ระบบนิเวศชายฝั่ง: อ่างกักเก็บคาร์บอนของโลกที่ช่วยลด ‘Social Cost of Carbon (SCC)’ และผลกระทบจาก Climate Change

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ รวมทั้งในเชิงมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ระบบนิเวศชายฝั่ง อาทิ ซึ่งประกอบไปด้วยหญ้าทะเล (seagrass meadows) ที่ลุ่มน้ำเค็ม (salt marshes) และป่าชายเลน (mangrove forests) หรือที่เรียกว่าเป็น ‘Blue Carbon Ecosystem’ นั้น ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยดูดซับและกักเก็บคาร์บอน คงไว้ซึ่งระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ช่วยป้องกันน้ำท่วมและการพังทลายของชายฝั่ง ช่วยปรับตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation) ตลอดจนลดผลกระทบ (mitigation) และลด ‘ค่าความเสียหาย’ ที่มีต่อเศรษฐกิจลง


German Centre for Integrative Biodiversity Research (iDiv) Halle-Jena-Leipzig ศึกษาและคำนวนผลประโยชน์ที่นานาประเทศจะได้รับจากการที่ระบบนิเวศชายฝั่งของประเทศ ช่วยดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเอาไว้ รวมถึงว่าประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเหมือนหรือแตกต่างกันไปอย่างไร โดยใช้วิธีการวัดค่าเชิงปริมาณที่เรียกว่า ‘Social Cost of Carbon (SCC)’ ซึ่งเป็นการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตันสู่ชั้นบรรยากาศ ออกมาเป็นตัวเลข (เงินดอลลาร์) เพื่อให้สามารถเห็นภาพผลกระทบและค่าเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ชัดเจนขึ้น

ในสาระสำคัญของการศึกษาดังกล่าวได้ชี้ว่า ออสเตรเลียและอินโดนีเซียซึ่งมีพื้นที่ระบบนิเวศชายฝั่งขนาดใหญ่ อันหมายรวมถึง การมีหญ้าทะเล (seagrass meadows) ที่ลุ่มน้ำเค็ม (salt marshes) และป่าชายเลน (mangrove forests) นั้นทำให้ทั้งสองประเทศสามารถช่วยกักเก็บคาร์บอนทั่วโลกที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ และยังสามารถช่วยลดปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดจนผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนั้น (mitigation) และยังช่วยลด ‘ค่าเสียหาย’ จากผลกระทบดังกล่าวลงได้

ถึงกระนั้น ทั้งสองประเทศไม่ได้เป็นผู้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยตรง เท่ากับที่การช่วยลดค่าเสียหายลงดังกล่าวกลับเป็นผลประโยชน์ต่ออินเดีย จีน และสหรัฐฯ มากกว่า

ทั้งนี้ การศึกษาได้เน้นย้ำต่อไปถึงความสำคัญของระบบนิเวศชายฝั่ง หรือที่เรียกว่าเป็น ‘Blue Carbon Ecosystem’ ว่า ไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบเชิงบวกในด้านการกักเก็บคาร์บอนเท่านั้น แต่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งสำหรับระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ทั้งยังมีส่วนช่วยป้องกันน้ำท่วมและการพังทลายของชายฝั่ง และเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการปรับตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation) ด้วย

● เข้าถึงการศึกษาที่: The blue carbon wealth of nations

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือ/จัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG14 ทะเลและทรัพยากรทางทะเล
-(14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมทั้งปฏิบัติการฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์และมีผลิตภาพ ภายในปี2563
-(14.5) อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 ให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและภายในประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ภายในปี 2563

แหล่งที่มา:
Coastal Ecosystems Worldwide: Billion-dollar Carbon Reservoirs (German Centre for Integrative Biodiversity Research (iDiv) Halle-Jena-Leipzig)

Last Updated on สิงหาคม 2, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น