SDG Recommends | 5 บทเรียนให้ผู้จ้างงานออกแบบที่ทำงานเพื่อสุขภาวะที่ดีของทุกคน (และลาออกน้อยลง)

พบกับคอลัมน์ SDG Recommends เช่นเดิม เพิ่มเติมคือปรับลุคใหม่ ชวนติดตามประเด็นใน SDGs กับการ ‘อ่าน – ดู – ฟัง’ หาความยั่งยืนในทุกแง่มุม

อ่าน – ความยั่งยืนใน Toolkits วันนี้ ชวนคนทำงานอ่านคู่มือ “Employer Toolkit: Work Design for Health” ออกแบบโดยทีมวิจัยมหาวิทยาลัย MIT และ Harvard มาแนะนำให้ผู้จ้างงานสามารถพัฒนาสถานที่ทำงานให้เป็นที่ที่ส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของผู้ทำงาน เพราะบางครั้งสุขภาวะที่ไม่ดีอาจเริ่มจากเงื่อนไขของสถานที่ทำงานตั้งแต่แรก โดยที่เพียงการแก้ปัญหา – ปรับตัวของผู้ทำงานอาจไม่เพียงพอ

คู่มือที่ว่านี้ แนะนำ 5 ข้อ/บทเรียนและขั้นตอนให้เริ่มลองลงมือทำตาม ที่จะนำไปสู่การส่งเสริมให้ผู้ทำงานสามารถควบคุมและเป็นเจ้าของงานของตัวเอง มีความกระตือรือร้นทำงานมากขึ้น งานที่ล้นเกินมีลดน้อยลง พัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมในที่ทำงานได้ดีขึ้น ไปจนถึงว่า “Healthy Employees” ผู้ทำงานที่มีสุขภาพดี จะมีอัตราการขาดงาน – การลาออกต่ำ และมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ลดลงด้วย

คู่มือดังกล่าว จึงเปรียบเสมือนกับการสร้าง “วัฒนธรรม” ในที่ทำงานที่สนับสนุนสุขภาพและสุขภาวะที่ดี โดยบทเรียนข้อแรกเป็นการกล่าวถึงภาพรวมของแนวคิดที่ว่านี้ก่อน จากนั้นอีก 3 บทเรียนต่อมาจะพูดถึงหลักการที่เป็นหัวใจของการออกแบบที่ทำงาน และบทเรียนสุดท้ายได้แก่ การลงมือทำที่เสนอขั้นตอนและทรัพยากรสำหรับการเริ่มลงมือทำ ในรายละเอียดมีดังนี้

  1. ภาพรวม – นำเสนอแนวทางที่จะทำให้ผู้ทำงานมีสุขภาวะดีขึ้นโดยเริ่มต้นจากที่ทำงาน อาทิ การระบุชี้ว่าสุขภาพที่ย่ำแย่ของผู้ทำงานมีสาเหตุมาจากอะไร
  2. หลักการการออกแบบที่ทำงานข้อที่ 1 – เน้นการทำให้ผู้ที่ทำงานสามารถควบคุมและเป็นเจ้าของงานของตนได้ เพราะการกำหนดทิศทางงานได้ รู้ว่ามีงานอะไรต้องทำบ้าง มีกำหนดส่งงานเมื่อไร และกระบวนการทำงานเป็นอย่างไร ถึงขั้นตอนไหน จะช่วยให้ผู้ทำงานมีความกระตือรือร้นมากขึ้นและเครียดน้อยลง อ้างอิงจากข้อมูลที่ว่า ความเครียดที่มีสาเหตุจากการที่ผู้ทำงานควบคุมงานชิ้นหนึ่งได้น้อย มีความสัมพันธ์กับการขาดงาน เป็นต้น
  3. หลักการการออกแบบที่ทำงานข้อที่ 2 – เน้นการพูดถึงงานที่ล้นเกิน ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น วันกำหนดส่งงาน การต้องตัดสินใจในประเทศที่ซับซ้อน และการใช้แรงกายทำงานเป็นระยะเวลางาน เป็นต้น โดยที่หากขาดสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่เอื้ออำนวยหรือสนับสนุน เงื่อนไขเหล่านี้จะทำให้เกิดภาวะ Burnout และเจ็บป่วย จนอาจถึงขั้นพัฒนาไปเป็นโรคที่ร้ายแรง/เรื้อรัง
  4. หลักการการออกแบบที่ทำงานข้อที่ 3 – เน้นการพูดถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมในที่ทำงาน เพราะความสัมพันธ์ในที่ทำงานที่ดีเป็นการสนับสนุนทางจิตใจและเป็นเกราะปกป้องเรื่องเครียดทั้งหลายในที่ทำงาน ภาวะเช่นนี้จะทำให้ผู้ทำงานมีความสุข สุขภาพจิตดี และมีความกระตือรือร้น
  5. วางแผนและลงมือทำ – โดยสามารถเริ่มได้จากการพูดให้ชัดเจนและแสดงออกอย่างจริงจังว่าองค์กรต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง โดยส่งเสริมให้ผู้ทำงานเข้ามามีส่วนร่วม เริ่มสร้างแผนการขึ้นมา และรับฟังความคิดเห็นในกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นต้น

เข้าถึงคู่มือได้ ที่นี่

แหล่งอ้างอิง
Building a healthy workplace: 5 steps to worker well-being (World Economic Forum)
Employer Toolkit: Work Design for Health (Harvard University)

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น