ผู้ลี้ภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate refugees): ประเด็นใกล้ตัวที่โลกยังตระหนักถึงน้อยเกินไป

เมื่อวาน (20 มิถุนายน 2564) เป็นวันผู้ลี้ภัยโลก (World Refugee Day)

จำนวนคนพลัดถิ่นภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นมากในปี 2563 โดยมีถึง 40.5 ล้านคนที่กลายเป็นคนพลัดถิ่นในประเทศ ‘รายใหม่’ ในจำนวนนี้มี 9.8 ล้านคนที่พลัดถิ่นอันเป็นผลมาจากปัจจัยด้านความขัดแย้งและความรุนแรง ขณะที่ปัจจัยอีกประการที่สังคมโลกต้องตระหนักมากขึ้นก็คือ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ที่ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ (และอาจรุนแรงขึ้น) อาทิ ไซโคลน ฤดูมรสุม และน้ำท่วม เป็นผลทำให้คนต้องพลัดถิ่นเกือบถึง 30.7 ล้านคน (98%) – มากกว่าปัจจัยความขัดแย้งและความรุนแรงเสียอีก

ภาพจาก: The number of internally displaced people reached a record high in 2020

ตัวอย่างที่ช่วยให้เห็นภาพการพลัดถิ่นเพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเร็วที่สุด คือ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เป็นเวลาร่วม 30 ปีที่ผู้คนซึ่งอาศัยอยู่ตามริมชายฝั่งต้องตกอยู่ในความเสี่ยง โดยยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นจาก 160 ล้านคนเป็น 260 ล้านคน โดยเฉพาะว่า 90% ของจำนวนนี้มาจากประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนและรัฐหมู่เกาะขนาดเล็ก มีการคาดการณ์ว่า 17% ของประเทศบังกลาเทศจะจมภายในปี 2593 จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เป็นผลให้ประชาชนกว่า 20 ล้านคนในพื้นที่นั้น ไม่มีที่อยู่อาศัย

ด้านนักวิทยาศาสตร์เองก็ได้กล่าวว่า หากโลกยังคงร้อนขึ้น ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะหลอมรวมกับปัจจัยอื่น ทำให้เกิดการพลัดถิ่นอีกในอนาคต ขณะที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าหรือค่อยเป็นค่อยไป อาทิ การกลายเป็นทะเลทราย การเสื่อมโทรมของดิน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความเป็นกรดในทะเล และระดับน้ำทะเล จะยิ่ง ‘กระตุ้น’ ให้เกิดการพลัดถิ่นมากขึ้น เพราะปัจจัยดังที่กล่าวมานั้นกระทบต่อการมีที่ดินทำกิน การมีอาหารและน้ำ และความเป็นอยู่ ทว่ายังคงเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะติดตามสถานการณ์และเก็บข้อมูล

ตามรายงาน 2021 GLOBAL REPORT ON INTERNAL DISPLACEMENT ก็ได้ระบุว่า แม้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อหลายแวดวง แต่การที่จะยืนยันว่าเป็นปัจจัยทางตรง/สัมพันธ์โดยตรงที่ทำให้เกิดการพลัดถิ่นภายในประเทศนั้น ยังไม่สามารถตัดสินได้เลยทันที ถึงกระนั้น จากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ (weather-related events) ที่เกิดขึ้นจะพบว่า พายุและน้ำท่วม เป็นสาเหตุหลักของการพลัดถิ่นเมื่อปี 2563 มากกว่าสาเหตุจากความขัดแย้งถึง 3 เท่า ตอกย้ำด้วยข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่เผยแพร่เมื่อเมษายนที่ผ่านมาว่ามีผู้พลัดถิ่นที่เกี่ยวข้องกับเหตุภัยพิบัติจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change-related disasters) มากขึ้นเป็น 21.5 ล้านคนนับจากปี 2553 เป็นต้นมา

นอกจากองค์การระหว่างประเทศ รัฐบาลบางประเทศ/ภูมิภาคเริ่มตระหนักถึงประเด็นนี้และมีการเคลื่อนไหวมาเป็นระยะ เฉกเช่นที่ได้เริ่มมีการหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน รวมถึง ‘ผู้ลี้ภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ (Climate refugees) ในสภายุโรป และมีการกล่าวถึงในคำสั่ง (Executive order) ของประธานาธิบดีโจไบเดน สหรัฐฯ เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตลอดจนการออกมาตรการของประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการลดผลกระทบหรือปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทาง IDMC ย้ำว่า การจัดการเรื่องพลัดถิ่นในประเทศที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ จะต้องหาโซลูชั่นที่มาจากฐานของการปกครองโดยท้องถิ่น เพราะมีมุมมองและมาตรการกระจายอำนาจ/เข้าช่วยเหลืออย่างเข้าใจบริบทความเสี่ยงและความต้องการของชุมชน รวมถึงโซลูชั่นที่มาจากความเข้าใจประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้สามารถออกแบบนโยบายและวางแผนงบประมาณที่เกี่ยวข้องได้ยืดหยุ่นขึ้น

ทั้งนี้ ในภาพที่ใหญ่ขึ้น เมื่อเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็จะไปตกอยู่ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change – UNFCCC) ขณะที่ อนุสัญญาปี ค.ศ.1951 ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย (1951 Convention Relating to the Status of Refugees) ที่ให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องความไม่ครอบคลุมผู้ลี้ภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น ประเด็นนี้จะขยับขึ้นเป็นหนึ่งเรื่องที่ประชาคมโลกจะร่วมกันเร่งแก้ไขหรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับการให้ ‘นิยาม’ ที่ชัดเจนของคำว่า ‘climate refugees’ และมีการกล่าวถึงให้มากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ อันจะนำไปสู่กลไก/กรอบฎหมายระหว่างประเทศและการให้ความคุ้มครองตามสิทธิมนุษยชนต่อไป

● อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : SDG Updates | Climate Migration ไม่ว่าใครก็อาจต้อง ‘ย้ายบ้าน’ เมื่อภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ไม่มีที่อยู่
● อ่านรายงานฉบับใหม่ 2021 GLOBAL REPORT ON INTERNAL DISPLACEMENT

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน – (1.5) สร้างภูมิต้านทานและลดความเปราะบางต่อภัยพิบัติ/สภาพภูมิอากาศให้กับคนยากจนและที่อยู่ในภาวะเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ – (10.7) การอำนวยความสะดวกในการอพยพย้ายถิ่นของคนให้ปลอดภัย มีระเบียบ และมีการจัดการที่ดี
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐาน – (11.5) ในด้านการลดความสูญเสียจากภัยพิบัติที่มีต่อเมือง การปกป้องคนจนและกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ
#SDG13 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ – (13.2) บูรณาการมาตรการในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนระดับชาติ – (13.b) โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นและชนชายขอบ

ทั้งนี้ ผลกระทบของ climate change เกี่ยวพันกับ #SDG14 (ความเป็นกรดในมหาสมุทร) และ #SDG15 (การแปรสภาพเป็นทะเลทราย ความเสื่อมโทรมของดินและความหลากหลายทางชีวภาพบนบก) และผลกระทบที่เกี่ยวกับ Climate refugees ยังมีเรื่อง อาทิ #SDG2 (ความมั่นคงทางอาหาร) #SDG3 (สุขภาพและสุขภาวะที่ดี) และ #SDG8 (การมีงานทำ)
โดยต้องอาศัย #SDG17 (หุ้นส่วนความร่วมมือภายในประเทศและระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) ในการเปลี่ยนแปลง

แหล่งที่มา:
https://www.weforum.org/agenda/2021/06/climate-refugees-the-world-s-forgotten-victims/
https://www.weforum.org/agenda/2021/05/internal-displacement-disaster-conflict-climate-change/

Last Updated on มิถุนายน 21, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น