฒนาได้ยากอยู่ด้วย การจะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนคงไม่สามารถที่จะเน้นประเด็น Quick Win ได้อีกต่อไป แต่ต้องหาทางในการจัดการกับปัญหา Hard to Win เหล่านี้อย่างเป็นระบบและจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบถึงในระดับฐานราก


01 – The Methodology : ทำความเข้าใจการประเมินของ SDG Index

สิ่งแรกที่ต้องย้ำ คือ SDG Index ไม่ใช่การประเมินขององค์การสหประชาชาติ แต่เป็นการประเมินของเครือข่ายวิชาการ Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ซึ่งเป็นเครือข่ายนักวิชาการระดับโลกและทำงานกับองค์การสหประชาชาติในการขับเคลื่อน SDGs มาตั้งแต่ปี 2012 และเนื่องจากข้อจำกัดของข้อมูลตัวชี้วัดในระดับโลกทำให้ SDG Index สามารถประเมินความก้าวหน้าของ SDGs ได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ได้ถูกรวมเข้ามาในการประเมินนี้ 

ภาพที่ 1 : ช่องว่างข้อมูลและตัวชี้วัดสำหรับ SDGs

การประเมิน SDG Index ในปี 2021 นี้ครอบคลุม 165 ประเทศ ซึ่งลดลงจากปีก่อน 1 ประเทศ (เนื่องจากขาดข้อมูลของประเทศ Comoros) โดย 165 ประเทศนี้เป็นประเทศที่มีตัวชี้วัดอย่างน้อย 80% ของตัวชี้วัดทั้งหมด (91 ตัวชี้วัดสำหรับทุกประเทศ) นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงตัวชี้วัดและวิธีการประเมินบางส่วน ซึ่งทำให้คะแนนการประเมินของปีนี้ ไม่สามารถเปรียบเทียบกับคะแนนของปีก่อนได้ การประเมินนี้จะประเมินประเทศพัฒนาแล้วอย่างเข้มข้นกว่าประเทศกำลังพัฒนา โดยตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะประเทศกลุ่ม OECD มีจำนวนมากกว่าตัวชี้วัดประเทศนอกกลุ่ม OECD อีกประมาณ 30 ตัวชี้วัด

ภาพที่ 2 : ตัวชี้วัดที่เพิ่มขึ้นมาหรือมีการปรับปรุง

คำถามที่มีการถามเสมอเกี่ยวกับ SDG Index คือวิธีการประเมินคะแนนและการให้สีไฟจราจร (แดง ส้ม เหลือง เขียว) กับแต่ละ Goals ในหัวข้อนี้ขออธิบายโดยสรุปเพื่อความเข้าใจในภาพรวม ท่านที่สนใจสามารถอ่านโดยละเอียดได้ที่ Part 4 ของรายงาน Sustainable Development Report 2021 

ประเด็นที่คนตั้งคำถามคือความน่าเชื่อถือของตัว Index ในส่วนนี้ผู้อ่านอาจมีความมั่นใจได้ในระดับสูงทีเดียวเนื่องจากสถิติและวิธีวิทยาของการจัดทำ SDG Index ผ่านการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ โดย European Commission Joint Research Centre (JRC) และได้รับการยืนยันว่าข้อมูลและกระบวนการมีความน่าเชื่อถือ

แหล่งข้อมูลหลัก (ประมาณ 2 ใน 3 ของตัวชี้วัดทั้งหมด) ที่ใช้เป็นข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศทที่มีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่เข้มข้น (เช่น World Bank, OECD, WHO, FAO, ILO, UNICEF เป็นต้น) อีก 1 ใน 3 ของตัวชี้วัดใช้แหล่งข้อมูลอื่นที่น่าเชื่อถือ เช่น การสำรวจระดับครัวเรือนเช่น (Gallup World Poll) ข้อมูลจากองค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่าย (เช่น Oxfam, Tax Justice Network, World Justice Project, Reporters without Borders) และบทความวิชาการในวารสารวิชาการ คณะผู้จัดใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลระดับนานาชาติที่สามารถเปรียบเทียบกันได้ระหว่างประเทศเท่านั้น ดังนั้นข้อมูลที่แสดงอาจต่างจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติหรือหน่วยงาน และปีของข้อมูลจะช้ากว่าข้อมูลที่มีในประเทศเนื่องจากต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องและทำให้เปรียบเทียบได้ระหว่างประเทศ

การคำนวณคะแนนนั้น รายงาน SDR2021 ได้อธิบายไว้ค่อนข้างละเอียด แต่โดยสรุปก็คือ คณะทำงานจะนำตัวชี้วัดที่อยู่ในหน่วยหรือเกณฑ์ที่หลากหลายนั้นมาทำให้สามารถเปรียบเทียบกันได้โดยการนำมา Normalize ให้ทุกค่ามาอยู่ในช่วงคะแนน 0 ถึง 100 โดย 0 คือสถานะตัวชี้วัดที่แย่ที่สุด และ 100 คือ สถานะตัวชี้วัดที่ดีที่สุด และเพื่อป้องกันความแปรปรวนของข้อมูล ได้มีการตัดค่าที่เป็น Outliers ออกไปทั้งค่าสูงสุดและต่ำสุด รวมถึงมีการกำหนดขอบเขตบน (Upper Bound) และล่าง (Lower Bound) ของแต่ละตัวชี้วัดเพื่อนำมาใช้แปลงค่าตัวชี้วัดให้เป็น 0-100 โดยหากค่าตัวชี้วัดต่ำกว่าขอบเขตล่างถือว่าได้ 0 เลยโดยอัตโนมัติ และหากคะแนนสูงกว่าขอบเขตบนถือว่าได้ 100 เต็มโดยอัตโนมัติ

สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักก็คือ การคิดคะแนนจากค่าตัวชี้วัด มาเป็นคะแนน SDG Index นั้นเปรียบเสมือนกันตัดเกรดแบบ ‘อิงกลุ่ม’ ผสมกับการ ‘อิงเกณฑ์’ สำหรับค่าตัวชี้วัดที่เป็นขอบเขตบนและขอบเขตล่าง ดังนั้น แม้ว่าตัวชี้วัดของประเทศจะ ‘ผ่านเกณฑ์’ แต่อาจจะยังทำได้ไม่ดีเท่าประเทศอื่น และนำมาซึ่งค่าสีของตัวชี้วัดนั้น ๆ 

วิธีการตีความคะแนนตัวชี้วัด และคะแนน SDG Index ก็คือ สมมติว่า ประเทศได้คะแนน 50 คะแนนจาก 100 คะแนนในตัวชี้วัดหนึ่ง ๆ นั่นแปลว่า ประเทศนั้นยังมีระยะห่างจากเป้าหมายอีกครึ่งหนึ่ง หรือหากได้คะแนน 75 คะแนน ก็แปลว่า ประเทศนั้นได้เดินทางมา 3 ใน 4 ของเส้นทางแล้วเหลืออีก 1 ใน 4 เพื่อการบรรลุเป้าหมาย

ในการคำนวณคะแนนรวม SDG Index ให้น้ำหนักกับเป้าหมาย SDGs แต่ละเป้านั้นเท่ากัน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้กำหนดนโยบายจะเห็นว่าทุกเป้าหมายนั้นมีความสำคัญพอ ๆ กันและต้องดำเนินการอย่างบูรณาการตามบริบทของประเทศของตน สำหรับการคำนวณค่าคะแนนของเป้าหมายและของประเทศ ค่าเฉลี่ยเลขคณิตของคะแนนตัวชี้วัดในแต่ละ SDG จะถูกคำนวณก่อน แล้วจากนั้นจึงนำคะแนนของทุกเป้าหมายมาหาค่าเฉลี่ยอีกครั้งกลายเป็นคะแนนของประเทศ 

การกำหนดสีไฟจราจรสำหรับแต่ละเป้าหมายนั้น มีวิธีการที่น่าสนใจ คือ มิได้คำนวณคะแนนรวมของ SDG นั้นแล้วมาแทนค่าเป็นสีเขียว เหลือง ส้ม หรือแดง หากแต่ใช้วิธีพิจารณา 2 ตัวชี้วัดที่มี ‘สถานะแย่ที่สุด’ ในเป้าหมายนั้น ยกตัวอย่างเช่น เป้าหมายหนึ่งมี 10 ตัวชี้วัด จะพิจารณาเฉพาะตัวชี้วัดที่มีสถานะแย่ที่สุด 2 ตัวชี้วัด หากตัวชี้วัดทั้งสองอยู่ในสถานะสีแดง ทั้งเป้าหมายนั้นก็จะถูกกำหนดว่าเป็นเป้าหมายสีแดง ในขณะที่ ถ้าเป้าหมายหนึ่งมีตัวชี้วัดที่แย่ที่สุด 2 ตัวในสถานะสีเขียว เป้าหมายนั้นจะถูกกำหนเว่าเป็นเป้าหมายสีเขียว เป็นต้น เหตุผลที่ใช้วิธีการพิจารณาเช่นนี้ เพราะ SDG Index ต้องการให้แต่ละประเทศไม่ทิ้งตัวชี้วัดใดไว้ข้างหลัง หากกำหนดสีโดยใช้เฉพาะคะแนนเฉลี่ยของเป้าหมาย ก็อาจทำให้ประเทศไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาของตัวชี้วัดสองตัวที่แย่ที่สุดนั้นก็ได้

ภาพที่ 3 : ตัวอย่างการจัดอันดับ สีเป้าหมาย จากการพิจารณาสถานะตัวชี้วัด 2 ตัว ที่แย่ที่สุด

ส่วนสุดท้าย คือ แนวโน้ม SDG Index ซึ่งคำนวณจากการประมาณความเปลี่ยนแปลงของแต่ละตัวชี้วัดแบบเส้นตรงโดยใช้ข้อมูลช่วงปี 2015 – 2019 แล้วประมาณการไปถึงปี 2030 หากประมาณการแล้วคะแนนมีค่าลดลงจะได้ลูกศรชี้ลงสีแดง หากประมาณการแล้วมีค่าตัวชี้วัดเพิ่มขึ้นไม่ถึง 50% ของค่าเป้าหมายที่ควรจะเป็นในปี 2030 จะถือว่าไม่พัฒนาหรือหยุดนิ่ง ได้ลูกศรชี้ไปทางขวาสีส้ม หากประมาณการแล้วจะเพิ่มขึ้นเกิน 50% แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายในปี 2030 จะถือว่ามีการพัฒนาเล็กน้อย ได้ลูกศรชี้เฉียงขึ้นไปทางขวาสีเหลือง และหากประมาณการแล้วจะเพิ่มขึ้นไปถึงเป้าหมายหรือปัจจุบันถึงเป้าหมายแล้ว จะถือว่าเป็นไปตามแผน ได้ลูกศรชี้ขึ้นสีเขียว


02 – SDG Index ประเทศไทย : ภาพรวม

ภาพที่ 4 : SDG Dashboard ของประเทศไทย

ในภาพรวม ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 43 จาก 165 ประเทศ มีคะแนน SDG Index เท่ากับ 74.2 คะแนน แปลว่า ในเชิงของการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 นั้น หาก 0 คือจุดเริ่มต้นและ 100 คือปลายทาง ประเทศไทยเดินทางมาเกือบ 3 ใน 4 ของระยะทางทั้งหมดแล้ว 

แม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบคะแนนจาก SDG Index 2020 กับ 2021 คะแนนของประเทศไทยจะลดลง แต่แท้จริงแล้ว คะแนนของประเทศไทยมีค่าสูงขึ้นหากพิจารณาตามชุดตัวชี้วัดและวิธีการคำนวณที่ปรับปรุงใหม่ในปี 2021 หากเปรียบเทียบกับคะแนน SDG Index 2020 คะแนนของประเทศไทยจะลดลงจาก 74.5 คะแนนในปี 2020 มาเป็น 74.2 คะแนนในปี 2021 อย่างไรก็ดี เนื่องจากปี 2021 มีตัวชี้วัดที่เพิ่มขึ้นมาหลายตัว และมีการปรับปรุงวิธีการคำนวณ

ส่วนคะแนน Spillover 88.7 คะแนน นั้นหมายถึง ประเทศไทยมีส่วนในการสร้างผลกระทบทางบวกต่อประเทศอื่นจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เราได้ 88.7 คะแนน แปลว่า เราอาจจะกำลังสร้างผลกระทบทางลบให้กับประเทศอื่น คิดเป็นคะแนนติดลบไป 11.3 คะแนน ซึ่งส่วนสำคัญที่เราสร้างผลเสียให้ประเทศอื่นอยู่ที่การส่งออกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งเป็นสารเคมีอันตราย โดยข้อมูลจาก FAO ในปี 2018 ระบุว่า ปริมาณส่งออกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจากไทยสูงถึง 144.82 ตันต่อประชากรหนึ่งล้านคน อีกประการสำคัญคือ ยังมีการนำเข้าสินค้าบริการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง และคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพสิ่งมีชีวิตบนบกและในน้ำ

จาก Dashboard ข้างต้น ประเทศไทยมีเป้าหมายที่ถูกจัดว่ายังมีความท้าทายสำคัญอยู่ถึง 5 เป้าหมาย อย่างไรก็ดี หากพิจารณาวิธีการคำนวณแล้วจะพบว่า หาใช่ว่าเป้าหมายเหล่านี้อยู่สถานะที่ไม่ดีทั้งหมด แต่เหตุที่เป้าหมายนี้อยู่ในสถานะสีแดงก็เพราะว่า ตัวชี้วัดที่แย่ที่สุด 2 ตัว ของเป้านั้นเป็นสีแดง แม้ว่าตัวชี้วัดส่วนใหญ่จะเป็นสีเขียวก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาในระดับตัวชี้วัด จะทำให้เราเห็นภาพความท้าทายของประเทศได้ชัดเจนที่สุด ในภาพที่ 5 แสดงให้เห็นถึงจำนวนและสัดส่วนของตัวชี้วัด SDG Index ทั้งหมดที่ประเทศไทยมีข้อมูลและได้รับการประเมิน จำนวน 90 ตัวชี้วัด พบว่า อยู่สถานะที่นับว่าบรรลุแล้ว (เขียว) 44% ยังคงมีความท้าทายอยู่บ้าง (เหลือง) 23% ความท้าทายสำคัญยังคงอยู่ (ส้ม) 15% และยังมีความท้าทายมาก (แดง) 18%

ภาพที่ 5 : จำนวนและสัดส่วนของตัวชี้วัด SDG Index ของประเทศไทยจำแนกตามสถานะ
แหล่งข้อมูล: https://dashboards.sdgindex.org/downloads
แผนภาพ: จัดทำโดยผู้เขียน

03 – พิจารณารายเป้าหมาย : ประเด็นใดทำได้ดี ประเด็นใดน่าเป็นห่วง

เมื่อพิจารณาจำแนกตามเป้าหมาย พบว่า เป้าหมาย SDGs ที่มีจำนวนของตัวชี้วัดที่บรรลุเป้าหมายแล้ว (Achieved) มากที่สุด 5 อันดับแรกตามที่แสดงในภาพที่ 6 (ซ้าย) มีดังนี้ 

  • อันดับ 1 – SDG 3 (Good Health and Wellbeing) มีตัวชี้วัดมากที่สุด และมีจำนวนตัวชี้วัดที่บรรลุแล้วมากที่สุด เป็นจำนวน 9 ตัวชี้วัด
  • อันดับ 2 – SDG 6 (Clean Water and Sanitation) มีจำนวนตัวชี้วัดที่บรรลุแล้ว เป็นจำนวน 4 ตัวชี้วัด
  • อันดับ 3 – มีทั้งหมด 5 เป้าหมายที่มีจำนวนตัวชี้วัดที่บรรลุแล้วเป็นจำนวน 3 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย
    • SDG 2 (No Hunger) 
    • SDG 8 (Decent Work and Economic Growth) 
    • SDG 9 (Industry Innovation and Infrastructure) 
    • SDG 12 (Responsible Consumption and Production) และ
    • SDG 16 (Peace Justice and Strong Institution)  

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเป็นสัดส่วนแล้ว (ภาพที่ 6 ขวา) พบว่า เป้าหมาย SDGs ที่มีสัดส่วนของตัวชี้วัดที่บรรลุเป้าหมายแล้ว (Achieved) มากที่สุด 5 อันดับแรกมีดังนี้

  • อันดับ 1 – SDG 1 (No Poverty) มีตัวชี้วัดถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้วคิดเป็นสัดส่วน 100% ของตัวชี้วัดทั้งหมด
  • อันดับ 2 – SDG 6 (Clean Water and Sanitation) มีตัวชี้วัดถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้วคิดเป็นสัดส่วน 80% ของตัวชี้วัดทั้งหมด
  • อันดับ 3 – SDG 4 (Quality Education) มีตัวชี้วัดถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้วคิดเป็นสัดส่วน 66.67% ของตัวชี้วัดทั้งหมด  
  • อันดับ 4 – SDG 3 (Good Health and Wellbeing) มีตัวชี้วัดถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้วคิดเป็นสัดส่วน 64.28% ของตัวชี้วัดทั้งหมด  
  • อันดับ 5 – มีทั้งหมด 4 เป้าหมายที่ มีตัวชี้วัดถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้วคิดเป็นสัดส่วน 50% ของตัวชี้วัดทั้งหมด ประกอบด้วย
    • SDG 5 (Gender Equality) 
    • SDG 8 (Decent Work and Economic Growth) 
    • SDG 9 (Industry Innovation and Infrastructure) และ
    • SDG 12 (Responsible Consumption and Production)

ในทางกลับกัน เป้าหมาย SDGs ที่มีจำนวนของตัวชี้วัดอยู่ในสถานะมีความท้าทายมาก (Major challenges remain) จำนวนมากที่สุด 5 อันดับแรกมีดังนี้  (ภาพที่ 7 ซ้าย)

  • อันดับ 1 – SDG 14 (Life Under Water) มีตัวชี้วัดที่อยู่ในสถานะมีความท้าทายมาก จำนวน 3 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย ขนาดพื้นที่เฉลี่ยที่ได้รับการปกป้องในระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ, ดัชนีสุขภาพมหาสมุทรด้านคะแนนน้ำสะอาด, สัดส่วนของปลาที่ถูกจับเกินพอดีหรือประชากรปลาล่มสลายไปแล้วต่อปริมาณปลาที่จับได้ทั้งหมด
  • อันดับ 2 – มีทั้งหมด 4 เป้าหมาย คือ 
    • SDG 2 (No Hunger) ประกอบด้วย 2 ตัวชี้วัดคือ ดัชนีการจัดการไนโตรเจนอย่างยั่งยืน และอัตราการส่งออกสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 
    • SDG 3 (Good Health and Wellbeing)  ประกอบด้วย 2 ตัวชี้วัดคือ อุบัติการณ์ของวัณโรค และอัตราการตายบนท้องถนน
    • SDG 10 (Reduced Inequality) ประกอบด้วย 2 ตัวชี้วัดคือ ค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ที่ปรับสำหรับกลุ่มรายได้สูงสุด และสัดส่วนพัลมา
    • SDG 15 (Life on Land) ประกอบด้วย 2 ตัวชี้วัดคือ ขนาดพื้นที่เฉลี่ยที่ได้รับการปกป้องในระบบนิเวศน้ำจืดที่สำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และดัชนีบัญชีแดงสำหรับความอยู่รอดของพันธุ์พืชและสัตว์

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเป็นสัดส่วนแล้ว พบว่า เป้าหมาย SDGs ที่มีสัดส่วนของตัวชี้วัดที่มีความท้าทายมาก (Major challenges remain) มากที่สุด 5 อันดับแรกมีดังนี้ (ภาพที่ 7 ขวา)

  • อันดับ 1 – SDG 10 (Reduced Inequality) มีตัวชี้วัดที่มีความท้าทายมากคิดเป็นสัดส่วน 100% ของตัวชี้วัดทั้งหมด 
  • อันดับ 2 – SDG 14 (Life Under Water) มีตัวชี้วัดที่มีความท้าทายมากคิดเป็นสัดส่วน 50% ของตัวชี้วัดทั้งหมด 
  • อันดับ 3 – SDG 15 (Life on Land) มีตัวชี้วัดที่มีความท้าทายมากคิดเป็นสัดส่วน 40% ของตัวชี้วัดทั้งหมด
  • อันดับ 4 – SDG 13 (Climate Action) มีตัวชี้วัดที่มีความท้าทายมากคิดเป็นสัดส่วน 33.3% ของตัวชี้วัดทั้งหมด
  • อันดับ 5 – มีทั้งหมด 2 เป้าหมายคือ SDG 2 (No Hunger) และ SDG 5 (Gender Equality) ตัวชี้วัดที่มีความท้าทายมากคิดเป็นสัดส่วน 25% ของตัวชี้วัดทั้งหมด

จากการพิจารณาระดับตัวชี้วัดรายเป้าหมายข้างต้น อาจสรุปได้ว่า ตัวชี้วัดที่ประเทศไทยทำได้ดีนั้น คือ ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายที่ว่าด้วยคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจน (SDG1) การเข้าถึงการศึกษา (SDG4) การเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาล (SDG6) และเป้าหมายที่ว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (SDG8) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมและนวัตกรรม (SDG9) อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดที่ประเทศไทยมีความท้าทายมากแล้ว ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาอยู่มากในตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายด้านความเหลื่อมล้ำ (SDG10 และ SDG5) และเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG13) ระบบนิเวศทางทะเลและมหาสมุทร (SDG14) และระบบนิเวศบนบกและป่าไม้ (SDG15) 


04 – พิจารณารายตัวชี้วัด: ประเด็นท้าทายสำคัญของประเทศ

ดังที่ได้เกริ่นไปในส่วนแรกของบทความ ตัวชี้วัดทุกตัวที่ใช้จะถูกนำมาแปลงเป็นค่าคะแนน 0 – 100 (Normalization) โดยมีความหมายว่า ‘0 คือ จุดที่แย่ที่สุด’ และ ‘100 คือ จุดที่เหมาะสมที่สุด’ ค่าคะแนนที่ได้สะท้อนว่าอีกไกลเพียงใดจึงจะบรรลุเป้าหมายของตัวชี้วัดนั้น อย่างไรก็ดี ใน SDG Index ที่แสดงในรายงานและเว็บไซต์นั้นให้เพียงสถานะสีไฟจราจรสำหรับตัวชี้วัดเท่านั้น แต่มิได้ใส่ค่าคะแนนที่แปลงแล้ว (Normalized Score) มาด้วย ผู้เขียนจึงดาวน์โหลดไฟล์ ‘Database‘ ของข้อมูล SDG Index ทั้งหมดมาคำนวณและนำเสนอในบทความนี้ โดยพยายามตอบคำถามว่า “หากพิจารณาจากค่าคะแนนที่แปลงแล้ว ตัวชี้วัดใดที่ประเทศไทยยังห่างไกลจากการบรรลุเป้าหมาย SDGs ที่สุด ?” ในการนี้ผู้เขียนได้นำตัวชี้วัดมาเรียงตามลำดับค่าคะแนนที่แปลงแล้วจากน้อยไปหามาก แล้วนำค่าคะแนนมาคำนวณ โดยนำ 100 ลบด้วยค่าคะแนนที่แปลงแล้ว จะได้ค่าคะแนนที่แสดงให้เห็นระยะห่างระหว่างสถานการณ์ตามข้อมูลกับเป้าหมายที่ควรจะบรรลุ ภาพที่ 8 ด้านล่าง คือ ตารางแสดงตัวชี้วัด 20 อันดับแรกที่มีระยะห่างมากที่สุดจากการบรรลุเป้าหมาย (How Far from achieving the SDGs?) ตามการคำนวณจาก SDG Index ในตารางระบุ เป้าหมาย (SDG) ตัวชี้วัดที่พิจารณา (Item) ค่าของตัวชี้วัด (Value) ปีของข้อมูล (Year) สถานะตาม SDG Index (Status) และแนวโน้มของการบรรลุเป้าหมาย

ภาพที่ 8 : ตัวชี้วัด 20 ตัวที่มีค่าคะแนนที่แปลงให้เปรียบเทียบกันได้ (Normalized Score) ห่างจากการบรรลุเป้าหมายมากที่สุด
แหล่งข้อมูล: https://dashboards.sdgindex.org/downloads
แผนภาพ: จัดทำโดยผู้เขียน

จากตารางข้างต้นจะเห็นว่า ตัวชี้วัดที่ห่างไกลจากปลายทางที่สุด 20 อันดับแรกนั้น นอกเหนือจากเรื่องอัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนและจำนวนการตีพิมพ์บทความทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคแล้ว ตัวชี้วัดที่เหลือเป็นตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม(SDG 2, 6, 12, 14 และ 15) และตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับธรรมาภิบาลและกลไกและความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (SDG 16 และ 17) 

ตัวชี้วัดที่จัดว่าอยู่ห่างไกลการบรรลุเป้าหมายที่สุด 5 อันดับแรก มีดังนี้

  • อันดับที่ 1 – สัดส่วนของน้ำเสียที่เกิดขึ้นโดยกิจกรรมของมนุษย์ที่ถูกบำบัด หากเส้นทางเดินไปสู่การบรรลุมี 100% ประเทศไทยยังเหลืออีก 98.011% เพื่อเดินไปให้ถึงเป้าหมาย (SDG 6)
  • อันดับที่ 2 – อัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนต่อประชากร 100,000 คน ประเทศไทยยังเหลืออีก 95.115% เพื่อเดินไปให้บรรลุเป้าหมาย (SDG 3)
  • อันดับที่ 3 – อัตราการตีพิมพ์บทความทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคต่อประชากร 1,000 คน ประเทศไทยยังเหลืออีก 85% เพื่อเดินไปให้บรรลุเป้าหมาย (SDG 9)
  • อันดับที่ 4 – ดัชนีการจัดการไนโตรเจนอย่างยั่งยืน ซึ่งสะท้อน 2 มิติทางการเกษตรคือ ประสิทธิภาพการใช้ไนโตรเจนในการเพาะปลูกและประสิทธิภาพของการใช้ที่ดิน ประเทศไทยยังเหลืออีก 72.917% เพื่อเดินไปให้บรรลุเป้าหมาย (SDG 2)
  • อันดับที่ 5 – สัดส่วนของการใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาต่อ GDP ซึ่งแม้ว่าในปี 2017 จะพัฒนาขึ้นมากและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังเหลืออีก 72.865% ในการเดินไปให้บรรลุเป้าหมาย (SDG 9)

ในจำนวน 20 ตัวชี้วัดที่แย่ที่สุด มี 8 ตัวชี้วัดที่ยังมีแนวโน้มที่แย่ลงอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิเสรีภาพ ธรรมาภิบาลและการดำเนินงานภาครัฐ ประกอบด้วย 

  • ดัชนีการจัดการไนโตรเจนอย่างยั่งยืน (อันดับที่ 4, SDG2) 
  • ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index) (อันดับที่ 7, SDG16) 
  • สัดส่วนของรายรับภาครัฐต่อ GDP (อันดับที่ 8, SDG17) 
  • สัดส่วนของปลาที่ถูกจับเกินพอดีหรือประชากรปลาล่มสลายไปแล้วต่อปริมาณปลาที่จับได้ทั้งหมด (อันดับที่ 9, SDG14) 
  • ดัชนีบัญชีแดงสำหรับความอยู่รอดของพันธุ์พืชและสัตว์ (อันดับที่ 14, SDG15) 
  • ดัชนีเสรีภาพสื่อ (อันดับที่ 18, SDG16) 
  • การรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานอย่างมีประสิทธิผล (อันดับที่ 19, SDG8) และ
  • สัดส่วนของประชากรที่รายงานว่ารู้สึกปลอดภัยเมื่อเดินเพียงลำพังยามค่ำคืนในเมือง/พื้นที่ที่ตนอยู่อาศัย (อันดับที่ 20, SDG16)

ใน 20 ตัวชี้วัดที่แย่ที่สุด มี 5 ตัวชี้วัดที่แนวโน้มในระยะยาวมีการพัฒนาน้อยมากหรือไม่มีเลย ประกอบด้วย 

  • อัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนต่อประชากร 100,000 คน (อันดับที่ 2, SDG3) 
  • อัตราการตีพิมพ์บทความทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคต่อประชากร 1,000 คน (อันดับที่ 3, SDG9) 
  • ขนาดพื้นที่เฉลี่ยที่ได้รับการปกป้องในระบบนิเวศน้ำจืดที่สำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (อันดับที่ 10, SDG15) 
  • สัดส่วนงบประมาณรายจ่ายภาครัฐด้านการศึกษาและสุขภาพต่อ GDP (อันดับที่ 16, SDG17)
  • ขนาดพื้นที่เฉลี่ยที่ได้รับการปกป้องในระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (อันดับที่ 17, SDG14)

05 – สรุป : สังเคราะห์บทเรียนสำคัญจาก SDG Index 2021

จากสถิติที่ปรากฏใน SDG Index 2021 ต้องยอมรับว่าประเทศไทยได้เดินทางมากว่า 3 ใน 4 ของเส้นทางสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว หากพิจารณาตามตัวชี้วัดใน SDG Index อย่างไรก็ดี เรายังคงต้องตระหนักว่าตัวชี้วัดใน SDG Index นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวชี้วัด SDGs ทั้งหมดที่พอหาข้อมูลมาใช้ในการประเมินและเปรียบเทียบกันระหว่างประเทศได้ ซึ่งส่วนนี้ชี้ให้เห็นความสำคัญของระบบข้อมูลทางสถิติในทุกมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสันติภาพ ที่จะต้องเก็บข้อมูลได้ทั่วถึงและทันการณ์ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้สามารถสะท้อนภาพรวมของการพัฒนาและผลกระทบของวิกฤติต่าง ๆ ได้ทันการณ์ 

ในระดับเป้าหมาย ความท้าทายสำคัญยังคงอยู่ในเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมและเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพิ่มเติมด้วยเป้าหมายด้านสุขภาพ ดูได้จากสัดส่วนของตัวชี้วัดที่มีความท้าทายมากจะกระจุกตัวอยู่ใน SDG 2 (Zero Hunger) SDG 3 (Good Health and Wellbeing) SDG 5 (Gender Equality) SDG 10 (Reduced Inequality) SDG 13 (Climate Action) SDG 14 (Life under Water) และ SDG 15 (Life on Land) 

เมื่อเจาะลึกลงไปในระดับของตัวชี้วัด เราพบว่า เมื่อนำค่าคะแนนจากค่าตัวชี้วัดที่แปลงแล้ว (Normalized Score) มาพิจารณาให้เห็นถึงช่องว่างการพัฒนา (Development Gap) ระหว่างสถานะปัจจุบันของตัวชี้วัด กับสถานะที่พึงประสงค์ (คะแนนเต็ม 100) (โปรดดูคำอธิบายเรื่องระเบียบวิธีการวัดในหัวข้อ 01) จะพบว่า ตัวชี้วัดที่ยังห่างไกลจากการบรรลุ เป็นตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียม/ความเหลื่อมล้ำ ธรรมาภิบาลและการดำเนินงานภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ แม้จะมีประเด็นด้านสุขภาวะแทรกขึ้นมาบ้าง (เช่น อัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน) ก็ตาม

นอกจากนี้ในกลุ่มตัวชี้วัดที่ท้าทายมากและห่างไกลจากการบรรลุที่สุด 20 อันดับนั้น ตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิเสรีภาพ และธรรมาภิบาล ยังเป็นตัวชี้วัดที่มิได้มีแนวโน้มที่จะพัฒนาขึ้นอีกด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา Hard to Win หรือเป็นประเด็นความยั่งยืนที่ยากเอาชนะได้หากรัฐบาลไม่แสดงเจตจำนงค์ที่จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปถึงระดับรากฐาน และการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างแท้จริง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปถึงระดับรากฐานนั้นต้องปรับลึกลงไปถึงระดับวิธีคิดและเป้าหมายการพัฒนาด้วย การดำเนินการที่อยู่บนวิธีคิดและวิธีการทำงานแบบเดิม และการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณแบบเดิม ไม่มีทางทำให้ประเทศไทยบรรลุสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ 

การฝ่าฟันอุปสรรคในช่วงหนึ่งในสี่สุดท้ายของเส้นทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ไม่ใช่งานที่ง่ายเลย

ในท้ายที่สุด หน่วยงานภาครัฐอาจไม่ต้องเชื่อ SDG Index เลยก็ได้ แต่อย่างน้อยขอให้ข้อค้นพบเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นที่ให้ภาครัฐได้ลองกลับไปทบทวนสถานะและกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดเหล่านี้สักนิด และอาจจะเห็นช่องว่างที่สามารถพัฒนาให้สถานการณ์เหล่านี้ดีขึ้นกว่าเดิมได้

Last Updated on มิถุนายน 20, 2021

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น