Allen Coral Atlas แพลตฟอร์ม-แผนที่ดาวเทียมแสดงสุขภาวะของแนวปะการังร่องตื้นที่รอบด้านที่สุดครั้งแรก

แม้ว่าแนวปะการังจะครอบคลุมพื้นที่เพียง 1% ของพื้นมหาสมุทร แต่ก็เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสปีชีส์สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร 1 ใน 4 ของทั้งหมด ทั้งยังช่วยปกป้องชายฝั่ง เป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งโปรตีนที่สามารถเลี้ยงประชากรหลายร้อยล้านคนได้

แต่ปัจจุบัน แนวปะการังเป็นหนึ่งในระบบนิเวศของโลกที่ถูกคุกคามมากที่สุด รวมถึงภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งลำพังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คลื่นความร้อนในมหาสมุทรเป็นชนวนให้เกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวที่ทำให้ประการังในบางพื้นที่หายไปถึง 50%

ทีมนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี และผู้จัดการข้อมูลจาก Arizona State University (ASU), University of Queensland, National Geographic Society, บริษัท Planet และบริษัท Vulcan จึงใช้เวลาร่วม 3 ปี พัฒนาแผนที่ภาพดาวเทียมความละเอียดสูงแสดงแนวปะการังร่องตื้นในทะเลเขตร้อนทั่วโลกที่ครอบคลุมพื้นที่ 253,000 ตารางกิโลเมตร

ถือเป็นแพลตฟอร์ม/แหล่งติดตามสถานการณ์และข้อมูลชิ้นสำคัญครั้งแรกของโลกก็ว่าได้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม Allen Coral Atlas โดยการที่ทีมผู้พัฒนาทำการศึกษาและวิเคราะห์ภาพจากดาวเทียมที่มีความละเอียดสูงมากกว่า 2 ล้านภาพจากบริษัท Planet และข้อมูลเกี่ยวกับปะการังจากทีมวิจัยมากกว่า 450 ทีมทั่วโลก แล้วใช้การเรียนรู้ของเครื่องจักรแบบกึ่งอัตโนมัติช่วยจัดกลุ่มข้อมูลแหล่งที่อยู่อาศัยและธรณีวิทยาของพื้นที่ทะเลชายฝั่งร่องตื้นที่ความลึกระหว่าง 10 ถึง 15 เมตรนั้น ทำให้แผนที่นี้มีข้อมูลที่รอบด้านที่สุดสำหรับการติดตามสภาพและสุขภาวะของแนวปะการัง การเปลี่ยนแปลงของแนวปะการัง และปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว (coral bleaching) ทั่วโลกได้เกือบจะเรียลไทม์

ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูล อาทิ แหล่งที่อยู่อาศัยของสปีชีส์สิ่งมีชีวิต ความลึกของน้ำ รายละเอียดคุณลักษณะใต้น้ำ อาทิ เนินเขาแนวปะการัง หิน และหญ้าทะเล รวมถึงเรื่องคลื่นและความขุ่นของน้ำ เป็นต้น

โดยผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลและผู้กำหนดนโยบายด้านแนวปะการัง สามารถนำไปพัฒนา ปรับปรุง บังคับใช้มาตรการอนุรักษ์เพื่อปกป้องระบบนิเวศของทะเล/มหาสมุทรและแนวปะการัง ใช้ประกอบแผนด้านพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Areas – MPAs) การวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล (Marine Spatial Planning – MSP) ไปจนถึงการจัดการกับประเด็น อาทิ มลพิษทางทะเล ความเสียหาย/ซากปรักหักพังใต้ท้องทะเล เหตุการณ์รุนแรงอย่างพายุไซโคลน หรือผลกระทบเชิงลบจากการที่เรือแล่นไปเหนือน้ำ (ship grounding) ที่มีต่อแนวปะการัง เป็นต้น

ทีมผู้พัฒนามองว่าเครื่องมือนี้จะเป็นการพลิกสถานการณ์ (game changer) การอนุรักษ์และจัดการแนวปะการังในโลกได้ โดยปัจจุบัน ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้สนับสนุนโครงการด้านการอนุรักษ์แล้วในมากกว่า 30 ประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เคนยา และฟิจิ

อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตอีกประการสำคัญจากแผนที่ติดตามข้อมูลนี้คือ หากเราไม่รีบลงมือจัดการลดปัญหา/ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คาดการณ์ได้ว่าภายในอีก 30 ปี แนวปะการังของโลกที่ 70-90% อาจจะหายไป

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือ/จัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทร
-(14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภท โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงซากปรักหักพังทางทะเลและมลพิษของสารอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568
-(14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริม ภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
-(14.5) อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 ให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและภายในประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ ภายในปี 2563

แหล่งที่มา:
The world’s first complete map of shallow tropical coral reefs is here (eco-business)
Allen Coral Atlas Completes First Global Coral Reef Maps (allencoralatlas)

Last Updated on กันยายน 10, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น