SDG Updates | ฤาพลังงานสะอาดจะไม่ยั่งยืน – ใครคือแนวหน้าผู้สูญเสีย หากเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำจะทอดทิ้งผู้คนไว้ข้างหลัง (EP.1)


แอนช็อกกับความเปลี่ยนแปลงนี้ ที่อยู่ดี ๆ เธอและลูกจ้างในฟาร์มปศุสัตว์ของเธอต้องมารับผลกระทบที่มาจากโครงการโซลาร์ฟาร์มอย่างไม่ได้มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจ

แอน คือใคร?

ฟังในรูปแบบบทความเสียง

สำหรับแอน เฟอร์นานเดซ[1] เกษตรกรในรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา การตื่นมาทำกิจดูแลสัตว์ในทุ่งกว้างไม่ได้เป็นเพียงการหาเลี้ยงชีพเท่านั้น ภูมินิเวศและวิถีร่วมกับคนและฝูงสัตว์นี้เป็นคุณค่าทางใจที่ทำให้สตรีสูงวัยได้ระลึกถึงสามีที่จากไป แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่าลูกจ้างคนทำงานและฝูงแกะฝูงวัวที่จะกลับกลายเป็นผู้ไม่มีที่อยู่ กรมทรัพยากรธรรมชาติได้ยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินเพื่อเปิดทางให้กับผู้ลงทุนทำโซลาร์ฟาร์มซึ่งให้ค่าเช่าสูงกว่าและมีทำเลเหมาะเหม็งกับสาธารณูปโภคเกี่ยวกับไฟฟ้าในบริเวณนี้พอดี  และเนื่องจากกรมฯเป็นเจ้าของสัญญาเช่าเพื่อการเกษตรกว่าพันฉบับ แอนจึงมิใช่ผู้ที่ต้องเตรียมรับผลกระทบต่อชีวิตเพียงรายเดียวที่ต้องดิ้นรนหาทางให้กับชีวิตของตัวเองต่อไปโดยไม่มีการเยียวยาใด ๆ 

อีกเรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่งในรัฐแมรีแลนด์ คนงานอุตสาหกรรมไฟฟ้าถ่านหินเรือนพันชีวิตต้องตกงาน เมื่อมีประกาศเตรียมออกคำสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 6 แห่ง จิม กริฟฟิน และกลุ่มคนทำงานจำนวนหนึ่งรวมตัว ณ อาคารสำนักงานวุฒิสภาเพื่อแสดงความไม่พอใจ ไม่ใช่เพียงเพราะเขากับเพื่อนร่วมวงการต้องเตะฝุ่นและหาที่อยู่ใหม่ แต่เพราะการออกร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำนี้ไม่ได้รวมเอากลุ่มประชาชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมเลย ค่าตอบแทนสำหรับคนงานผู้กำลังจะกลายเป็นอดีต จึงปรากฏเป็นตัวเลขที่สำหรับจิมและเครือข่ายแล้ว ไม่สมเหตุสมผล[2]  

ณ ฝั่งตรงกันข้ามของโลก ชาวบ้านอำเภอโขงเจียม อำเภอสิรินธร และอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ต้องรับกับความทุกข์ทนในทุกด้านเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว อันเป็นผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเขื่อนปากมูล ตั้งแต่มีการเริ่มสร้างเขื่อนในปี พ.ศ. 2534 ผู้ประกอบอาชีพกสิกรรมต่างสูญเสียที่ดินทำกิน สำหรับผู้ประกอบอาชีพประมงนั้น มิต้องกล่าวถึงการจับปลาเพื่อขาย ลำพังสถานการณ์การจับปลาเพื่อบริโภคเองยังยากลำบาก เนื่องจากพื้นที่วางไข่ของปลา 200 สายพันธุ์ได้ถูกทำลายไปพร้อมกับอาชีพและวิถีชีวิตของชาวบ้าน พ่อเข็มพร ชาวบ้านคันเปื่อยได้ให้สัมภาษณ์กับประชาไท[3] ว่า คนหาปลาในพื้นที่เป็นเพียงการหาปลายาท้อง ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังมีเรี่ยวแรงต้องประกอบอาชีพรับจ้างอื่น เช่น งานรับจ้างก่อสร้างรายวันเสริมไปด้วย ซึ่งก็ไม่ได้มีให้ทำตลอดทั้งปี นอกจากนี้ เมื่อมีการปิดประตูเขื่อน ชาวบ้านได้รับผลกระทบทางสุขภาพมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะสุขภาพจิตที่ถูกบั่นทอนจากความเครียดจากการวิตกกังวลเรื่องการทำมาหากิน วิตกกังวลเรื่องความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านหรือคนในชุมชนที่มีประเด็นเกี่ยวกับเขื่อนเป็นศูนย์กลาง สังคมไม่สนิทสนมแน่นแฟ้นเช่นเดิมเพราะต่างคนต่างต้องทำมาหากินนอกพื้นที่ กิจกรรมทางวัฒนธรรม ความคิดความเชื่อในท้องถิ่นค่อย ๆ ถูกลดความสัมพันธ์ลง ผลกระทบที่ไม่หวนคืนตลอดกาลนี้หากต้องประเมินเป็นตัวเงินแล้ว ค่าชดเชยครอบครัวละ 90,000 บาท นับได้ว่าเป็นเรื่องตลกร้ายอย่างไม่ต้องสงสัย[4]

เรื่องราวของผู้คนที่ได้เล่าไว้เป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ของอีกมากหลายชีวิตทั่วโลก ที่ต้องจำยอมรับบทผู้เสียสละจากความพยายามต่อกรกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านภาคพลังงาน ซึ่งก็คือการทยอยลดสัดส่วนการผลิตพลังงานด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ และเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานที่ไม่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ดังเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานคลื่นทะเล ขึ้นมาทดแทนแหล่งพลังงานดั้งเดิม

สังคมต้องมีผู้เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ?

ในความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างย่อมมีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ คำถามที่สำคัญคือ ความเปลี่ยนแปลงนั้นคุ้มค่าสมเหตุสมผลที่จะทำให้เกิดอย่างไร ถ้าต้องเกิด เราได้พยายามอย่างที่สุดแล้วหรือยังที่จะมอบความเป็นธรรมให้กับผู้เสียสละเหล่านั้น แล้วความเป็นธรรมที่ว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร?


บทบาทของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy transition) ในการต่อกรกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เราต่างใช้พลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อมในทุกพื้นที่ของวินาทีชีวิตและการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นในอาคาร ในโรงงานอุตสาหกรรม และในการคมนาคมขนส่ง การผลิตและบริโภคพลังงานเกิดขึ้นทุกวัน ตลอดเวลา และมีแต่จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแปรผันตรงกับการพยายามขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจจะกล่าวได้ว่า พลังงานคือหัวใจของความมั่งคั่งเลยทีเดียว จึงไม่แปลกใจเลยว่ากิจกรรมการใช้พลังงานจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 72.3[5] ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ดังนั้นจึงมีการปฏิบัติการอย่างขนานใหญ่ในภาคพลังงานในฐานะ ‘ตัวการหลัก’ ของวิกฤตการณ์นี้

เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเป็นเรื่องที่ได้มีการพิสูจน์แล้วว่ามีความเร่งด่วนต่อการปกป้องคุณภาพชีวิตและความมั่นคงของมนุษยชาติ แนวคิดการรักษาระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงการลดการปลดปล่อยคาร์บอน ที่รวมถึงทิศทางทางยุทธศาสตร์จากภาคพลังงานจึงถูกนำมาวางไว้บนเวทีด้วยคำเรียกต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low-carbon economy) เศรษฐกิจพลังงานสะอาด (Clean-energy economy) และ โดยเฉพาะเศรษฐกิจปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero economy) ที่ยึดโยงกับเป้าหมายระดับสากลว่าด้วยความพยายามที่จะ “ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส และจะดีที่สุดหากไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อสิ้นศตวรรษนี้”  (1.5°C Paris Agreement goal)  เป้าหมายดังกล่าวจะบรรลุได้ก็ต่อเมื่อภาคพลังงานของโลกจะต้องระงับการเกิดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 กล่าวคือ ณ เวลานั้น โลกเราจะต้องผลิตและบริโภคพลังงานด้วยระบบเทคโนโลยีพลังงานสะอาด-พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด ลดการใช้น้ำมันเป็นแหล่งพลังงานได้ถึงร้อยละ 85 และไม่มีการปลดปล่อยคาร์บอนจากระบบพลังงานถ่านหินสู่บรรยากาศเหลืออยู่เลย[6] ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าจะเป็นไปได้เพราะเทคโนโลยีพลังงานสะอาดก็มีศักยภาพพร้อมทดแทนอยู่แล้ว หากแต่กระบวนการการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องเกิดขึ้นอย่างราบรื่น การเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายการเข้าถึงพลังงานถ้วนหน้าก็ยังคงต้องดำเนินอย่างต่อเนื่องภายใต้ความซับซ้อนของลักษณะการเมืองและสังคม เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานไม่ตรงไปตรงมา และทำให้กรอบเวลา 29 ปีที่เหลืออยู่นั้นกลับกลายเป็นช่วงเวลาที่สั้นและท้าทายยิ่งนัก

สถานะความเร่งด่วนนี้สามารถเข้าใจได้ แต่สามารถนำมายกเป็นข้ออ้างต่อการยินยอมให้ความเป็นอยู่คนกลุ่มหนึ่งในสังคมต้องถูกทำลายหรือทำให้ถดถอยไปตลอดกาลได้หรือ ? สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเป็นเงื่อนไขที่สำคัญยิ่ง ดังนั้น การเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของกลุ่มคน เช่น แอน จิม พ่อเข็มพร หรือรวมไปถึงฝูงปลาในแม่น้ำมูลนั้น อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและบั่นทอนความยั่งยืนทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้หากบานปลาย ความเดือดร้อนนั้น แม้จะเกิดขึ้นจากความตั้งใจดี อย่างไรก็ควรจะได้รับการดูแล ชดเชยอย่างเป็นธรรม สิ่งที่สำคัญประการแรก คือ เราได้มองหาและระลึกถึงกลุ่มผู้ประสบผลกระทบเหล่านี้หรือไม่อย่างไร


การเปลี่ยนผ่านพลังงาน – ใครคือกลุ่มผู้ถูกลืม

นานาชาติต่างวางให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อขับเคลื่อน Net-Zero Economy เป็นเรื่องเร่งด่วน มีการจัดทำและแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการวางและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องนี้ และติดตามผลโดยการใช้ดัชนีการเปลี่ยนผ่านพลังงาน หรือ Energy Transition Index (ETI) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 ใช้ตัวชี้วัดอยู่ทั้งหมด 39 ตัวชี้วัด [อ่านสรุปรายงาน ETI ฉบับล่าสุดได้ที่นี่] แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ ไม่มีตัวชี้วัดใดระบุถึงการมีส่วนร่วมหรือลดผลกระทบเชิงลบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคพลังงานเดิม คือพลังงานฟอสซิล หรือผลกระทบเชิงลบจากโครงการพลังงานสะอาดต่อผู้คนในพื้นที่โครงการใหม่อย่างตรงไปตรงมา นั่นอาจแสดงถึงลำดับความสำคัญของความเป็นธรรมต่อกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าวได้อย่างดีว่าอยู่ตรงที่ใดเมื่อเปรียบเทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงต้องย้ำว่า การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานนั้น นอกจากประเด็นประสิทธิภาพพลังงาน (Energy efficiency) การเพิ่มความหลากหลายของแหล่งพลังงาน (Energy source diversification) ที่เป็นวาทกรรมหลักโดยวงการนโยบายพลังงานแล้ว[7] ยังมีประเด็นของความเป็นธรรมและความเสมอภาค (Just and Equity) ที่ต้องร่วมพิจารณาในเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำด้วย

องค์การสหประชาชาติ[8]ได้ใช้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน อันประกอบด้วยมิติเชิงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ระบุผลกระทบ (trade-offs) จากการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานสะอาด ที่แม้จะเลี่ยงได้ยากและมีความซับซ้อนตามบริบทของพื้นที่ แต่สามารถลดความรุนแรงลงได้หากมีการวางแผนและจัดการที่ดี ซึ่งสามารถถอดความเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ดังต่อไปนี้

แรงงานในภาคพลังงานฝ่ายผลิต |

ดังปรากฏในกรณีการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่รัฐแมรีแลนด์ข้างต้น การลดสัดส่วนพลังงานฟอสซิลจะทำให้ตำแหน่งงานในสายงานนี้ลดลงอย่างมาก องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ หรือ International Energy Agency ได้ประมาณไว้ว่า การจ้างงานในภาคพลังงานดั้งเดิมจะลดลงไปถึง 8 ล้านตำแหน่งหากมีการเปลี่ยนผ่านพลังงานสำเร็จในปี ค.ศ. 2050 และแม้ในช่วงเวลาเดียวกัน การจ้างงานจากภาคพลังงานสะอาดจะสามารถสร้างงานใหม่ได้ถึง 42 ล้านตำแหน่ง แต่ทักษะที่จำเป็นในการทำงานในภาคส่วนนี้จะอยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะสูง ที่ได้รับการอบรมเป็นการเฉพาะ และแรงงานกลุ่มนี้มักไม่ค่อยพบในกลุ่มคนในชนบทหรือผู้มีรายได้น้อย แรงงานทักษะต่ำในพื้นที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบในกรณีนี้ แม้อาจมีงานทักษะต่ำในภาคการผลิตพลังงานสะอาดเหลืออยู่บ้าง เช่น งานติดตั้งหรือทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ แต่ความเสี่ยงที่งานเหล่านั้นจะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ เครื่องจักรกลนั้นก็มีความเป็นไปได้สูง

การสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในระดับโลกก็เช่นเดียวกัน ธุรกิจเกี่ยวกับระบบพลังงานสะอาดนับเป็นโอกาสอันดีของประเทศที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตพลังงานสะอาด และประเทศที่มีวัตถุดิบต้นทางที่สนับสนุนการผลิตนั้น เช่น แร่ลิเธียม แกรไฟต์ แมงกานีส โคบอลท์ ฯลฯ ในขณะที่ประเทศที่พึ่งพาพลังงานถ่านหินเป็นสัดส่วนใหญ่มาตลอด และไม่มีการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาดของตนเองมากนักก็จะได้รับผลกระทบในมิติเชิงเศรษฐกิจนอกจากมิติต้านสังคมที่ต้องคำนึงถึงอยู่แล้วด้วย

ผู้มีรายได้น้อยในฐานะผู้บริโภค |

เมื่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับพลังงานสะอาด เช่น แผงพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับครัวเรือน และเตาทำอาหารพลังงานสะอาดนั้นสามารถซื้อหาได้ง่ายขึ้นและเข้ามาทดแทนอุปกรณ์ที่พึ่งพาพลังงานชีวมวลที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีอยู่ในตลาดได้แล้ว แต่เรื่องของภาระรายจ่ายตามมาที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันนี้จะเริ่มเป็นสิ่งลดทอนคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย เพราะอุปกรณ์พลังงานสะอาดเหล่านี้ยังคงมีราคาสูงเมื่อเทียบกับอุปกรณ์เทคโนโลยีดั้งเดิม

อีกแง่มุมหนึ่งคือมาตรการจูงใจต่าง ๆ โดยภาครัฐ อาทิ กลไกราคาคาร์บอน (Carbon pricing) อาจส่งผลให้ราคาวัตถุดิบในการผลิตสินค้าและบริการสูงขึ้น ซึ่งผู้ที่ต้องแบกรับต้นทุนเหล่านี้ก็ยังคงเป็นผู้บริโภคประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด

ท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ ชนพื้นเมือง ณ พื้นที่โครงการพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ (Megaproject) |

ต้นกำเนิดพลังงานสะอาดในลักษณะโครงการขนาดใหญ่ย่อมต้องมีพื้นที่ตั้งขนาดมโหฬาร การสร้างโครงการเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะบั่นทอนความสามารถในการดำรงชีวิตของชุมชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตใกล้ชิดและพึ่งพิงทรัพยากรจากธรรมชาติ เกิดการสูญเสียที่อยู่อาศัย-แหล่งทำมาหากิน (Land loss) ปัญหาการเบียดขับผู้คนไปสู่ชายขอบ (Marginalization) และการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ (Systematic discrimination) จากกระบวนการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงาน ในหลายประเทศมีการพบว่า โรงงานผลิตพลังงานสะอาดจำพวกเช่น สวนพลังงานแสงอาทิตย์ ไร่และโรงงานพลังงานชีวภาพ และโรงงานไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดใหญ่ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมือง โดยขับไล่คนกลุ่มนี้ออกจากแผ่นดินที่อาศัยและจำกัดการเข้าถึงแหล่งอาหารหรือความสามารถในการผลิตอาหารและไม่มีความเป็นธรรมปรากฏในกระบวนการโดยสิ้นเชิง

กลุ่มสตรีผู้มีรายได้น้อย |

ผู้หญิงมีบทบาทมากในการเลือกแหล่งพลังงานที่ครอบครัวจะพึ่งพาว่าจะเป็นพลังงานสะอาดหรือไม่ แต่ครอบครัวที่นำโดยผู้หญิงกลับพบว่าเข้าถึงพลังงานสะอาดได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับครอบครัวที่มีผู้ชายเป็นผู้นำครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นแผงพลังงานแสงอาทิตย์แบบพกพาหรือโครงข่ายจ่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก ผู้หญิงกลับมีข้อมูลและกำลังน้อยกว่าผู้ชาย เช่นเดียวกันกับภาคแรงงาน ที่ผู้หญิงมักถูกกีดกันจากการได้ตำแหน่งงานในภาคเทคโนโลยีพลังงานเนื่องจากค่านิยมและวัฒนธรรมการรับรู้ที่มีต่อเพศหญิง โอกาสที่จะได้รับการฝึกฝนเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานหรือกระทั่งเวทีสนทนาเกี่ยวกับนโยบายพลังงานสะอาดที่แสนไฮเทคนั้นได้กีดกันพื้นที่ให้สตรี ซึ่งสามารถเปลี่ยนให้ผู้หญิงกลายเป็นกลุ่มคนเปราะบางในกระบวนการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานนี้ยิ่งกว่าเดิม

ชีวิตในน้ำ ชีวิตที่พึ่งพาน้ำ |

การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานสู่พลังงานสะอาดมีส่วนทำให้ความต้องการทรัพยากรน้ำเพิ่มขึ้นสูงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน และในขณะเดียวกันก็สร้างมลภาวะทางน้ำและเปลี่ยนแปลงนิเวศแหล่งน้ำมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะแหล่งพลังงานชีวภาพและเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำนั้นต้องมีแผนการจัดการที่รอบคอบเกี่ยวกับการใช้น้ำเพราะอาจกระทบกับภาคชลประทานทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ในภูมิภาคได้

กลุ่มผู้ผลิตอาหารรายย่อย |

การขยายพื้นที่ผลิตแหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานชีวภาพ ที่เริ่มขยับขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยหรือปาล์มน้ำมันให้กว้างออกไปสามารถเกิดเป็นการเข้าไปแก่งแย่งพื้นที่เกษตรกรรมและสร้างความขัดแย้งกับกิจกรรมการผลิตอาหารได้ และการหดตัวของแหล่งพลังงานฟอสซิลเองก็สามารถส่งผลต่อราคาอาหาร รวมถึงความมั่นคงทางอาหารได้เช่นกัน เพราะ ณ ปัจจุบัน อุตสาหกรรมอาหารโลกพึ่งพาพลังงานฟอสซิลเป็นอย่างมาก


แม้การระงับใช้พลังงานฟอสซิลและทดแทนด้วยพลังงานสะอาดจะมีบทบาทต่อการต่อกรกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดและสมควรลงมือทำอย่างเร่งด่วน แต่หากการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานนี้มิได้คำนึงถึงคนทุกคน มิได้มีการวางแผนการจัดการที่พยายามลดผลกระทบต่อคนตัวเล็กตัวน้อย คงยากที่จะเรียกว่าเป็นการสร้างความยั่งยืนกับสังคมได้ คงไม่มีผู้ใดตอบได้ว่ากลุ่มเปราะบางที่จะต้องรับบทผู้เสียสละอย่างไม่เต็มใจนี้จะต้องจำทนไปอีกสักกี่ครั้งกี่หนและจะจบเมื่อไร หากไม่มีแนวคิด การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม หรือ Just Transition ดังจะแนะนำอย่างละเอียดในครั้งต่อไป


SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นแรกในชุดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) สนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย เป็นชุดความรู้ที่มิเพียงแค่นำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนการใช้พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาดในมิติเชิงการลดผลกระทบต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่เน้นไปที่มิติความยั่งยืนอันรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศสังคม (socio-ecological transition) ที่คำนึงถึงการได้รับความเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และกระทั่งสิทธิของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่นที่จะได้รับผลกระทบทั้งระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงด้วย นอกจากนี้ จะมีการยกบทสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นบริบทปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีลักษณะปัญหาแตกต่างกันอยู่มาก และระหว่างกรณีในประเทศและกรณีระดับภูมิภาคที่มีระดับความซับซ้อนขึ้นไป ตลอดจนบทสัมภาษณ์จากหลากมุมมองผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564 

ประเด็นการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม
เกี่ยวข้องในทางบวกกับ
#SDG7 การเข้าถึงพลังงานสะอาดในราคาที่จ่ายได้ ในประเด็น การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน (Renewable Energy) (7.2) และ #SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (13.2)

และอาจส่งผลกระทบทางลบต่อความพยายามในการบรรลุ
#SDG8 งานที่ดีและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในประเด็น การบรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมและมีผลตอบแทนที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน (8.5) ซึ่งจะส่งผลถึง #SDG1 ยุติความยากจน ในภาพรวม
อีกทั้งการขยายตัวของพื้นที่ตั้งของการผลิตพลังงานสะอาดอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อการใช้ที่ดินทำการเกษตร #SDG2 ขจัดความหิวโหย ในประเด็นการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรของผู้ผลิตอาหารรายเล็ก โดยเฉพาะผู้หญิง คน พื้นเมือง เกษตรกรแบบครอบครัว (2.3) และแนวโน้มการเกิดมลภาวะทางน้ำ (6.3) และความตึงเครียดด้านทรัพยากรน้ำ (6.4) ใน #SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
รวมถึงยังเป็นประเด็นใน #SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ เพราะผู้หญิงจะเข้ามามีบทบาทและเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากกว่าอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

[1] Godwin, M. (2020). “WA ranchers are losing land to solar farms and wine — but help is on the way” http://crosscut.com/2020/03/wa-ranchers-are-losing-land-solar-farms-and-wine-help-way [accessed on 25 September 2021].   

[2] Energywire (2020). “Thousands of coal workers lost jobs. Where will they go?” https://energynews.us/2020/06/25/thousands-of-coal-workers-lost-jobs-where-will-they-go/ [accessed on 25 September 2021].   

[3] ประชาไท (2559). “25 ปีเขื่อนปากมูล: อาชญากรรมในเงาการพัฒนา” https://prachatai.com/journal/2016/03/64461

[4] สดใส สร่างโศก, ศุภาวดีบุญเจือ, รุ่งทิวา วอทอง, และวิทยา ทองน้อย. (2546). “โครงการการพัฒนาแนวทางและวิธีการประเมินผลทางสุขภาพจากโครงการการลงทุนและพัฒนาขนาดใหญ่ และนโยบายภาคประชาชน: กรณีศึกษาการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล.” เข้าถึงได้ที่ http://hdl.handle.net/11228/2063 [accessed on 25 September 2021].   

[5] Ritchie, H. (2020). Sector by sector: where do global greenhouse gas emissions come from? URL: http://ourworldindata.org/ghg-emissions-by-sector [accessed on 25 September 2021].   

[6] World Economic Forum (2021). “Fostering Effective Energy Transition 2021 edition – Insight report April 2021.” http://www3.weforum.org/docs/WEF_Fostering_Effective_Energy_Transition_2021.pdf [accessed on 25 September 2021].   

[7] Axon, S and Marrissey, J. (2020) Just energy transitions? Social inequities, vulnerabilities and unintended consequences. Buildings and Cities, 1(1), 393–411. DOI: http://doi.org/10.5334/bc.14 [accessed on 25 September 2021].   

[8] Unitend Nations (2021). Enabling SDGs through inclusive, just energy transitions: towards the achievement of SDG 7 and Net-zero emission http://www.un.org/sites/un2.un.org/files/2021-twg_3-exesummarie-062321.pdf [accessed on 25 September 2021].   

[9] IEA (2021). Net Zero by 2050 A Roadmap for the Global Energy Sector. http://www.iea.org/reports/ net-zero-by-2050 [accessed on 25 September 2021].   

Last Updated on มีนาคม 10, 2022

Author

  • Yanin Chivakidakarn Huyakorn

    Deputy Director of Knowledge Communications | คุณแม่นอนน้อย ผู้ชอบนั่งฝันกลางวันว่า วันหนึ่งจะตื่นมาในแดนอิเซไค มีชีวิตใหม่เป็นน้องสาวของจอมคนแดนฝัน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น