SDG Recommends | ‘Equiterra’ ภาพแผนที่ประเทศในฝันที่ความเท่าเทียมทางเพศ เกิดขึ้นจริง

พบกับคอลัมน์ SDG Recommends เช่นเดิม เพิ่มเติมคือปรับลุคใหม่ ชวนติดตามประเด็นใน SDGs กับการ ‘อ่าน – ดู – ฟัง’ หาความยั่งยืนในทุกแง่มุม

ข่าวด่วน : เราพบประเทศที่มีความเท่าเทียมกันทางเพศแล้ว !

ดู – ความยั่งยืนในภาพประกอบ วันนี้ขอเสนอภาพแผนที่เมืองหลวงของประเทศ ‘Equiterra’ ประเทศที่ความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นแล้วจริง ซึ่งเป็นประเทศในอุดมคติ (เพราะในโลกแห่งความจริง ยังไม่มีประเทศใดบรรลุประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ) ที่องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Women จินตนาการขึ้นเพื่อให้ทุกคนเห็นว่าเมืองที่ทุกคนมีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใด มีหน้าตาเป็นเช่นไร

Equiterra หมายถึง Equal Earth หรือ โลกที่เท่าเทียมกัน โดยองค์ประกอบของ Equiterra จะปรากฏผ่านชื่อถนนและสถานที่บนแผนที่เมือง ซึ่งจะสื่อถึงประเด็น ความยุติธรรมด้านสภาพภูมิาอากาศ ความเท่าทียมทางการศึกษา เสรีภาพในการสืบพันธุ์ และประเด็นอื่น ๆ ที่จะเป็นองค์ประกอบของโลกในอุดมคติที่ “ทุกเพศเท่าเทียมกัน”

Credit: UN Women/Ruby Taylor

ถนนและสถานที่บนแผนที่ทั้ง 9 แห่ง ได้แก่

1 | Unstereotype Avenue – ถนนที่เด็กผู้หญิงสามารถฝันว่าเธอจะโตไปเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น นักวิทยาศาสตร์ นักกีฬาโอลิมปิก หรือนักบินอวกาศ ไม่ใช่แค่เด็กผู้ชายเท่านั้นที่เป็นได้ เพราะไม่มีภาพเหมารวมทางเพศอีกต่อไป

2 | Violence-Free Alley – ถนนที่ผู้หญิงไม่ต้องพกสเปรย์พริกไทย เพราะไม่มีอะไรต้องกลัว ไม่มีความรุนแรง เป็นพื้นที่ผู้หญิงเดินสวยกันและชิทแชทถึงประสบการณ์ที่ช่วยเสริมอำนาจผู้หญิง ไม่ใช่เรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

3 | Equal Pay Street – ถนนที่หญิงและชายได้ค่าจ้างเท่าเทียมกัน ไม่มีอีกแล้วช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศ ไม่มีอีกแล้วการแบ่งแยก “งานของผู้หญิง-งานของผู้ชาย”

4 | Toxic Masculinity Recycling Plant – สถานที่รีไซเคิลเปลี่ยนแนวคิดความเป็นชายที่เป็นพิษให้กลายเป็นทัศนคติที่จะสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ พื้นที่ตรงนี้ผู้ชายช่วยภรรยาและแม่ของเขาทำงานบ้านไม่ใช่เรื่องแปลก และสามารถร้องไห้ได้เมื่อรู้สึกเศร้า

5 | Inclusion Square – จตุรัสที่ทุกคนได้รับการต้อนรับ ไม่ว่าจะเป็นเพศใด มีสภาพร่างกายเช่นไร มีฐานะต่างกันแค่ไหน ก็สามารถใช้เวลาร่วมกันได้อย่างมีความสุขโดยไม่ถูกตัดสิน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

6 | Climate Action Street – ถนนที่ทุกคนร่วมกันรักษาและปกป้องธรรมชาติ เปลี่ยนมาใช้จักรยาน ลดการใช้พลาสติก เพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

7 | Equal Representation Avenue – ถนนที่ไม่มีใครพูดถึงโควต้าตัวแทนผู้หญิงอีกต่อไป เพราะทั้งในงานการเมือง บอร์ดบริหารบริษัท มีตัวแทนผู้หญิงในกระบวนการตัดสินใจเท่ากัน

8 | Education Boulevard – ถนนที่เด็กๆ ทุกคน โดยเฉพาะเด็กหญิงจากชนบท จะสามารถเข้าถึงการศึกษาได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ

9 | Freedom Avenue – ถนนที่ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก มีเสรีภาพในการเคลื่อนไหว เสรีภาพในร่างกายตัวเอง ผู้หญิงมีสิทธิและเสรีภาพในการเลือกว่าจะมีลูกกี่คนและมีลูกเมื่อไร

ดูภาพประกอบแผนที่ 'Equiterra' ที่นำเสนอภาพเมืองในฝันของความเท่าเทียมทางเพศโดยละเอียดที่ Medium.com/@UN_Women 

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่
SDG Updates | อีก 135 ปี โลกถึงจะมี ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ – สรุปรายงาน GLOBAL GENDER GAP REPORT 2021

Last Updated on พฤศจิกายน 18, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น