อัตราค่าแรงขั้นต่ำปี 2564 ของประเทศอาเซียนเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในเอเชียและต่ำกว่าประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว

ต้นปี 2564 มานี้ อัตราค่าแรงขั้นต่ำของประเทศในภูมิภาคอาเซียนถูกปรับเพิ่มสูงขึ้นให้สอดคล้องกับสภาพค่าครองชีพที่สูงขึ้นและเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ แต่ก็ยังเป็นค่าแรงขั้นต่ำที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชีย และประเทศที่มีเศรษฐกิจพัฒนาแล้วในภูมิภาคอื่นของโลก รวมถึงว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศก็ไม่ได้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างมีนัยสำคัญ

เว็บไซต์ aseanbriefing.com ได้รวบรวมอัตราค่าแรงขั้นต่ำประจำปี 2564 ของประเทศสมาชิกอาเซียน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยไม่ได้นับรวมสิงคโปร์และบรูไนดารุสซาลาม เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเอาไว้

ทั้งนี้ ข้อมูลรายละเอียดของแต่ละประเทศ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนและนักธุรกิจที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจแล้ว อาจจะช่วยทำให้เห็นภาพเงื่อนไขที่มาของอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ท้ายที่สุดจะช่วยส่งเสริม หรือ ไม่ช่วยส่งเสริมสุขภาวะความเป็นอยู่และการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานในแต่ละประเทศด้วย

ข้อมูลค่าแรงขั้นต่ำประจำปี 2564 โดยสรุปของ 8 ประเทศ มีดังนี้

ประเทศไทย – ค่าแรงขั้นต่ำต่อวันอยู่ระหว่าง 313 บาท (US$10.03) ถึง 336 บาท(US$10.77) แตกต่างไปตามแต่ละจังหวัด

ลาว – ยังไม่ได้มีการปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำมาตั้งแต่ปี 2561 โดยอัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนสำหรับปี 2564 ยังอยู่ที่ 1.1 ล้านกีบ (US$116) ส่วนการหารือเพื่อกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำนั้น เป็นการหารือไตรภาคีระหว่างสมาชมนายจ้าง องค์กรแรงงาน และผู้แทนจากภาครัฐ

กัมพูชา – กระทรวงแรงงานและการฝึกอบรมของกัมพูชา (Ministry of Labor and Vocational Training – MLVT) ออกประกาศกระทรวงฉบับที่ 33 (Prakas No. 33) กำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 สำหรับแรงงานประจำ (regular workers) อยู่ที่ US$192 เพิ่มจากปี 2563 ที่ US$2 ส่วนอัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนสำหรับแรงงานทดลองงาน (probationary workers) อยู่ที่ US$187

นอกจากนี้ แรงงานยังได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ได้แก่ ค่าที่พัก US$7 ต่อเดือน โบนัสการเข้างาน US$10 ต่อเดือน ค่าอาหาร US$0.5 ต่อวัน โดยแรงงานที่ทำงานเป็นปีที่ 2 ถึงปีที่ 11 จะได้รับค่าทำงานล่วงเวลาและโบนัสตามความอาวุโส (seniority bonus) ระหว่าง US$2 ถึง US$11

ประกาศกระทรวงดังกล่าวยังได้กำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานที่ทำงานเป็นชิ้น โดยจะจ่ายตามจำนวนสินค้า อาทิ เสื้อผ้า และรองเท้า ที่ผลิตได้

เมียนมา – อัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อวันในเมียนมาจะมีการปรับทุก 2 ปี และการหารือครั้งล่าสุด ตามกำหนดคือจะต้องเริ่มเมื่อกลางปี 2563 แต่เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 (รวมถึงเหตุการณ์ทางการเมือง) ทำให้การหารือดังกล่าวต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

โดยหากยึดตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อวันตามเดิม จะอยู่ที่ 4,800 จ๊าด (US$3.07) สำหรับการทำงานเป็นเวลา 8 ชั่วโมง และตามแผนการเดิมจะมีการเสนอให้ปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 8 ชั่วโมงต่อวัน เป็น 7,200 จ๊าด (US$4.62)

เวียดนาม – สภาพเศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยอัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนในปี 2564 ยังคงเป็นอัตราเดิมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 และจะมีการปรับอีกครั้งวันที่ 1 กรกฎาคม 2564* ทั้งนี้ อัตราค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนามยังแตกต่างกันไปตาม 4 ภูมิภาคของประเทศ โดยที่ภูมิภาคที่ 1 (พื้นที่เมืองของฮานอยและกรุงโฮจิมินห์) เป็นภูมิภาคที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนมากที่สุด ที่ 4,200,000 ดง (US$181) ขณะที่ภูมิภาคที่ 4 เป็นภูมิภาคที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุด ที่ 3,070,000 ดง (US$132)

นอกจากนี้ พนักงานที่ผ่านการอบรมวิชาชีพมาแล้วจะต้องได้รับค่าแรงอย่างน้อย 7% มากกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำของภูมิภาคนั้นด้วย

มาเลเซีย – อัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนในเมืองหลัก 56 เมืองอยู่ที่ 1,200 ริงกิต (US$291) ส่วนอัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนในเมืองชนบทและพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่เมือง อยู่ที่ 1,100 ริงกิต (US$266) โดยคาดว่าภายในปี 2564 นี้จะมีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด

อินโดนีเซีย – กระทรวงแรงงานของอินโดนีเซีย (Ministry of Manpower) ออกหนังสือเวียนเลขที่ M/11/HK.04/X/2020 เมื่อปลายเดือนตุลาคม ปี 2563 ระบุให้ในปี 2564 ยังคงอัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนไว้คงเดิม เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคระบาด อย่างไรก็ดี มีจังหวัด 5 จังหวัด (จาการ์ตา ซูลาเวซีใต้ ชวากลาง ชวาตะวันออก และยอคยาการ์ต้า) จาก 34 จังหวัดที่ตัดสินใจปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสำหรับปี 2564 นี้ ซึ่งตามระเบียบของทางราชการที่ GR 78/2015 กำหนดให้รัฐบาลส่วนท้องถิ่นคำนวณอัตราค่าแรงขั้นต่ำเองได้ โดยมีสูตรคือ

เงินเฟ้อของประเทศ + การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ = เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ

โดยสำหรับค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนสำหรับเมืองหลวงจาร์กาตานั้น อยู่ที่ 4,416,186 รูเปียห์ (US$306)

ฟิลิปปินส์ – อัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อวันประจำปี 2564 ของฟิลิปปินส์แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค โดยอยู่ระหว่าง 316 เปโซ (US$6.57) ถึง 537 เปโซ (US$11.17) ส่วนการหารือเพื่อกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำนั้น เป็นการหารือไตรภาคีของคณะกรรมการ National Wages and Productivity Commission ซึ่งมีอยู่ประจำในทุกภูมิภาค

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่ผ่านการหารือและกำหนดไว้อย่างเหมาะสมจะช่วยตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน #SDG8 ด้านการจ้างงานที่มีคุณค่าและสิทธิแรงงาน โดยที่หากกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่ยากจนที่สุด มีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการมีนโยบายทางการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคม ก็จะช่วยให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมในสังคมขึ้น เป็นการลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศตาม #SDG10

แต่หากค่าแรงขั้นต่ำไม่เหมาะสมหรือไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจแล้ว ย่อมส่งผลต่อสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 การขจัดความยากจน
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
-(8.5) ส่งเสริมการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
-(8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานหญิงและผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศ
-(10.1) ส่งเสริมการเติบโตของรายได้ในกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่ยากจนที่สุดอย่างต่อเนื่อง ในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ภายในปี 2573
-(10.4) เลือกใช้นโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคม และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แหล่งที่มา:
Minimum Wages in ASEAN for 2021 (ASEANBriefing) – ข้อมูลล่าสุดเมื่อเมษายน 2564
Minimum wages: an introduction (ILO)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น