หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหยุดชะงักเพราะโควิด-19 ทำให้หลายคนยากจนขั้นรุนแรงเพราะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ข้อมูลล่าสุดรวบรวมโดยองค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้ความคืบหน้ากว่า 2 ทศวรรษด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั่วโลกต้องหยุดชะงักลง ขณะเดียวกัน การที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำให้ครัวเรือนจำนวนมากซึ่งมีรายได้ลดน้อยลงเพราะสภาพเศรษฐกิจในช่วงโรคระบาด กลับต้องจ่ายค่าบริการสุขภาพด้วยตัวเองนั้น ส่งผลให้มีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งจากหลักพันล้านคนตกอยู่ในความยากจนขั้นรุนแรง

หากย้อนดูความคืบหน้าของการให้บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะพบว่า รัฐบาลหลายประเทศมีความคืบหน้าในช่วง 2 ทศวรรษแรกที่ผ่านมา เช่นในปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 นั้น การให้บริการหลักประกันสุขภาพโดยเฉพาะบริการที่จำเป็น อาทิ บริการสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ การรักษาโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย และการรักษาโรคไม่ติดต่อ ทั้งหมดนี้ครอบคลุมจำนวนประชากรโลกที่ 68% แม้ ณ ขณะนั้นก็ยังเผชิญกับความท้าทายด้านหลักประกัน ‘ราคาที่สามารถซื้อหาได้’ (affordability) ทำให้ประชากรกลุ่มที่ยากจนมากที่สุด หรือยากจนขั้นรุนแรง (extreme poverty) หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทเป็นกลุ่มประชากรที่มักจะไม่สามารถเข้าถึงยาและวัคซีนที่จำเป็น Juan Pablo Uribe ผู้อำนวยการระดับโลกด้านสุขภาพ โภชนาการ และประชากร ประจำธนาคารโลกระบุว่า “มีประชากรเกือบ 1 พันล้านคนที่ใช้จ่ายเงินมากกว่า 10% ของรายได้ครัวเรือนไปกับการเข้ารับบริการสุขภาพ”

เมื่อเกิดการระบาดของโรคขึ้น จะเห็นได้ว่ารัฐบาลนานาประเทศเน้นการระดมทรัพยากรทางงบประมาณและบุคลากรไปกับการให้บริการเพื่อตอบสนองต่อโรคระบาดเป็นความสำคัญอันดับต้น ส่วนความคืบหน้าของสถานการณ์ให้บริการสุขภาพด้านอื่น ๆ กลับตกต่ำลง อาทิ หลักประกันให้บริการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคภัยอื่นตกต่ำลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี ส่วนการเสียชีวิตจากวัณโรคและมาลาเรียก็มีเพิ่มสูงขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจ ทำให้ครัวเรือนจำนวนมากประสบปัญหาทางการเงินจนไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ หรือต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากจากรายได้ที่น้อยลงไปกับการรับบริการสุขภาพ ในยามที่ระบบสุขภาพเองไม่สามารถคงไว้ซึ่งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นสถานการณ์ที่กดดันและผลักดันให้หลายครัวเรือนสุ่มเสี่ยงต่อการตกอยู่ในความยากจนหรือความยากจนขั้นรุนแรง

เมื่อมองสถานการณ์นี้ร่วมกับการฟื้นฟูกลับจากโรคระบาด องค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกระบุว่า รัฐบาลจะต้องประเมินผลการดำเนินงานของระบบสุขภาพของประเทศ และจัดอันดับความสำคัญของบริการสุขภาพที่จำเป็นโดยให้ความสำคัญต่อกลุ่มประชากรที่ยากจนและเปราะบางด้วย เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณทางสาธารณสุขตามนโยบายที่จะปกป้องประชาชนจากความยากลำบากทางการเงิน ให้บริการสุขภาพที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรมากขึ้น และเพื่อให้ทุกคนสุขภาพดี ปลอดภัย และมีความมั่นคงทางการเงิน ตาม “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
-(1.1) ขจัดความยากจนทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบัน วัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพรายวันต่ำกว่า 1.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน* ภายในปี 2573
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.8) ส่งเสริมการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ เข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิผล มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้

แหล่งที่มา:
More than half a billion people pushed or pushed further into extreme poverty due to health care costs (WHO)

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น