แรงงาน “gig workers” ฝากเอเชีย เดินหน้าเรียกร้องให้รัฐคุ้มครองสิทธิแรงงานตามกฎหมายเฉกเช่นแรงงานในระบบ

แพลตฟอร์มสำหรับแรงงานดิจิทัล “gig workers” ในเศรษฐกิจแบบ gig economy เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมานี้ และกลายเป็นแนวหน้าสำคัญช่วยพยุงแรงงานที่ขาดงานไปในช่วงโรคระบาด ในแง่หนึ่งยังเป็นรูปแบบงานที่มีความยืดหยุ่นสูง ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าแรงงานกลุ่มนี้ต้องถูกปฏิบัติแตกต่างไปจากแรงงาน/พนักงานในระบบทั่วไป (employees) หรือถูกเอาเปรียบผลประโยชน์และค่าจ้าง

จากความสำเร็จของการต่อสู้โดยกลุ่มแรงงาน gig workers ในประเทศพัฒนาแล้ว มาในวันนี้ แรงงานในประเทศฝากเอเชียอย่างจีน อินเดีย และสิงคโปร์ ยังคงเดินหน้าเรียกร้องและผลักดันให้รัฐบาลมีกฎระเบียบที่ควบคุม/กำกับแพลตฟอร์มดิจิทัล ส่งเสริมสิทธิแรงงานตามกฎหมาย และให้ความคุ้มครองแรงงานกลุ่มนี้ในทางปฏิบัติจริง


ข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ชี้ว่าแพลตฟอร์มเชื่อมงานและแรงงานออนไลน์สร้าง “gig workers” ตั้งแต่บริการขนส่งอาหารไปจนถึงการออกแบบเว็บไซต์ มีเพิ่มมากขึ้นเกือบถึง 800 แพลตฟอร์มจากเดิม 140 แพลตฟอร์มเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา และเกิดขึ้นทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ดี จากการที่สถานการณ์ของโรคระบาดบังคับให้คนผันตัวมารับงานผ่านแพลตฟอร์มกันมากขึ้น เนื่องจากการไม่มีงานทำหรือบางส่วนเลือกงานเพราะความยืดหยุ่นก็ตาม ถึงกระนั้น หลายประเทศมองว่าแรงงานส่วนนี้มักถูกเอาเปรียบผลประโยชน์

โดยเมื่อดูที่รายได้แล้ว แรงงานออนไลน์ครึ่งหนึ่งของแรงงานออนไลน์ทั้งหมดได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง ข้อมูลจากสหประชาชาติยังมีที่ชี้ว่า ประเทศกำลังพัฒนาได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานในประเทศพัฒนาแล้วถึง 60% ด้วย

บทความซึ่งเผยแพร่โดย Thomson Reuters Foundation ระบุว่า สาเหตุของปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการที่กฎระเบียบและข้อกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ไม่ได้จัดแรงงานกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของพนักงาน (employees) หรือแรงงานในระบบตามปกติ ทำให้ในบางประเทศขาดความเกี่ยวข้องหรือความสัมพันธ์กับสหภาพแรงงาน เป็นต้น แรงงาน gig workers ในหลายประเทศจึงออกมาประท้วงรวมถึงฝากเอเชียล่าสุด โดยเพิ่มแรงกดดันเรียกร้องให้ธุรกิจแอปพลิเคชันซึ่งเป็นตัวกลาง ปรับปรุงและพัฒนาเงื่อนไขของการทำงานในช่วงการระบาดของโควิด-19 ให้ดีขึ้น นอกเหนือไปจากข้อเรียกร้องต่อธุรกิจแล้ว ยังเรียกร้องถึงรัฐบาลและศาลให้ตระหนักและพัฒนากฎหมายและมาตรการที่ตอบสนองต่อความต้องการ – ข้อเรียกร้องของแรงงานกลุ่มนี้ด้วย

โดยวิธีการหนึ่งที่นานาประเทศมุ่งหน้าเรียกร้องคือ การออกกฎระเบียบที่ให้ความคุ้มครองถูกต้องตามกฎหมายและรัดกุม โดยนิยามให้แรงงานกลุ่มนี้ได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นกับพนักงาน/แรงงานในระบบทั่วไป นิยามให้ความหมายความเป็นหุ้นส่วน และกำหนดผลประโยชน์ใดที่แรงงานกลุ่มนี้สมควรได้รับ

อย่างไรก็ดี สำหรับบางประเทศอาจมีความพยายามแต่ยังต้องอาศัยแรงผลักดันต่อ เช่นในอินเดียที่มีแรงงานกว่า 5 ล้านคนอยู่ในเศรษฐกิจแบบ gig economy เมื่อปีก่อน ประเทศจึงออกกฎหมายการประกันสังคม ทว่าจนถึงปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้บังคับใช้ แรงงานในภาคส่วนนี้และสหภาพแรงงานจึงเดินหน้าเรียกร้องต่อไปเพื่อให้มีกฎหมายให้ความคุ้มครองบังคับใช้จริงในประเทศ

ขณะที่ในบางประเทศ ข้อเรียกร้องให้คุ้มครองสิทธิแรงงานตามกฎหมายได้ลุล่วงไปได้ด้วยดี อาทิ ลอนดอน และลอสแองเจลิส ถือเป็นแรงบันดาลใจให้ประเทศอื่นดำเนินรอยตาม ตัวอย่างความพยายามอื่น มีอาทิ การที่จีนออกคำสั่งให้ธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์สร้างหลักประกันว่าพนักงานขนส่งสินค้า (delivery riders) จะได้รับค่าจ้างมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และสามารถเข้าถึงการประกันได้ และการที่รัฐบาลสิงคโปร์พิจารณาเพิ่มการให้ความคุ้มครอง บวกกับการปฏิบัติให้เหมือนเช่นเดียวกับการปฏิบัติต่อพนักงานตามปกติ มิเช่นนั้นแล้ว การไม่ได้รับการคุ้มครองหรือรับการคุ้มครองไม่เพียงพอจะลดทอนศักยภาพและตัดโอกาสการเข้าถึงที่อยู่อาศัย เข้ารับบริการสุขภาพ และเตรียมตัวสู่ช่วงเกษียณอายุ สามประการที่หยิบยกมานี้เป็นโจทย์สำคัญที่สิงคโปร์พยายามจะปรับปรุงให้แรงงาน gig workers มีสิทธิเช่นเดียวกันกับแรงงานกลุ่มอื่นทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เพราะพนักงานขนส่งสินค้าและแรงงาน gig workers มีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย แม้ว่าลักษณะงานจะมีความยืดหยุ่นในเรื่องชั่วโมงการทำงานหรือเป็นการกดรับงานโดยอิสระก็ตาม

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่:
ILO เผยแพร่ ‘World Employment and Social Outlook 2021’ : งานที่ดีสำหรับแรงงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม และ ‘Gig Workers’

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
-(1.3) ดำเนินการให้เป็นผลตามระบบและมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมของแต่ละประเทศ และให้ครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบางภายในปี 2573
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
-(8.5) ส่งเสริมการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
-(8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานหญิง และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย

แหล่งที่มา:
Asia’s gig workers strive to match global gains on labour rights (Thomson Reuters Foundation)

Last Updated on ตุลาคม 7, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น