Director’s Note: 09: SDGs กับฉากทัศน์ประเทศไทยในวันที่นโยบายวัคซีนผิดพลาด

สวัสดีวันจันทร์ครับ

สัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงยิ่งขึ้นแม้มาตรการของภาครัฐจะเข้มข้นขึ้นแล้วก็ตาม ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้มาตรการก็จะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก ผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจย่อมมากขึ้นและมีแนวโน้มจะลากยาวต่อเนื่องไปอีกตราบเท่าที่ประเทศไทยยังไม่สามารถนำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเข้ามาให้ประชาชนฉีดได้ นอกจากนี้ การแพร่กระจายที่รวดเร็วและรุนแรงของสายพันธุ์เดลต้าประกอบกับนโยบายการจัดการการระบาดช่วงก่อนหน้านี้ที่มีส่วนทำให้เชื้อกระจายไปทั่วประเทศ เพิ่มแรงกดดันให้แก่ระบบสาธารณสุขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทวงถามการเตรียมการอย่างเป็นระบบในรอบปีที่ผ่านมา

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องวัคซีน นโยบายการเยียวยาและนโยบายช่วยให้ระบบสาธารณสุขยังดำเนินการไปได้แบบเฉพาะหน้าแล้ว

  • หนึ่งปีที่ผ่านมารัฐบาลเตรียมการอย่างเป็นระบบเพื่อทำให้สังคมไทยรับมือกับโควิด-19 ได้ดีขึ้นบ้างหรือไม่อย่างไร ?
  • คนยากจน คนที่ไม่ประกอบอาชีพในระบบ หรือไม่อยู่ในระบบประกันสังคมได้รับการเยียวยาอย่างไร เข้าถึงวัคซีนอย่างไรและเมื่อใด ?
  • ความมั่นคงทางอาหารของผู้คน โดยเฉพาะคนยากจน คนที่ประกอบอาชีพไม่ได้ และคนที่ต้องกักตัวเป็นอย่างไร ? รัฐบาลได้วางระบบอะไรเพื่อรับมือกับเรื่องนี้บ้าง ? 
  • มีการเพิ่มศักยภาพและความแข็งแกร่งให้กับระบบสาธารณสุขไทยหรือไม่ ? หาแผนสำรองสำหรับสถานการณ์ที่ระบบสาธารณสุขใกล้เต็มศักยภาพหรือไม่ ? 
  • เรามีนโยบายที่จะดูแลชีวิตเด็กนักเรียนและพ่อแม่ของเขาหรือไม่ ? นักเรียนที่หลุดออกไปจากระบบช่วงโควิด-19 เราจะดำเนินการอย่างไรต่อ ? ถ้าเราจะขยับการศึกษาไปออนไลน์จริง เราได้มีการเตรียมการอย่างเข้มข้นเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้เพียงใด ขยายโอกาสให้คนได้มากเพียงใดแล้ว ? 
  • มีมาตรการในการนำผู้ประกอบการรายย่อยขึ้นไปบน platform ออนไลน์และอำนวยความสะดวกให้พวกเขามากเพียงใด ? หาวิธีการจ้างงานหรือช่วยเหลือแรงงานนอกระบบและคนที่ทำอาชีพที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ให้สามารถปรับตัวได้บ้างหรือไม่อย่างไร ? 
  • รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้อยู่รอดการปิดเมืองซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างนี้ได้อย่างไร จะช่วยเขาลดต้นทุนอย่างไร จะช่วยให้เขาช่วยลูกจ้างของเขาได้อย่างไร ?
  • สถานการณ์ขยะพลาสติกและขยะติดเชื้อเป็นอย่างไรรวมถึงมีระบบในการจัดการอย่างไร ?

คำถามเหล่านี้อาจถูกตอบแล้วอย่างเงียบ ๆ โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ได้ แต่ถ้าทำแล้วจริง ๆ เล่าสู่กันฟังหรือประกาศให้สาธารณชนได้ทราบสักหน่อยเถิด 

วิกฤติสุขภาพ คู่ วิกฤติมนุษยธรรม

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ทำให้ผู้คนโกรธเกรี้ยวรัฐบาลก็คือวิกฤติด้านมนุษยธรรม ที่สะท้อนผ่านการตัดสินใจและการสื่อสารสาธารณะต่าง ๆ ของผู้กำหนดนโยบายและผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ดำเนินการราวกับไม่ได้ยินเสียงคร่ำครวญของประชาชนพลเมืองในประเทศเลย

สิ่งที่สังคมต้องการตอนนี้จากรัฐบาลคือ ท่าทีของความเห็นอกเห็นใจ ความจริงและการยอมรับความจริง ประสิทธิภาพและประสิทธิผล และความตั้งใจที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับชีวิตของประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง แต่ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลดูจะล้มเหลวในทั้ง 4 เรื่องนี้ และนี่เป็นสิ่งที่ผู้คนโกรธเกรี้ยว ยิ่งกว่าวิกฤติด้านสุขภาพที่กำลังเกิดขึ้นเสียอีก 

สถานการณ์ขณะนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดแจ้งถึงความเชื่อมโยงกันของมิติของ Peace ใน SDGs คือ มิติที่ว่าด้วยสันติภาพ ความยุติธรรมและการมีรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและธรรมาภิบาล กับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้ออื่น ๆ ทั้งหมด หากเรามีรัฐบาลที่ด้อยสมรรถภาพ ด้อยความสามารถในการพาสังคมรับมือกับความเสี่ยงและต่อกรกับปัญหาแล้ว การพาสังคมลุกขึ้นยืนอีกครั้งโดยเร็วเพื่อก้าวต่อไปแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ปัญหาที่เกิดขึ้นซับซ้อนขนาดนี้

นอกจากนี้สถานการณ์โควิด-19 รอบล่าสุดยังเปิดเผยให้เห็นถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มต่าง ๆ อย่างชัดแจ้ง การอยู่อาศัยของแรงงานในแคมป์คนงานมีความถูกสุขลักษณะเพียงใด จึงทำให้เกิดการระบาดอย่างที่เป็นอยู่ มาตรฐานของอาคารพาณิชย์ ห้องแถว ห้องเช่า เป็นอย่างไร จำนวนคนที่อยู่ สภาพการระบายอากาศ และมาตรฐานด้านสุขลักษณะอื่น ๆ เป็นอย่างไรจึงทำให้เกิดการระบาดได้มากขนาดนี้ ถามว่าเรื่องนี้คือสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อนหรือไม่ ไม่ใช่ เพราะเรื่องเดียวกันนี้เกิดขึ้นที่สิงคโปร์เมื่อปีก่อน (อ่าน SDG Insights | บทเรียนจากการระบาดของโควิด-19: เมื่อทัศนคติของคนสิงคโปร์เป็นต้นเหตุ) แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยจะไม่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของเพื่อนบ้านแต่อย่างใด 

จุดนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่โควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่าชีวิตของพวกเราทุกคนเชื่อมโยงกันขนาดไหน การใช้ชีวิตของเราไม่ได้แยกขาดจากชีวิตของแรงงานในไซต์ก่อสร้างเลย คุณภาพชีวิตที่ดีของเขามีส่วนในการกำหนดคุณภาพชีวิตของเราด้วย นั่นยิ่งทำให้เห็นว่า การพัฒนาที่ครอบคลุม (Inclusive Development) ไม่ใช่สิ่งที่ทำเพื่อให้รู้สึกเป็นคนดี แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำเพราะมันจะเป็นต่อความอยู่รอดของพวกเราทุกคน

ทิศทางเชิงยุทธศาสตร์สำหรับฉากทัศน์อนาคต

เมื่อมองไปในอนาคต ฉากทัศน์ที่ประเทศไทยกำลังมุ่งไปก็คือสถานการณ์ที่ในอีกอย่างน้อยครึ่งปี ประเทศไทยจะยังไม่มีวัคซีนเพียงพอ ในขณะที่สายพันธุ์ของโควิด-19 จะกลายพันธุ์ต่อไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่ประชากรในโลกยังคงไม่ได้รับวัคซีนอย่างเพียงพอ ซึ่งความไวและความแรงของการแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัสยังเป็นสิ่งที่ยังคาดเดาได้ยาก เมื่อไม่มีวัคซีน แรงกดดันมหาศาลจะตกกับระบบสาธารณสุขและกำลังพลทางการแพทย์และศักยภาพของสถานพยาบาลจะลดลงเรื่อย ๆ  สวนทางกับจำนวนผู้ติดเชื้อ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้การ Lockdown และการ Work from Home เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ ในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอนและคาดการณ์ได้ยากว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ซึ่งหากรัฐบาลชดเชย ภาระหนี้สาธารณะย่อมสูง หากรัฐบาลไม่ชดเชยและเปิดเมืองก็จะแลกมากับจำนวนการติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตที่จะเพิ่มขึ้น

รัฐบาลควรดำเนินการต่อไปอย่างไร ? 

ดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาเร็วที่สุด อย่างไรก็ดีระหว่างที่กำลังดำเนินการอยู่นี้รัฐบาลต้องดำเนินการด้านอื่นควบคู่ไปด้วย

การรับมือและเสริมพลังให้กับระบบสาธารณสุขเป็นสิ่งสำคัญ ในขณะเดียวกันโจทย์อีกประการคือจะมีกระบวนการอย่างไรที่จะผ่อนแรงกดดันของระบบสาธารณสุขทางกายภาพให้กลับไปอยู่ที่บ้านหรือบนโลกออนไลน์ ซึ่งประการหลังจะเพิ่มศักยภาพให้กับระบบสาธารณสุขอีกมาก 

รัฐบาลควรเยียวยาอย่างเต็มที่และไม่เลือกปฏิบัติ การก่อหนี้เพื่อเยียวยา คือ ราคาของนโยบายวัคซีนที่ผิดพลาด ซึ่งหากรัฐบาลและสังคมไม่จ่ายเป็นเงิน รัฐบาลและสังคมอาจจะจ่ายต้องเป็นชีวิตของประชาชนแทน หากรัฐยังพยายามเลี่ยงบาลีไม่ทำสิ่งนี้ สิ่งที่จะตามมาก็คือ คนที่มีอาชีพรายวันก็จะไม่ยอมกักตัวแม้จะป่วย สภาวะความปลอดภัยในสังคมอาจลดลงจากอาชญากรรมและยาเสพติด

รัฐต้องพาผู้คนและบริการของรัฐและเอกชนไปอยู่บนโลกออนไลน์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การช่วยเหลือและชดเชยต้นทุนบางส่วนให้ผู้ประกอบการในภาคเศรษฐกิจที่สามารถขับเคลื่อนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป การผ่อนคลายกติกาที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาและลดต้นทุนการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เป็นสิ่งที่ต้องรีบดำเนินการ 

ที่สำคัญที่สุดคือ รัฐต้องเปลี่ยนทัศนคติการให้บริการภาครัฐและมาตรการต่าง ๆ จากแนวคิดชาตินิยมมาเป็นมนุษยนิยมเสียที ในสถานการณ์นี้ไม่มีใครปลอดภัยหากทุกคนไม่ปลอดภัย เอกลักษณ์ทางกฎหมาย (เช่น บัตรประชาชน) ไม่ควรเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการและมาตรการต่าง ๆ หากคนเหล่านั้นไม่มี รัฐต้องบริการก่อนแล้วจึงอำนวยความสะดวกให้มีเอกลักษณ์ทางกฎหมายนั้น ไม่ใช่ใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ให้บริการ

การดำเนินการข้างต้น รัฐต้องร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการรับมือกับปัญหาเหล่านี้ รัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนหาวิธีในการลดต้นทุนการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและบริการ ร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการให้การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง รัฐควรร่วมมือและหนุนเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการวางระบบและรับมือกับปัญหาข้างต้นอย่างจริงจัง ให้อำนาจให้ทรัพยากรแก่เขาเพื่อช่วยกันดูแลประชาชน

ทิ้งท้าย

ท้ายที่สุดของ Director’s Note ฉบับนี้ ผมขอเป็นตัวแทนของ SDG Move ในการแสดงความเสียใจกับทุกท่านที่ต้องเผชิญความสูญเสียใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดรอบล่าสุดนี้ เป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทางด้านการแพทย์ในแนวหน้าทุกคน และขอให้ทุกคนรักษากายและใจของตัวเองควบคู่ไปด้วยเพื่อเราจะได้อยู่ถึงวันที่สังคมที่เราอยากเห็นเกิดขึ้นจริง

Last Updated on กรกฎาคม 19, 2021

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น